โดยการ “เปิดศึก” ชิงความได้เปรียบดึงดูดคะแนนเสียงของกลุ่มการเมืองพรรคการเมืองต่าง ๆ มีดีกรี “ร้อนแรง” ขึ้นเรื่อย ๆ… ซึ่งนอกจากแวดวงการเมืองแล้ว…กับ “ครอบครัวไทย” จำนวนไม่น้อย “รอยร้าวความสัมพันธ์อันเนื่องจากเรื่องการเมือง-เนื่องจากการคิดต่าง” ก็เป็นอีกมุมที่ต้องโฟกัสและระมัดระวังกันให้ดี ๆ ด้วย…

“ระวัง” กรณี “การเมืองทำให้ร้าวฉาน”

“คิดต่าง” ทำให้ “เกิดขัดแย้งกันในบ้าน”

ที่ก็ “อาจทำให้ครอบครัวแตกแยกได้!!”

ทั้งนี้ “ปมขัดแย้งในครอบครัว” ที่มี “ปัจจัยเกิดจากเห็นต่างทางการเมือง” นี่ในไทยก็มิใช่เรื่องเล่น ๆ ซึ่งก็เคยมีผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสังคมและครอบครัวได้ออกมาย้ำเตือนเอาไว้ว่า… ท่ามกลางโลกยุคใหม่ ที่คนรุ่นใหม่มีความคิดของตัวเอง และต้องการแสดงออกชัดเจนในเรื่องต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ “ความคิดทางการเมือง” จำเป็นที่พ่อแม่ผู้ปกครองนั้น

ต้องปรับตัวเรียนรู้และ “ทำความเข้าใจ”

เพื่อ “ป้องกันไม่ให้เกิดขัดแย้งในบ้าน”

และเกี่ยวกับเรื่องนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลงานวิจัย “การเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างบิดามารดาและวัยรุ่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการความคิดทางการเมืองและแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในครอบครัว” โดย ดร.มติ ทาเจริญศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่เผยแพร่ไว้ใน วารสารพฤติกรรมศาสตร์ ปีที่ 29 ฉบับที่ 1 มกราคม 2566 ของสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ซึ่งมีการศึกษาวิเคราะห์และสะท้อนปัญหาไว้ รวมถึงมีการเสนอ “แนวทางเพื่อลดความขัดแย้งในครอบครัว”

สังคมไทยยุคนี้ “แนวทางเรื่องนี้ก็สำคัญ”

ทาง ดร.มติ อาจารย์สาขาสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ สะท้อนถึงที่มา และความสำคัญ ของ “กรณีปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวจากการเมือง” ไว้ว่า… ในยุคปัจจุบันสังคมไทยประสบกับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงทุกภาคส่วน แม้กระทั่งสถาบันครอบครัวก็เกิดปัญหาอย่างรุนแรง และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยพบกรณีที่ บางครอบครัวถึงขั้น “ตัดความสัมพันธ์ทางสายเลือด” เพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน!! ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีหลาย ๆ หน่วยงานออกมาเสนอทางออกให้กับกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ดูเหมือนว่า…ในทางปฏิบัตินั้นยังทำได้ยาก??…

ข้อมูลงานวิจัยดังกล่าวข้างต้น ระบุไว้ว่า… จากการศึกษาทบทวนเกี่ยวกับ แนวคิดที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการความคิดทางการเมือง (Political Development) ทำให้ปรากฏภาพพัฒนาการเรื่องต่าง ๆ 4 เรื่อง ได้แก่… 1.รู้จักแต่ไม่เข้าใจ (Intuitive thinking) ที่มักพบได้ในกลุ่มเด็กช่วงอายุ 13 ปี ที่อาจจะยังไม่สามารถเข้าใจและแยกแยะสิ่งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้อย่างชัดเจน 2.เข้าใจตามที่รับรู้ (Primitive realism) ที่มักพบในช่วงอายุ 13-15 ปี ซึ่งในช่วงวัยนี้จะเริ่มทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลกของการเมืองจากสิ่งที่สังเกตเห็นและจับต้องได้ แต่ยังไม่เข้าใจโครงสร้างการเมืองที่ซับซ้อน

3.ก่อเกิดแนวคิดทางการเมือง (Construction of political order) ในขั้นนี้จะพบพัฒนาการในช่วงที่เยาวชนกำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น หรือช่วงอายุ 15-18 ปี โดยจะเริ่มทำความเข้าใจแนวคิดต่าง ๆ ทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะเชิงนามธรรม เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ทำกิจกรรมการเมืองแต่ละฝ่าย หรือเริ่มเข้าใจรายละเอียดที่เกี่ยวข้องมากขึ้น แต่ก็ยังขาดความโน้มเอียงทางการเมือง เพราะยังอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวความรู้ความเข้าใจทางการเมืองในเชิงลึก ซึ่งเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเด็ก ๆ หรือเยาวชน จะยังคงมองประเด็นทางการเมืองต่าง ๆ ในแบบแยกส่วนกัน 

และอีกพัฒนาการคือ… 4.อุดมการณ์การเมือง (Ideological thinking) ที่ขั้นนี้จะพบในเยาวชนช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยกลุ่มนี้จะเข้าใจความคิดทางการเมืองแบบนามธรรมและเข้าใจสภาพสังคมกับการเมืองแบบองค์รวมได้ เพราะวัยรุ่นสามารถที่จะคิดได้อย่างเป็นระบบ แยกแยะประเด็นที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องได้ รวมถึงสามารถเข้าใจแนวคิดทางการเมืองที่ลึกซึ้งได้ ซึ่งเมื่อเกิดความเข้าใจแนวคิดต่าง ๆ ทางการเมือง ก็เกิดความโน้มเอียงทางการเมือง รวมถึงเกิดอุดมการณ์การเมืองของตนขึ้นได้ …เหล่านี้เป็น “ระดับขั้น”  ที่งานวิจัยโดย ดร.มติ ทาเจริญศักดิ์ สะท้อนไว้ ซึ่งช่วยให้เห็นพัฒนาการเรื่องนี้…

“พัฒนาการความคิดทางการเมืองของเด็กและวัยรุ่นนั้น ในช่วงแรกความคิดและความเชื่อทางการเมืองมักเกิดจากการถูกครอบงำโดยผู้ใหญ่ ต่อมาเด็กได้ตัดสินใจก่อร่างโครงสร้างความคิดทางการเมืองของตนเองขึ้น โดยมักจะเริ่มต้นจากการที่ไม่สนใจการเมือง นำไปสู่การทำความเข้าใจทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม และจากเดิมที่มีแนวคิดแยกส่วนก็พัฒนาสู่การเชื่อมโยงแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นความโน้มเอียงทางการเมืองของตนเองขึ้น” …เป็นหลักใหญ่ใจความอีกส่วนจากบทวิเคราะห์ทางวิชาการจากงานวิจัยดังกล่าว ที่ “ชวนให้ตระหนัก-ระมัดระวัง”…

หาก “คนต่างรุ่น” ต่างก็ “คิดคนละอย่าง”

“ในบ้าน” นี่ “ต้องลดช่องว่างการคิดต่าง”

ควร “ทำเช่นไร??” ตอนต่อไปมาดูกัน…