ไม่มีใครรู้ว่า เลือกตั้งที่จะถึงนี้ใครเป็นนายกฯ
เพราะเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้บังคับว่า “ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 ของพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 จะต้องเป็นนายกฯ” แต่ใช้วิธีให้แต่ละพรรคเสนอแคนดิเดตพรรคละ 3 คน แล้วให้ที่ประชุมรัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎร-วุฒิสภา) รับรอง หากคนไหนได้คะแนนเสียงเกิน 376 เสียงก็ได้เป็นนายกฯ ไป ..แต่กรณีที่เลือกนายกฯ จากบัญชีพรรคการเมืองไม่ได้ ให้ 2 สภา มีมติให้เลือกนายกฯ นอกบัญชี แล้วจากนั้น “เฉพาะสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น” ที่เสนอชื่อแคนดิเดตใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้ไม่รู้ว่าใครเป็นนายกฯ แต่ละพรรคก็ไปต่อไม่รอแล้วนะ… พรรคหนึ่งที่ต้องรีแบรนด์คือ พลังประชารัฐ (พปชร.) หลังจากอยู่ๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่มาจากเสียงสนับสนุนของพรรค เบนเข็มไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) โดยไม่รู้ว่า ด้วยสาเหตุใดเพราะเอาเข้าจริงเจ้าตัวก็ไม่ได้พูดชัด ..แต่ว่ากันว่า “น่าจะไม่พอใจคนในพรรคบางคน” ซึ่งก็แล้วแต่ วันหนึ่งความจริงมันก็จะออกมาเอง โดยเฉพาะช่วงใกล้เลือกตั้งที่ต้องแข่งกันมาก ถ้าวางตัวให้ พล.อ.ประยุทธ์ช่วยหาเสียง ก็อาจมีหลุดสาเหตุที่แท้จริง
ผลจาก “ประยุทธ์เอฟเฟกต์” ทำให้มี ส.ส.ไหลออกจาก พปชร. มากมาย ส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มที่เชื่อกันว่า “จุดขายของพรรคคือ พล.อ.ประยุทธ์” ก็ไป รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กับ ภูมิใจไทย เสียเยอะ.. ซึ่งช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ก็ไม่ใช่ว่า ส.ส.จะไม่มีปัญหาด้วย ..ลองสังเกตดู google it ตามที่บิ๊กตู่ชอบบอกใครต่อใคร หาข่าวเก่าช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่ละปี ก็จะเห็นว่า เวลาจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ บิ๊กตู่จะเคลียร์ใจกับคนของพรรค กับ ส.ส.ว่า ต่อไปจะเข้าถึงง่ายขึ้น.. แต่พอหมดช่วง “โปรฯอภิปราย” ก็เป็นแบบเดิม ..ลงพื้นที่บอกนายกฯ ทำเพื่อทุกคน ส.ส.ไม่เคยมีเครดิต.. เสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า คนที่ ส.ส.เข้าถึงยาก คือ บิ๊กตู่และ “บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย ซึ่งกลายเป็นว่า ดูเหมือนเป็นนายกฯ และรัฐมนตรีที่ไม่ได้มีความผูกพันกับพรรคการเมือง ทำตัว one man show
คนที่รู้จักวิธีประสานทุกทิศ สามารถเข้าถึงได้ และทำให้พรรค พปชร. ถึงเลือดไหลออกบ้างแต่ไม่แตกโพละไปก่อนเวลาอันควรเพราะ ส.ส.หมั่นหน้านายกฯ คือ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. ชนิดที่ว่า ต้องอาศัยบารมีลุงป้อมคุมพรรค เพราะน้องตู่นี่ดูทำตัวเอกเทศเหลือเกินกับพรรค.. ( ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะยังเป็นแบบเดิมตอนอยู่พรรค รทสช.หรือไม่ แต่คงจะปรับตัวเป็นนักการเมืองมากขึ้น เพราะข่าวว่าจะขึ้นเป็นประธานอะไรสักอย่างของพรรค..พรรคการเมืองเดี๋ยวนี้ตั้งตำแหน่งใหม่ ๆ แปลก ๆ ให้ตัวใหญ่ ๆ ไปดำรงตำแหน่ง เพื่อไม่ต้องเป็นกรรมการบริหารพรรคตามกฎหมาย เกิดอุบัติเหตุยุบพรรคขึ้นมา ตัวใหญ่ ๆ จะได้ไม่ต้องโดนตัดสิทธิ”
