ต้นตอของภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ น้ำท่วม ฝนแล้ง สร้างความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการฟื้นฟู “ทีมการเมืองเดลินิวส์” ต้องมาสนทนากับ “จตุพร บุรุษพัฒน์” ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะมาบอกเล่าถึงภารกิจของกระทรวงทรัพยากรฯ ในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและสร้างความตระหนักให้ประชาชนได้รับรู้ถึงภัยโลกร้อนที่กำลังรุกคืบประเทศไทย

โดย “ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ” กล่าวถึงภาพรวมความคืบหน้าการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อนของไทย ว่า กระทรวงทรัพยากรฯ ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง ร.9 มาเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ โดยการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศแบ่งเป็น ระยะแรก เป็นการดำเนินงานตามแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ภายในปี 2563 สาขาพลังงานและขนส่ง ร้อยละ 7-20 ซึ่งประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายภายในประเทศแล้ว โดยดำเนินการได้ร้อยละ 15.75 คิดเป็น 57.84 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์  

ระยะที่ 2 เป็นการยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับผู้นำรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2065 และเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดในการลดก๊าซเรือนกระจกที่ร้อยละ 40 ภายในปี 2030 หากได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศที่เหมาะสม ภาพรวมถือว่า การดำเนินการตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยมีประสิทธิภาพและมีความก้าวหน้าอย่างมาก  

ทั้งนี้ สำนักงานแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ยังได้จัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและการรับมือกับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใน 6 สาขา คือ 1.การจัดการน้ำ 2.การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร 3.การท่องเที่ยว 4.สาธารณสุข 5.การจัดการ 6.การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงมนุษย์ นอกจากนี้ สผ.ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลความเสี่ยงเชิงพื้นที่ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อใช้ในการวางแผนจัดการพื้นที่ และสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป              

อีกทั้งยังดำเนินการทบทวนและปรับปรุงร่าง พ...การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.….ซึ่งครอบคลุมทั้งการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงมาตรการกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น 1.การกำหนดราคาคาร์บอน และกลไกคาร์บอนเครดิต ทั้งในและระหว่างประเทศ การพิจารณาความเหมาะสมของภาษีคาร์บอน สำหรับกิจกรรมที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง 2.กลไกการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ซ้ำซ้อน 3.กลไกการเก็บข้อมูล การรายงานข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงทรัพยากรฯ จะต้องจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายดังกล่าว และรับฟังทุกภาคส่วนในปี 2566 นี้  

@ การซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ทำอย่างไรให้เป็นรูปธรรมและเป็นที่รับรู้ของประชาชน 

ที่เราทำอยู่และพอเห็นภาพ คือ ทำร่วมกับสภาอุตสาหกรรม มีตารางการซื้อขาย แต่ยังไม่มาก เรื่องนี้ต่างประเทศเขาไปไกลแล้ว แต่ของเรายังติดข้อกฎหมาย  เรากำลังดำเนินการให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และ สผ. ไปหารือกับกรมบัญชีกลาง อยากจะเริ่มให้การประชุมของส่วนราชการทั้งหมดคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยประชุมแต่ละครั้งปลอดปล่อยคาร์บอนเท่าไร เช่น ปล่อย 20 ตัน หน่วยงานราชการก็จะสามารถไปซื้อจากหน่วยที่เขาเก็บกักคาร์บอนอยู่ โดยผ่านกระดานของ อบก. แต่ต้องมีกระดานราคากลางที่ชัดเจน โดยกรมบัญชีกลางกำหนดราคากลาง เหมือนสินค้าสีเขียว กำลังหารือกันอยู่ ถ้าเริ่มทำตรงนี้ได้ก็จะเป็นแรงกระตุ้นส่วนหนึ่งที่จะให้ส่วนราชการเข้ามาร่วม มันจะทำให้การลดคาร์บอนดีขึ้น กระตุ้นให้คนที่เขาเก็บคาร์บอนอยู่สามรรถซื้อขายได้  

ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ยังไม่แพร่หลาย เราจึงขอการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม จำนวน 88 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนการจัดทำแผนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับจังหวัดทั่วประเทศไทย ด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยดำเนินการในปี 2566-2567 นี้ ซึ่งจะทำให้ทราบข้อมูลคาร์บอนตั้งแต่ระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นซีอีโอดำเนินการในเรื่องนี้  

นอกจากนั้นต้องเน้นการประชาสัมพันธ์ โดยกรมที่ตั้งขึ้นใหม่จะมีบทบาทในเรื่องนี้อย่างมาก เมื่อก่อนกระทรวงทรัพยากรฯ หรือกรมส่งเสริมฯ จะพูดในเรื่องภาพรวม สร้างจิตสำนึก แต่ต่อไปนี้จะโฟกัสลงไปในพื้นที่ เพื่อทำให้ประชาชนเข้าใจ รวมทั้งกระทรวงฯ ได้เปิดหลักสูตรสอนออนไลน์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าใจก่อนนำไปเผยแพร่สู่ประชาชน เชื่อว่าเรื่องนี้จะเห็นผลชัด และชาวบ้านจะยอมรับ ถ้าเขาประสบปัญหาสภาพอากาศที่ชัดเจนอย่างที่เป็นอยู่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เรานึกไม่ถึง เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง อะไรต่างๆ เราต้องอาศัยสิ่งเหล่านี้มาชี้แจงต่อพี่น้องประชาชน ถ้าพี่น้องประชาชนตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่าถ้าไม่เริ่มทำอะไรสักอย่าง วันนี้เราก็อยู่ไม่ได้ อันนี้ก็จะเป็นความสำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา  

 @ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีความต่อเนื่องทางด้านนโยบายอย่างไร หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีและรัฐบาล  

ผมเชื่อว่าเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ มันไม่น่าจะมีเรื่องของวาระทางการเมือง ผมคิดอย่างนั้น เพราะผมคิดว่าวาระทางการเมืองเป็นเรื่องของปากท้อง ซึ่งเป็นเรื่องของนโยบาย แต่เรื่องที่กระทบกับชาวบ้านน่าจะเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจร่วมกัน เพียงแต่ว่า แต่ละคนอาจมีสกิลหรือทักษะในการนำเสนอมากน้อยแค่ไหน อันนี้เป็นความจำเป็น แต่หากว่าหน่วยงานของเรา กรมใหม่เราตั้งเสร็จ จะมีองค์ความรู้ต่างๆ เรื่องนี้ไม่น่ามีปัญหา และจะเป็นความต่อเนื่องต่อไป ซึ่งแต่ก่อนมันเป็นงานฝากใน สผ.วันนี้เรามีกรมขึ้นมา ผมคิดว่าเรื่องนี้จะต่อเนื่อง แล้วเราก็หยิบประเด็นขึ้นมา ชูตรงนี้ขึ้นมา ในอาเซียนก็เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ใครจะมาก็ต้องทำเพราะเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพียงแต่จะช้าหรือเร็ว คนจะสนใจหรือไม่ขึ้นอยู่ที่สกิลของแต่ละคน ต้องแยกแยะตรงนี้ แต่คิดว่าต้องเป็นงานต่อเนื่องแน่นอน.