ในการประชุม World Economic Forum 2023 จัดให้ภัยคุกคามไซเบอร์ เป็น 1 ใน 5 ความเสี่ยงสำคัญระดับโลก พร้อมคาดการณ์จะมีการโจมตีทางไซเบอร์ที่รุนแรงภายใน 2 ปี โดยเฉพาะการโจมตีจาก “มัลแวร์” และ “แรนซัมแวร์” ที่จะเพิ่มขึ้น 400% คาดการณ์ผลกระทบจากการโจมตีทางไซเบอร์จะสูงถึง 10.5 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2025

ภัยออนไลน์ และคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีประเภทต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนร้ายมีรูปแบบกระทำความผิดที่สลับซับซ้อนขึ้น พัฒนารูปแบบและใช้กลโกงหลากหลาย ปรับตัวอยู่ตลอด และหลายคดีมีลักษณะเชื่อมโยงเป็นขบวนการ

มองกลับมาในประเทศไทย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เผยสถิติรับแจ้งความคดีออนไลน์เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง บางวันยอดรับแจ้งสูงถึง 1,000 เรื่อง ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤติ!

ข้อมูลจากสถิติในระบบรับแจ้งความออนไลน์ช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา พบมีผู้เสียหายแจ้งความประมาณ 200,000 เรื่อง มูลค่าความเสียหายประมาณ 30,000 ล้านบาท

คดีที่คนไทยตกเป็น “เหยื่อ” มากที่สุด 5 อันดับแรก คือ คดีประเภทหลอกลวงซื้อขายสินค้า ตามด้วยหลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้พิเศษจากการทำกิจกรรมทางออนไลน์ หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน หลอกหลวงจากขบวนการคอลเซ็นเตอร์ และหลอกให้ลงทุน

สถานการณ์ปัจจุบันไม่เพียงสะท้อนถึงภัยใกล้ตัว แต่ยังยกระดับสู่ “ภัยความมั่นคงระดับชาติ” ที่ทุกภาคส่วนต้องร่วม “หยุด” หนึ่งในตัวอย่างล่าสุดคือ การทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด นำร่องสื่อสารสร้างภูมิคุ้มกัน “ไซเบอร์วัคซีน” ซึ่ง นายศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอเครือซีพี ประกาศระดมกำลังบริษัทในเครือข่ายช่วยกันถ่ายทอดความรู้เท่าทันกลโกงออนไลน์  อาทิ การแจ้ง SMS เตือนภัยผ่านเครือข่ายสื่อสารกลุ่มทรู

ขณะเดียวกันยังมีเวทีเสวนา “จุดกระแส On Stage : แฉสารพัดกลโกงมิจฉาชีพหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์” ที่เปิดโอกาสให้เหยื่อคดีอาชญากรรมออนไลน์ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์เป็นบทเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ชี้ถึงความสำคัญของการกระจายวัคซีนเตือนสติไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ 

ภาณุพงศ์ หอมวันทา ยูทูบเบอร์เจ้าของช่อง Epic Time หนึ่งในผู้เสียหายจากมิจฉาชีพหลอกให้ซื้อของในเกมออนไลน์ ซึ่งเป็นคดีได้รับการแจ้งความมากที่สุด เผยว่า มิจฉาชีพใช้วิธีการแชทคุยซื้อของกันและอ้างเป็นแฟนคลับ ทำให้ชะล่าใจหลงกลทำตาม สุดท้ายไม่ได้ของ สูญเงินไป 9,700 บาท

ด้าน ตั๊ก-มยุรา เศวตศิลา พิธีกรและนักแสดงชื่อดัง ระบุ โดนมิจฉาชีพโทรฯ มาอ้างกลโกงตลอด 10 ปี และล่าสุดโดนอ้างชื่อค้ำประกันกู้เงินนอกระบบ โดยมีผู้โทรฯ มาบอกว่าเป็นตัวแทนจากบริษัททวงหนี้เงินกู้ อ้างคนชื่อรวยรินกู้เงินไปและใช้ชื่อตัวเองค้ำประกัน ตอนแรกยอมรับว่าตกใจมาก แต่อยากจะเตือนทุกคนว่าถ้าเจอแบบนี้ต้องมีสติ ถ้าไม่ได้ทำอย่าหลงเชื่อ อย่าหลงกล

แคท (นามสมมุติ) หนึ่งในผู้ที่ถูกหลอกทำงานเป็นแอดมินแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เผยว่า เพราะอยากหางานที่มีเงินเยอะกว่าเดิมเลยเข้าไปที่เพจคนไทยหางานทำที่ปอยเปต และติดต่อเอเจนซี ก่อนได้รับการติดต่อกลับและโน้มน้าวให้ไปทำงาน รายได้เดือนละ 30,000 บาท แต่เมื่อไปทำงานถึงรู้ว่าเป็นการทำแอปพลิเคชันเงินกู้หลอกคนไทยด้วยกัน ตอนนั้นกลัวมาก แต่ไม่มีสิทธิปฏิเสธ มีการนำสคริปต์มาให้อ่าน 2 วันต้องหลอกให้ได้

“เขาใช้วิธีส่งข้อความ SMS รวมทั้งโทรฯ หลอกให้เงินกู้ และเหยื่อจะติดต่อกลับมา ตอนนั้นเราทั้งถูกบังคับ ข่มขู่ โดนให้อดข้าว อดน้ำ สุดท้ายก็พยายามหนีออกมาได้”

ขณะที่ โอม (นามสมมุติ) เหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เผยว่า ถูกโทรฯ มาแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรใช้วิธีอ้างโครงการคนละครึ่ง มีการให้ข้อมูลส่วนตัวถูกต้องจึงหลงเชื่อกดลิงก์ที่ส่งมาให้ เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จก็หน้าจอค้าง ก็รีบปิดโทรศัพท์แต่เมื่อเปิดเครื่องใหม่ก็พบว่าเงินในบัญชีหายไปครึ่งล้าน 

ภัยออนไลน์อยู่ใกล้เพียงแค่ปลายนิ้ว แต่กลับสร้างความเสียหายมหาศาลในยุคของโลกไร้พรมแดน คงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนควรมีส่วนร่วมป้องกัน โดยเฉพาะการสื่อสารข้อมูลเตือนภัย ที่ยิ่งกระจายวงกว้างทั่วถึงมากเท่าไหร่…ยิ่งดี.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]