มาวันนี้ ก็ชัดเจนแล้วว่า บิ๊กป้อมกลายเป็นผู้นำพรรค รวบรวม ส.ส.อย่างแท้จริง เมื่อพรรคตั้งใจจะชูบิ๊กป้อมเป็นแคนดิเดตนายกฯ สิ่งที่พรรคทำอันดับต่อมา คือการ “รีแบรนด์” ภาพลักษณ์ ตัวผู้นำเป็นสิ่งที่ต้องรีบบอกว่า “ความจริงบิ๊กป้อมทำอะไรบ้าง” จากที่ผ่านมา มีการเคลมกันไปเคลมกันมาว่านี่ผลงานใคร และมักจะโฟกัสไปที่ตัวนายกฯ ส่วนของบิ๊กป้อมเองก็มักจะมีลักษณะแบบไม่ค่อยออกหน้า ตอนนี้ก็ต้องชัดว่า “นโยบายบางเรื่อง ใครดูแล” ซึ่งสิ่งที่บิ๊กป้อมมักจะเทคแอ๊คชั่นบ่อยๆ คือ นโยบายจัดการน้ำ, นโยบายที่ดิน, การแก้หนี้นอกระบบ ในส่วนของสื่อรัฐบาลเขาก็จะสรุปผลงานเป็นตัวเลขเป็นระยะว่า การแก้หนี้นอกระบบทำได้กี่รายแล้ว
เมื่อบิ๊กป้อมได้รับการเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ คนเดียวของพรรค คราวนี้การ “รีแบรนด์” ของบิ๊กป้อมจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การมาพูดว่าตัวเองปิดทองหลังพระมันเป็นเรื่องโบราณและโลกสวยไปแล้วสำหรับการเมือง ใครทำอะไรก็ต้องพูดให้ชัดเจนไปเลยว่า “นี่คือผลงานของเรา” เพื่อที่เมื่อออกเป็นนโยบาย คนจะมีความเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่งว่าทำได้แน่ ไม่ใช่แบบ..ที่ผ่านมาไม่รู้เลยว่าคนนี้ทำ ..
ในด้านการทำงาน บิ๊กป้อมเริ่มลงพื้นที่ถี่ๆ ดูแผนการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ แบบไม่เว้นแต่ละอาทิตย์ มีการเสนอโมเดลด้านการจัดการน้ำแต่ละพื้นที่ หรือการปฏิรูปที่ดิน แต่จะดีขึ้นถ้าตัวบิ๊กป้อมเองเป็นผู้ให้สัมภาษณ์ (ซึ่งก็พอเข้าใจได้เรื่องที่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์เพราะบางเรื่องมันเป็นรายละเอียดยิบย่อย เช่น ตัวเลขการแจกที่ดิน ต้องให้เอกสารหากจะลงเป็นข่าวเพื่อไม่ให้ตัวเลขคลาดเคลื่อน) และน่าจะดีขึ้นกว่าเดิมได้ถ้าบิ๊กป้อมโชว์แอ๊คชั่นเรื่องการจัดการหนี้นอกระบบ ดอกโหด ให้คนเห็นถึงขั้นเป็นระดับ “สงคราม” อย่างที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เคยประกาศทำสงครามกับผู้มีอิทธิพล และมีการรวบรวมรายชื่อผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศมาแล้วในสมัยทักษิณ 1 ..นี่ก็ลองรวบรวมรายชื่อพวกเจ้าหนี้ดอกโหดดูแบบให้สังคมประณาม ส่วนตัวเห็นว่าน่าสนใจ
