หลังเปิดใจผ่าน 4 ข้อซักถามกับสำนักแรก “นิด้าโพล” ไปแล้ว วันนี้มาต่อกันที่อีกหนึ่งตำนานโพลของเมืองไทย “สวนดุสิตโพล” (SUAN DUSIT POLL) โดย รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสวนดุสิตโพล

จับจังหวะทำประเด็นโพลเลือกตั้งแต่ละครั้ง

รศ.ดร.สุขุม ให้มุมมองว่า การทำโพลแต่ละครั้งต้องใช้มาตรฐานทางวิชาการ เพื่อตอบคำถามต่อสาธารณชน แต่ละโพลจะมีการทำงานในลักษณะคล้ายกันคือ การกำหนด “หัวข้อ” ของเรื่องที่จะนำเสนอ วิธีการนำเสนอ ว่าจะเสนอในรูปแบบใด ข้อมูลที่ได้มาต้องจัดวางในรูปแบบไหน และมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน

ทุกแห่งใช้วิธีการเหล่านี้เหมือนกัน แต่หากจะให้ต่างออกไปจำเป็นต้องมีเทคนิคในการนำเสนอ และการเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งเทคนิคเหล่านี้จำเป็นต้องใช้วิธีการศึกษาข้อมูลเชิงลึกเพื่อเป็นตัวประกอบก่อนนำเสนอออกไป

ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง รศ.ดร.สุขุม ระบุ มี “ตัวแปร” แทรกซ้อนหลายตัวแปร เช่น ปัจจุบันมีการย้ายพรรคของ ส.ส. เยอะมากอาจทำให้คนที่ไม่ได้ติดตามการเมืองแบบทุกฝีก้าวได้รับข้อมูลผิดพลาด และตามเกมการเมืองไม่ทัน แต่หากต้องการจะทำโพลเหล่านี้ออกไปก็จำเป็นต้องศึกษาไปถึงวิธีคิดของผู้ที่เข้าใจในการเมืองอย่างลึกซึ้ง และผู้ที่ไม่ได้ติดตามการเมือง

“การออกไปสำรวจและลงพื้นที่เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลจำเป็นต้องให้ข้อมูลกับผู้ที่จะทำโพลให้ชัดเจน เพราะหากไม่มีความชัดเจนตั้งแต่แรก ก็อาจทำให้ผลของโพลนั้นออกมาไม่ตรงตามหลักความเป็นจริงได้”

ปัจจุบันที่มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ถือว่าเป็นปัญหาในการทำโพลเพราะแต่ละครั้งของการทำโพลต้องมีการศึกษาทุกอย่างแบบละเอียดว่า รูปแบบการทำงานของบัตรนั้นทำงานอย่างไร แต่ในส่วนนี้ก็ยังมีข้อกังวลที่ประชาชนอาจยังไม่เข้าใจถึงกระบวนการทำงานบัตรทั้ง 2 ใบ จึงต้องให้ผู้ที่ลงพื้นที่หาข้อมูลเป็นผู้อธิบายเรื่องนี้ให้ประชาชนเข้าใจ

สำหรับหัวใจหลักของการทำโพลมีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ การใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ และการลงพื้นที่จริงเพื่อลงไปหาข้อมูลแล้วสรุปผลออกมาในรูปแบบของสถิติต่อไป

“เนื่องจากในปัจจุบันนี้มี ส.ส.ย้ายพรรคเป็นจำนวนมากทำให้การทำโพลยุ่งยากมากขึ้น ต่างจากในอดีตเราต้องเก็บรวบรวมข้อมูลและสร้างความเข้าใจให้กับทีมงานโดยเฉพาะผู้ที่ลงพื้นที่ให้ชัดเจนว่า ข้อมูลที่เคยสำรวจเดิมยังสามารถใช้ได้หรือไม่ ในเมื่อย้ายพรรคออกไปแล้ว”

กระบวนการเก็บข้อมูล-รักษาความน่าเชื่อถือ

การเก็บรักษาข้อมูลปัจจุบันมีโพลบางแห่งเกิดการ “เลือกข้าง” แต่สำหรับผู้ที่อ่านโพลไปแล้วหลายสำนักจะรับรู้ได้หากโพล “ไม่ตรงกัน” ซึ่งส่วนนี้ทำให้ชี้ชัดได้ว่าโพลนั้นเกิดการเลือกข้าง แต่ในปัจจุบันก็ยังมีนักการเมืองที่วิ่งเข้าหาโพลและสื่อ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
เยอะมากขึ้น หากเป็นลักษณะนี้สิ่งที่โพลนำเสนอออกไปก็อาจพิสูจน์ได้ยากมากขึ้น

เมื่อเกิดเหตุในลักษณะนี้มี 2 วิธี ในการจัดการปัญหาคือ

1.โพลต้องพิจารณการทำงาน 2.สื่อต้องพิจารณาในเรื่องของการกลั่นกรองข้อมูลก่อนการนำเสนอ

จุดแข็งสวนดุสิตโพลในการเลือกตั้งครั้งนี้

รศ.ดร.สุขุม สะท้อนจุดแข็งในการทำงานของดุสิตโพล ประกอบด้วย

  1. หลักการหรือทฤษฎีที่รองรับ
  2. วิธีการในการหาข้อมูล
  3. การติดตามข้อมูลและวิเคราะห์ในเชิงลึก

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากในการทำโพลคือ ความทันสมัย ทันเวลา ความรอบคอบ และจุดมุ่งหมายในการทำงานที่ชัดเจน

“ยิ่งมีการเลือกตั้งบ่อยครั้งเท่าไหร่ การทำโพลออกมาก็จะไม่เหมือนกันสักครั้ง และยิ่งทำโพลมากขึ้นเท่าไหร่ก็ตามโพลก็จะยากมากขึ้น เนื่องจากมีตัวแปรต่าง ๆ ที่แทรกเข้ามาในแต่ละครั้งของการเลือกตั้ง แต่โพลก็จะมีการเพิ่มลูกเล่นและเทคนิคที่มากขึ้นเช่นกัน”

ข้อครหาโพล “รับใช้การเมือง”

หากโพลเลือกข้างตั้งแต่แรก ก็ถือได้ว่าโพลนั้นไม่ “เชียร์” ก็ “ด่า” ส่วนนี้ทำให้รู้ว่าโพลเหล่านี้ได้ “ปักธง” ในใจของตัวเองแล้ว แค่ลงพื้นที่ไปสำรวจผลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพียงเท่านั้น

“สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ดีและถือเป็นการดูถูกประชาชนเป็นอย่างมาก” รศ.ดร.สุขุม กล่าว

“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” ชวนติดตามมุมมองสำนักโพลอื่นต่อเนื่องวันพรุ่งนี้.