อีกหนึ่ง “ปรากฏการณ์ในสังคมไทย” ที่ทาง ดร.มติ ทาเจริญศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้ชี้ย้ำไว้ผ่านงานวิจัย “การเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างบิดามารดาและวัยรุ่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการความคิดทางการเมืองและแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในครอบครัว” ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” สะท้อนต่อข้อมูลไปแล้วส่วนหนึ่ง…

“คนในบ้าน” อาจ “คิดต่างทางการเมือง”

นี่ “อาจจะเป็นปัญหาใหญ่ถึงบ้านแตก!!”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้ ที่ได้มีการเผยแพร่ไว้ผ่านบทความในวารสารพฤติกรรมศาสตร์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 1 มกราคม 2566 ของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ทาง ดร.มติ ผู้ศึกษาวิจัย ได้ศึกษาวิเคราะห์ปัญหานี้ เพื่อหา “แนวทางลดความขัดแย้งในครอบครัวจากความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง” โดยได้มีการสะท้อนไว้ว่า… ครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคมที่มีอิทธิพลในการทำให้เกิดความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมต่าง ๆ โดยการแสดงออกเกี่ยวกับความคิดทางการเมืองของลูก ๆ นั้นเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ… 1.การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และ 2.ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวและสมาชิก ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้… มีผลต่อ “ความโน้มเอียงทางการเมือง” ของลูก…

นี่อาจส่งผลให้เกิด “ช่องว่างในครอบครัว”

แต่ก็ “ลดช่องว่างได้” โดยสร้างบรรยากาศ

“โดยเปิดให้ลูกถกเถียงอย่างสร้างสรรค์”

อนึ่ง งานวิจัยดังกล่าวได้มีการชี้ไว้เพื่อให้เห็นว่า… การสร้างบรรยากาศการสนทนาถกเถียงแบบสร้างสรรค์จะช่วยให้ลูกมีทัศนคติที่ดีต่อพ่อแม่ เนื่องจากวัยรุ่นนั้นมักจะเลือก “สนทนาความคิดทางการเมือง” กับบุคคลภายนอกมากกว่าจะสนทนากับคนในครอบครัว เพราะไม่ต้องการมีปัญหากับพ่อแม่ และไม่ต้องการเปิดเผยแนวคิดให้พ่อแม่รับรู้

และกับ “สาเหตุ” ที่ทำให้ วัยรุ่นไม่อยากสนทนาเรื่องการเมืองในบ้าน นั้น ก็มีที่มาจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ… 1.จากสถานะที่ต่างกัน จากการที่ลูกมองสถานะพ่อแม่อยู่สูงกว่า ที่ทำให้การสนทนากับพ่อแม่ในมุมมองของลูก ๆ นั้น รู้สึกว่าเป็นเสมือนการถูกบังคับ 2.การเมืองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยลูก ๆ ส่วนใหญ่มักเกิดความกังวลว่า…ถ้าหากเปิดเผยแนวคิดทางการเมืองส่วนตัวออกมา มุมมองพ่อแม่อาจมองว่าไม่เหมาะสม จนทำให้ถูกลงโทษหรือถูกตำหนิได้ 3.การเปิดเผยควรมีขอบเขต ซึ่งลูก ๆ ส่วนใหญ่มักมองว่า…ควรมีบางเรื่องที่เก็บเป็นความลับได้ ซึ่ง “เรื่องการเมือง” ก็เป็นหนึ่งในนี้…

ปัญหาจากทั้ง 3 ปัจจัยนี้…งานวิจัยชี้ไว้ว่า…

ก็แก้ไขได้โดย “สร้างบรรยากาศไว้วางใจ”

“ทำให้ลูกไว้วางใจ” เพื่อ “ลดการขัดแย้ง”

สำหรับ “วิธีสร้างความไว้วางใจ” เพื่อที่จะช่วยลดความขัดแย้ง ดร.มติ ทาเจริญศักดิ์ เสนอแนวทางไว้ โดยแบ่งเป็นขั้นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ… “ขั้นก่อนสนทนา” เนื่องจากวัยรุ่นต้องการการสนทนาด้วยเหตุผล รวมถึงต้องการให้การสนทนาเป็นแบบให้เกียรติกัน แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่มักใช้สถานภาพที่สูงกว่าเพื่อการอบรม เพราะความเคยชิน กรณีนี้จึงเกิดการใช้อำนาจโดยไม่รู้ตัว และทำให้ถูกต่อต้านจากลูก ดังนั้นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ต้องทำคือ เตรียมตัวก่อนเริ่มสนทนา เช่น ปรับความสัมพันธ์ให้มีบรรยากาศแบบเพื่อน เตรียมความรู้ทางการเมืองสำหรับสนทนา รวมถึงปรับลดความคาดหวังของพ่อแม่ลงมา…

เพื่อให้การสนทนาในครอบครัวราบรื่น

“ขั้นสนทนา” เมื่อกระบวนการสนทนาเริ่มต้น สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือ… กำหนดขอบเขตของเรื่องที่เปิดเผยได้ โดยอาจให้ลูก ๆ เป็นผู้กำหนด, การ รับฟังอย่างตั้งใจ ด้วยการเปิดโอกาสให้วัยรุ่นสนทนาโดยไม่ถูกขัด, ต้อง ควบคุมอารมณ์และให้อภัย เมื่อลูกแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ถูกต้อง หรือขัดใจพ่อแม่, สร้างบรรยากาศแลกเปลี่ยนข้อมูล ที่พ่อแม่นั้น หากไม่แน่ใจในข้อมูลก็ควรบอกกับลูกโดยตรงว่าไม่ทราบ เพื่อให้การสนทนาไม่ตึงเครียด, อนุญาตให้ลูกได้ตัดสินใจด้วยตนเอง เพื่อแสดงออกถึงความไว้วางใจของพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในครอบครัวในการสนทนาเรื่องนี้ ซึ่งนี่ก็รวมไปถึง…

เพื่อปรับสัมพันธ์เป็นเพื่อนลูกมากขึ้น

สุดท้ายคือ “ขั้นหลังการสนทนา” หลังการสนทนาจบลง สิ่งที่พ่อแม่ต้องลงมือทำมี 3 เรื่อง นั่นคือ…1.การรักษาสัญญา 2.การแสดงออกด้วยความจริงใจ และ 3.การไม่นำเรื่องที่สนทนาไปเล่าให้ผู้อื่นฟังต่อ เพราะถ้าวัยรุ่นหรือลูก ๆ รู้ว่าพ่อแม่นำเรื่องที่สนทนากันในบ้านไปเล่าต่อ กรณีนี้ก็จะส่งผลให้ลูก ๆ ไม่อยากเปิดเผยความคิดทางการเมืองให้พ่อแม่ได้ฟังอีกต่อไป …เหล่านี้เป็นแนวทาง “ลดความขัดแย้งจากการที่สมาชิกในครอบครัวมีความคิดทางการเมืองที่ต่างกัน”

“ศึกการเมือง” ในไทย “ชนวนศึกในบ้าน”

“เคยเกิดมาก” และ “ยุคนี้ก็ยิ่งเสี่ยงเกิด”

“วิธีสกัดศึก” ก็มี “ก็อยู่ที่ผู้ใหญ่ในบ้าน”.