ขุนพลข้างกายคนหนึ่งของบิ๊กป้อมที่ต้องเข้ามาทำงานด้านนี้คือ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลก่อนหมดวาระ และในช่วงรัฐบาลรักษาการณ์จนกว่าจะเลือกนายกฯ ได้ (ถ้าเลือกตั้ง พ.ค. กว่าจะเลือกนายกฯ ได้ก็น่าจะ มิ.ย.หรือ ก.ค.) รมว.ดีอีเอส น่าจะแสดงบทบาทเรื่องการป้องกัน จัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ “ในส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่ของตัวเอง” เพื่อช่วยบิ๊กป้อมในการจัดการหนี้อีกอย่าง ..เรื่องหนี้เป็นเรื่องที่ใช้หาเสียงได้ดีมาก เพราะมันกระทบคนจำนวนมากของประเทศ ..เป็นงานในระดับมีผลต่อ “ปัจเจก” ไม่ใช่งานที่มีผลระดับ “โครงสร้าง”เหมือนการบริหารจัดการน้ำ หรือที่ดิน ..ซึ่งแผนหาเสียงก็ต้องนำเสนองานทั้ง 2 ระดับ
การรีแบรนด์ต่อมาคือเรื่อง การจัดการบุคลิกของบิ๊กป้อม ที่ปรับตัวให้ดูเป็นคนง่ายๆ มากขึ้น ไม่ใช่ไปไหนทีต้องยกขบวนไปเป็นโขยงใหญ่ อย่างล่าสุด เจ้าตัวก็โผล่ไปทำบุญที่สถานสงเคราะห์ที่นนทบุรีแบบส่วนตัว แล้วร่วมขยับเนื้อขยับตัวเต้นเพลง “ทรงอย่างแบด” ตามเด็ก ๆ ด้วย ทำให้ดูเป็นคนเข้าถึงง่ายกับคนทุกวัย ลงพื้นที่ก็ให้ประชาชนเข้าถึงตัว ยิ้มแย้มแจ่มใส ปรับลุคการแต่งตัวให้ดูกระชากวัยมากขึ้น ลบภาพที่ถูกปรามาศ “นั่งก็หลับ ยืนก็ล้ม”
ที่น่าสนใจคือ กรณี นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ เข้ามาร่วมพรรค พปชร. ด้วยเหตุผล “เพราะไม่มีบิ๊กตู่” ก็ชวนให้คิดถึงการเป็นมือประสาน และการเจรจาเอาคนที่ได้รับการยอมรับผลงานเข้ามาร่วมงานได้ ล่าสุด พปชร.เสริมทีมเศรษฐกิจแข็งแรงขึ้นด้วย นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน ซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ จะมาร่วมงานด้วยหรือไม่
ส.ส.ที่มีภาพเป็นผู้มีอิทธิพล อย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ซึ่งยกกลุ่มกลับพรรค พปชร. ก็เพราะยังให้ความรักและความเคารพกับตัวบิ๊กป้อมอยู่เสมอมา และคราวนี้ ร.อ.ธรรมนัส บอกว่า ไม่ประสงค์จะรับตำแหน่งใดในพรรค แค่ขอมาช่วยงานบิ๊กป้อม และ ร.อ.ธรรมนัส ก็ปรับภาพลักษณ์เช่นกันในช่วงหลังๆ โดยเฉพาะเรื่องการไปร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ อย่างร่วมกิจกรรมของชาวม้ง ลงพื้นที่ใกล้ชิดประชาชนแบบเรียบง่าย ล้างภาพ “นักการเมืองสีเทา” …อยู่กับชาวบ้านแบบไม่สร้างกระแส ไม่เกาะอะไรที่เป็นกระแสมั่วไปหมด ไม่ทำตัวหิวแสงแบบ ส.ส.บางคน
จุดยืนทางการเมืองของบิ๊กป้อม ก็เป็น จุดยืนที่สามารถสวิงเข้าหาขั้วไหนก็ได้ เพราะภาพของการแข่งขันเที่ยวนี้คือการ “เอาหรือไม่เอาบิ๊กตู่” ที่แยกพรรคออกไปแล้ว ด้านบิ๊กป้อมเองก็ชัดเจน พร้อมร่วมงานกับใครก็ได้เพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งก็มี “เสียงลือเสียงเล่าอ้าง” ขนาดว่า สามารถร่วมงานเพื่อไทยได้ และคนในพรรคเพื่อไทยเองก็มีท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้อยู่บ้าง ถึงจะพูดว่า ก่อนเลือกตั้งไม่ประกาศจับมือกับใคร ซึ่งก็ถูก มันคือการแข่งขัน แต่หลังเลือกตั้งนั้นก็ไม่แน่ว่า จะจับมือกับ พปชร.ได้ ถ้าพูดคุยตกลงกันได้ เงื่อนไขทางการเมืองมีอะไรบ้างมันต้องไปว่ากันตอนรู้ผลเลือกตั้ง
