วันที่ 22 ก.พ. 2566 เวลา 13.30 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จะเป็นประธานพิธีเทคอนกรีตสะพานขึงคู่ขนานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงสุดท้าย ในโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร (กม.) ของ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วงเงินลงทุนโครงการประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อให้สะพานทั้งสองฝั่งเชื่อมต่อกันได้

สะพานขึงคู่ขนานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ในงานก่อสร้างสัญญาที่ 4 โครงการทางพิเศษสายพระราม 3ฯ มีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง ขนาด 8 ช่องจราจร ถือเป็นสะพานที่กว้างที่สุดในประเทศไทย มีความยาวช่วงกลางสะพาน 450 เมตร ความยาวของสะพาน 780 เมตร ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 41 เมตร (สูงเท่ากับสะพานตัวเดิม) ระยะทางรวม 2 กม.

ขณะนี้การก่อสร้างได้ผลงานกว่า 97.17% เร็วกว่าแผน 22.88% การเทคอนกรีตช่องสุดท้าย เพื่อเชื่อมสะพานทั้งฝั่งพระราม 3 และฝั่งราษฎร์บูรณะ ให้บรรจบกันตรงกลางแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่าสะพานจะแล้วเสร็จ 100% กลางปี 2566 และเปิดบริการเดือนมี.ค.2567 เนื่องจากต้องรอทางขึ้นลงสะพาน ซึ่งกิจการร่วมค้า ไอทีดี-วีซีบี ผู้รับจ้างสัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางยกระดับจาก รพ.บางปะกอก 9-ด่านดาวคะนองอยู่ระหว่างเร่งก่อสร้างทางขึ้น-ลงบริเวณถนนสุขสวัสดิ์ ให้แล้วเสร็จก่อน เพื่อเปิดใช้สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ให้รถยนต์ขึ้นลงถนนสุขสวัสดิ์ได้เลย เพื่อช่วยแบ่งเบาปริมาณการจราจรสะพานพระราม 9 ระหว่างที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จทั้งโครงการ

ภาพรวมงานโยธาทั้ง 4 สัญญาของโครงการทางด่วนสายพระราม 3ฯ คืบหน้าโดยรวมกว่า 45% เร็วกว่าแผนงาน 6% โดยอีก 3 สัญญาประกอบด้วย

สัญญาที่ 1 งานสร้างทางยกระดับจากแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2 มีกิจการร่วมค้า ยูเอ็น-ซีซี เป็นผู้รับจ้าง ขนาด 6 ช่องจราจร เริ่มต้น กม.13+000 ถึง กม.6+600 ถนนพระราม 2 ระยะทาง 6.4 กม. คืบหน้ากว่า 16.97% เร็วกว่าแผน 2.07%,

สัญญาที่ 2 งานสร้างทางยกระดับจากเซ็นทรัลพระราม 2-รพ.บางปะกอก 9 มีกิจการร่วมค้า ซีทีบี เป็นผู้รับจ้าง ขนาด 6 ช่องจราจร จุดเริ่มต้นกม.6+600 ถึงบริเวณทางแยกต่างระดับดาวคะนองระยะทาง 5.3 กม. คืบหน้ากว่า 61.33% เร็วกว่าแผน 0.80%

สัญญาที่ 3 งานสร้างทางยกระดับจาก รพ.บางปะกอก 9-ด่านดาวคะนอง ขนาด 6 ช่องจราจรคร่อมตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ด่วนขั้นที่ 1 ) ช่วงดาวคะนอง-สุขสวัสดิ์-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 5 กม. คืบหน้ากว่า 14.69% ช้ากว่าแผน 0.21%

ส่วนสัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร วงเงินประมาณ 800 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับแบบระบบเก็บค่าผ่านทางจากเดิมออกแบบไว้เป็นระบบเงินสดและระบบอัตโนมัติ (ETC) ให้เป็นระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-FLOW) 100% ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม คาดว่าจะเปิดประกวดราคาเร็ว ๆ นี้ ใช้เวลาประมาณ 2 ปี พร้อมเปิดให้บริการตลอดสายทั้งโครงการประมาณปลายปี 2567

กทพ.ได้ขอพระราชทานชื่อสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เพื่อเทิดพระเกียรติพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ กทพ. ตลอดจนเป็นความภูมิใจของประชาชน เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯ ช่วยระบายการจราจรที่ติดขัดสะสม ลดปริมาณรถจากสะพานพระราม 9 เพื่อเดินทางไปยังอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างสะดวกมากขึ้น

สะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 มีจุดเริ่มต้นบริเวณเชิงลาดสะพานพระราม 9 (ฝั่งธนุบรี) ก่อสร้างเป็นสะพาน ขึง (Cable Stayed Bridge) ข้ามไปฝั่งกรุงเทพฯ และเชื่อมต่อกับทางยกระดับขนาด 6 ช่องบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ ต่อกับทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนศรีรัช (ด่วน 2) ระยะทางรวมประมาณ 2 กม.

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. ให้ความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยด้วยว่า กทพ.ได้จัดทำแบบจำลองสะพาน Full Model สำหรับทดสอบความแข็งแรงของสะพานต่อแรงลม สามารถรับแรงลมได้ถึง 270 กม.ต่อ ชม. หรือเทียบเท่าความแรงของพายุทอร์นาโด สะพานจึงมีความมั่นคงแข็งแรงเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงได้ออกแบบสะพานให้มีความลาดชันน้อยกว่าสะพานพระราม 9 ที่เริ่มยกระดับจากพื้นดินขึ้นไป หากแต่สะพานใหม่จะเริ่มยกระดับจากระดับชั้นที่ 2 ซึ่งสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 10 เมตร ทำให้วิ่งขึ้นและลงสะพานได้สะดวกมากขึ้น ไม่ชะลอตัวสะสมช่วงขึ้นสะพาน

โครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ ยังเชื่อมกับมอเตอร์เวย์ M82 บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ที่เป็นทางยกระดับบนถนนพระราม 2 ของกรมทางหลวง (ทล.) ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างจะแล้วเสร็จตลอดสายใกล้เคียงกันประมาณปี 68 ยิ่งเพิ่มความสะดวกการเดินทางสู่ภาคใต้

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…