“สาเหตุเกิดจากการรวมตัวกันของไขมันที่เกาะภายในผนังหลอดเลือดหัวใจหนาขึ้น ซึ่งไขมันนี้เกิดจากคอเลสเตอรอลทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวและหนาตัวขึ้น ร่างกายจึงไม่สามารถส่งเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้” นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ระบุ
ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้น มี 2 กลุ่ม
1. ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ ปัจจัยด้านพันธุกรรม หรืออายุที่มากขึ้น ก็มีโอกาสป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ชายมีโอกาสเกิดมากกว่าผู้หญิงในวัยที่ยังมีประจำเดือน แต่เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน นั่นหมายความว่ามีโอกาส
เกิดโรคดังกล่าวเท่า ๆ กับผู้ชาย
2. ปัจจัยที่ควบคุมได้ ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย น้ำหนักเกินมาตรฐาน รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ และความเครียด ส่งผลทำให้เพิ่มโอกาสการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตันในที่สุด
สำหรับอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บที่บริเวณหน้าอกคล้าย ๆ มีของหนักมากดทับในขณะพักและอาจมีอาการร้าวไปที่บริเวณแขน สะบัก ไหล่ หรือ ขากรรไกรด้านซ้ายได้
นอกจากนี้ยังอาจพบว่ามีอาการร่วมอื่น ๆ เช่น อาการหอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ ใจสั่น เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม หรือหมดสติ หากสังเกตพบอาการดังกล่าวข้างต้น ควรพบแพทย์ที่ใกล้ที่สุดโดยทันที
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดโรค ก็ควรเริ่มต้นดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ โดยการหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอเลี่ยงการนอนดึก นอกจากนี้ยังต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดการรับประทานอาหารทอด เค็ม มัน เป็นต้น.
อภิวรรณ เสาเวียง