ปัญหาใหญ่ของประชาชนคนไทยตาดำ ๆ ในปี 66 ยังคงหนีไม่พ้นเรื่อง “ปัญหาปากท้อง” ที่เวลานี้สารพัดสินค้าอุปโภค บริโภค กำลังดาหน้าปรับราคาขึ้นเป็นแถว แม้เป็นเพียงสินค้าทางเลือก แต่!! ในมุมของบางคน ก็กลายเป็นสินค้าจำเป็น โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่ต้องใช้แรงงาน

หรือ…แม้แต่ค่าสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่าง “ค่าไฟ” ก็แพงขึ้นทุกวัน…ทุกวัน… ต่อให้รัฐบาลยอมยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือบรรดาผู้ที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย โดยลดค่าไฟให้หน่วยละ 67.04-92.04 สตางค์ ในงวด ม.ค.-เม.ย.นี้

แต่!! ในแง่ของภาคเอกชนที่เรียกร้องมาโดยตลอดว่าค่าไฟเมืองไทยนั้นแพงแสนแพง สุดท้ายถ้ายังไม่ทำอะไรให้ดีขึ้น ไม่ปรับโครงสร้างค่าไฟให้สอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็น

สุดท้าย… ก็หนีไม่พ้นที่ “คนไทย” ต้องแบกรับภาระกันต่อไป เพราะไม่เพียงแค่เรื่องของค่าไฟ เท่านั้น แต่ยังสะท้อนมาถึงราคาสินค้า เพราะ “ค่าไฟ” ก็เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตเช่นกัน

เหนือสิ่งอื่นใด!! ปัญหานี้…จะกลายเป็นบูมเบอแรงที่สะท้อนกลับไปยัง “ภาวะเศรษฐกิจ” ของประเทศ ที่ ณ เวลานี้ ก็มีสารพัดปัจจัยเข้ามาโถมทับ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอย

จน “สภาพัฒน์” หน่วยงานเศรษฐกิจหลักของประเทศ ยังต้องออกมายอมแพ้ยกธงขาว ขอปรับเป้าจีดีพีของประเทศลดเหลือ 3.2% จากเดิมที่ประมาณไว้ที่ 3.5%

แม้เวลานี้ จะมีคำหวานหยอดเข้ามาว่าแนวโน้มค่าไฟในงวดถัดไป หรือตั้งแต่ พ.ค.-ส.ค.นี้ อาจมีราคาที่ต่ำกว่า 5 บาท จากปัจจุบันที่ค่าไฟบ้านเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.72 บาท ส่วนค่าไฟเอกชนอยู่ที่หน่วยละ 5.33 บาท

หากดูราคาค่าไฟเมืองไทย เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนแล้ว ต้องยอมรับว่าไทยนั้น… แพงกระฉูด เพราะค่าไฟในอาเซียน เฉลี่ยแล้วอยู่ที่หน่วยละ 2-3 บาท

แม้ในบางประเทศอย่างสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ หรือกัมพูชา ที่ทะลุหน่วยละ 5 บาทกว่า เหมือนไทยไป แต่อย่าลืมว่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่กำลังเนื้อหอม และเป็นทางเลือกสำคัญของทุนต่างประเทศ ต่างมีค่าไฟที่ถูกกว่าไทย

ปัจจัยนี้ถือเป็นปัจจัย ที่ทุนต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งทุนไทยเอง ให้ความสำคัญ ถ้าต้นทุนค่าไฟฟ้าแพง ก็อาจหันหนีไปลงทุนเพื่อนบ้านแทนประเทศไทย

Free photo closeup shot of an entrepreneur working from home on his personal finances and savings

เหตุผล!! ที่ค่าไฟแพง มาจากราคาพลังงานในตลาดโลกแพงขึ้นมาก โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติ เป็นเหตุผลที่ไม่ว่าใคร? ก็รับได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริง

แต่ที่รับกันไม่ได้… คือ เรื่องของ “การบริหาร” โดยเฉพาะการเปิดทางให้ “เอกชน” เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตไฟฟ้า แม้เป้าหมายจะช่วยลดการลงทุนของภาครัฐ สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่าเป็น อีกหนึ่งเหตุผลของค่าไฟแพงด้วยเช่นกัน!!

ขณะเดียวกันเรื่องของ การสำรองกำลังผลิตไฟฟ้า ที่ปกติแล้วจะสำรองกันอยู่ที่ 15% แต่ปัจจุบันกลับทะยานไปกว่า 50% จากกำลังการผลิตรวมทั้งระบบ 48,571.51 เมกะวัตต์ (ข้อมูล ณ เดือน ก.ย. 2565)  ขณะที่ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดในเดือน เม.ย. 65 อยู่ที่ 32,254.50 เมกะวัตต์

Free photo sun setting behind the silhouette of electricity pylons

ต่อให้มีสารพัดเหตุผลมาอธิบายว่า ไฟฟ้าของไทยมีคุณภาพ ไร้ซึ่งกระแสไฟฟ้าตกดับ ไร้ซึ่งปัญหามลพิษ แตกต่างจากเพื่อนบ้านที่ค่าไฟฟ้าถูก แต่ก็เสี่ยงมากกับไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับ ก็ตาม!!

อย่าลืมว่าปัจจุบันการผลิตไฟฟ้ามาจากหน่วยงานผลิตของภาครัฐในสัดส่วน 34% ขณะที่อีกกว่า 52% มาจากการรับซื้อจากภาคเอกชนรายใหญ่ที่มีโรงผลิตไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงบริษัทลูกของหน่วยงานผลิต รวมแล้ว 13 โรง และยังมีโรงไฟฟ้าของเอกชนขนาดเล็ก รวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน

ด้วยเหตุนี้!! จึงไม่ต้องแปลกใจว่าผลประกอบการของบรรดาภาคเอกชนรายใหญ่ที่ประกาศกันออกมา จึงโกยกำไรกันเป็นหมื่นล้านบาท ขณะที่คนไทยทั้งประเทศยังต้องใช้ไฟฟ้าในราคาแพง

เรื่องของธุรกิจ ก็คือเรื่องของธุรกิจที่ต้องโกยกำไร แต่ในแง่ “การบริหาร” ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องทบทวนอย่างเร็ว โดยต้องไม่ผลักภาระมาให้คนทั้งประเทศ

“อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้ 3 หลักคิดถึงความสำเร็จในการลดต้นทุนค่าพลังงานและค่าไฟฟ้าของไทยให้รอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจ คือ

1) ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ทำงานแบบมีทีมเวิร์ก มีข้อมูลร่วมสร้างสรรค์ด้วยเป้าหมายของประเทศเป็นที่ตั้ง การก้าวข้าม ผ่าน คอมฟอร์ตโซน อย่างกล้าหาญและจริงใจ

2) ทุกภาคส่วนต้องสนับสนุนเรื่องการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า

3) ผู้ประกอบการธุรกิจด้านพลังงาน และไฟฟ้า ควรยึดถือหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ที่เป็น Big Brothers ที่ต้องเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

ทั้งหลายทั้งปวงคือบทสรุปของค่าไฟฟ้าเมืองไทย!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”