สำหรับทีมโฆษก แต่ละพรรคจะต้องมีคนประเภทที่เรียกว่า “สายแทงก์” หรือเดี๋ยวนี้อาจเรียกว่า “ตัวตึง” แบบว่าส่งข่าวด่าคู่แข่งเป็นหน้า ๆ ซึ่งมันเป็นการเล่นการเมืองแบบไม่สร้างสรรค์ ทำให้คนเห็นการเมืองเป็นเรื่องไร้สาระ แย่งชิงอำนาจ ไปจนถึงน่าขบขันแบบตลกร้าย..ทีมโฆษกชุดใหม่ของพรรคนำโดย “ส.ส.เบนซ์ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร” ลูกชายนายอิทธิ ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทราหลายสมัย (นายอรรถกรจะลง ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 2) ..ภาพลักษณ์ของ ส.ส.เบนซ์ คือ คนที่แม่นข้อบังคับการประชุมสภา ไม่อภิปรายเลอะเทอะ และคิดว่า เมื่อเป็นหัวหน้าทีมโฆษกกลาย ๆ ก็คงจะไม่ตอบโต้การเมืองแบบตีปิงปอง เน้นพูดสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า อธิบายอะไรกระชับ เข้าใจง่าย
เสริมทัพด้วยทีมคนรุ่นใหม่คือ น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สระบุรี เขต 3 และ น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตบางเขน รวมถึง “ฟิล์ม-รัฐภูมิ โตคงทรัพย์” ซึ่งสามคนรุ่นใหม่นี้จะพิสูจน์การสื่อสารของ พปชร. ว่า เอาแต่กระแส เอาแรงเข้าว่า หรือการสื่อสารตอบโต้อย่างมีรสนิยม ไม่ต้องเสียดสี มีอะไรอธิบาย และที่สำคัญ การเป็นโฆษกพรรคการเมืองควรจะมีท่าทีต่อประเด็นสำคัญในสังคม “ที่พรรคการเมืองสามารถดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาได้” ไม่ใช่การพูดแบบหิวแสงพูดไปเรื่อย ส่งข่าวแค่คิดว่าหวังฟลุกได้พื้นที่สื่อ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แต่ละพรรคการเมืองต้องสนใจ ระมัดระวัง คือ 1. “พวกกันซีน” คือคนประเภทสำคัญตัวคิดว่ามีอำนาจ คิดว่าเป็นมุ้งใหญ่ แสดงบทบาทบางอย่างจน ส.ส.อยู่กันอึดอัด อย่าง พปชร. ก็เคยมีข่าวว่า มี “บางคน” สร้างความอึดอัดใจให้ ส.ส.พรรค เพราะประกบหัวหน้าพรรค กันคนอื่นออก จนลูกพรรคคนอื่นเข้าไปคุย หารือ เสนอไอเดียอะไรลำบาก ทั้งที่บางเรื่องเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ “พวกกันซีน” นี้อยากแสดงอำนาจว่าตัวเองใหญ่คับพรรค คนแบบนี้ไปที่ไหนก็สร้างความแตกแยก ความอึดอัด ก็ไม่รู้ว่า ส่วนหนึ่งที่เลือดไหลออกจาก พปชร. มาจากพวกกันซีนหรือไม่
2. กลุ่มที่ยังมีคดีความ ในกรณีเป็น ส.ส.เขต ถ้ามีปัญหาก็ต้องเลือกตั้งใหม่อีก หรือพวกเคยมีคดี อาจทำพรรคซวยไปด้วยที่ไปรับรองเป็นผู้สมัคร ส.ส.ทั้งที่ขาดคุณสมบัติ ที่น่าเป็นห่วงคือกลุ่มที่ติดคดีสนามฟุตซอลอยู่ คือกลุ่ม นายวิรัช รัตนเศรษฐ ที่น่าจะเรียกว่า “บ้านใหญ่โคราช” ของพรรค ซึ่งการพิจารณาให้ลง ส.ส.เขตหรือบัญชีรายชื่อก็เรื่องหนึ่ง แต่การรีแบรนด์ (ไปจนถึงการคลีนนิ่ง) กลุ่มที่ยังมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ไม่ค่อยดีก็น่าจะปรับตัวไม่ไปประกบหัวหน้าพรรคให้เป็นจุดเด่นมากว่า “มีอิทธิพลมากในพรรค” ดูอย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ลดบทบาทออกสื่อ ไปทำพื้นที่มากขึ้น
เมื่อตัวขายเดิมอย่างบิ๊กตู่ออกไป วันนี้บิ๊กป้อมถือธงนำพรรคเต็มตัว ก็พร้อมปรับทั้งภาพลักษณ์ผู้นำและพรรค.