“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” ตลอดทั้งสัปดาห์นี้มีโอกาสพูดคุยกับสำนักโพลชั้นนำ 4 แห่ง คือ นิด้าโพล, สวนดุสิตโพล, ซูเปอร์โพล และบ้านสมเด็จโพลล์ เพื่อสอบถามถึงทิศทางทำโพลเกี่ยวกับการเลือกตั้งปี 66 แต่ละสำนักมีจุดแข็งและกระบวนการอย่างไร
เริ่มสำนักแรกกับ “นิด้าโพล” (NIDA Poll) โดย ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผอ.ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ให้มุมมองผ่าน 4 ข้อซักถาม ดังนี้
จับจังหวะทำประเด็นโพลเลือกตั้งแต่ละครั้ง
ผศ.ดร.สุวิชา ระบุ จะดูจากสถานการณ์การเลือกตั้งว่าจะมีการแข่งขันในรูปแบบใด จากนั้นจะดูระยะเวลาในการหาเสียงจนกว่าจะถึงวัน “ปิดหีบ” จึงตัดสินใจว่าจะทำออกมาในรูปแบบไหนบ้าง เช่น การเลือกตั้งปี 2566 นี้ ช่วงนี้ยังไม่ยุบสภา จะเป็นการทำโพลแบบรายจังหวัดไปก่อน จากนั้นจะดูสถานการณ์อีกครั้ง หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือนายกรัฐมนตรียุบสภา
กระบวนการเก็บข้อมูล-รักษาความน่าเชื่อถือ
นิด้าโพลจะเป็นการเก็บข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือ เรียกว่า “มาสเตอร์” ซึ่งมีเบอร์อยู่ประมาณ 350,000 เลขหมายในระบบ สะสมมาตั้งแต่ปี 2551 จากนั้นจะ “แรนดอม” (Random) เบอร์โทรศัพท์ โดยโทรฯ สอบถามว่าสนใจเป็นผู้ให้ข้อมูลกับนิด้าโพลหรือไม่ หากสนใจจะขอข้อมูลโดยไม่ขอชื่อ แต่ต้องการทราบเพียง เพศ อายุ การศึกษา รายได้ อาชีพ จากนั้นจะสะสมเบอร์เหล่านี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ได้จำนวนมากพอแล้วจะเริ่มทำโพลกัน
“กระบวนการเก็บข้อมูลในการทำโพลแต่ละครั้งกว่า 90% ตัวเองเป็นคนคิด โดยประเมินจากสถานการณ์การเมืองว่าเกิดอะไรขึ้น และควรเล่นประเด็นใดบ้าง หลังจากได้ประเด็นจะทำคำถามโพลออกมาไม่เกิน 5 ข้อ เมื่อกำหนดคำถามเสร็จจะกำหนดเป้าหมายว่าจะเก็บข้อมูลกับคนกลุ่มใด จากนั้นเจ้าหน้าที่จะรันนัมเบอร์หมายเลขโทรศัพท์ตามเป้าหมายที่ต้องการ”
ผศ.ดร.สุวิชา ย้ำว่าช่วงหลังนิด้าโพลพยายามทำงานให้ละเอียดมากขึ้น ยิ่งปัจจุบันอยู่ในยุคความแตกต่างของ “เจเนอเรชั่น” (Generation) จึงต้องเน้นสัดส่วนให้ตรงตามความเป็นจริงของสังคม
หลังรวบรวมข้อมูลเรียบร้อยจะกระจายข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูล จากนั้นก็จะโทรฯ ไปตามเบอร์ที่มีในระบบ หากรับสายจะสอบถามว่าสะดวกหรือไม่ หากไม่สะดวกก็ไม่เป็นไร หลังจากนั้นก็ประมวลผล ทำกราฟิกและส่งออกสู่สาธารณะ ทั้งนี้ นิด้าโพลเองก็ต้องสร้างความน่าเชื่อถือ โดยอาศัยความจริงใจด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายถามและผู้ตอบ
จุดแข็งนิด้าโพลในการเลือกตั้งครั้งนี้
ผศ.ดร.สุวิชา เผยข้อดีคือนิด้าโพลคือมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว เมื่อโทรฯ หาคนเหล่านี้จะรู้ว่าเคยเป็นผู้ให้ข้อมูลกับนิด้าโพลมาก่อน หรือที่เรียกว่าเป็นเมมเบอร์ชิป (Membership) กัน จึงยินดีตอบคำถามอย่างเต็มใจ และตอบด้วยความจริง ซึ่งความสำเร็จที่ผ่านมาคือ “ระบบดี” ผู้เก็บข้อมูลทางโทรศัพท์ เก็บข้อมูลด้วยความเป็น กลาง ไม่ว่าจะมีค่านิยมการเมืองไปในทางใด แต่หากผู้ให้ข้อมูลตอบตามใดก็ตอบตามนั้น ต้องขอบคุณที่ให้ข้อมูลตามจริง
สรุปจุดแข็งของนิด้าโพล คือ
1.นิด้าโพลมีระบบที่ดี 2.เชื่อมั่นในทีมงานว่าไม่มีความเอนเอียงไปทางแรงจูงใจทั้งหลาย มีความเป็นกลางในการเก็บข้อมูลไม่ว่าจะเป็นเรื่องในทางการเมือง ซึ่งทุกคนมีค่านิยมทางการเมืองแตกต่างกันออกไปอยู่แล้ว 3.ผู้ให้ข้อมูลตอบความจริง และ 4.กระบวนการเก็บข้อมูลทำได้อย่างรวดเร็ว และกระจายสัดส่วนได้ตามต้องการ โดยอาศัยระบบคอมพิวเตอร์เป็นตัวช่วย เพียงเท่านี้ก็มั่นใจได้ว่าโพลของเราไม่มีข้อผิดพลาดเท่าไหร่
ข้อครหาโพล “รับใช้การเมือง”
ลักษณะของโพลที่รับใช้การเมือง คือโพลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้กับคนบางกลุ่ม แต่ละสำนักก็มีจุดเด่นจุดแข็งแตกต่างกันออกไป แต่สำหรับนิด้าโพลการันตีได้ว่า “ไม่รับใช้การเมืองฝ่ายใดเลย” ผศ.ดร.สุวิชา ยืนยัน
พรุ่งนี้ “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” ชวนติดตามต่อว่าจะเป็นโพลสำนักใด.