“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” วันนี้แวะเวียนมาพูดคุยกับ 2 ตัวแทนนักศึกษา รั้ว มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กับการสะท้อนมุมมองนโยบายที่น่าสนใจและพลังคนรุ่นใหม่ที่อยากเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยเสียงของตัวเอง

New Voters ผลักประเทศเดินหน้า

“ธีรภัทร์ มอญดะ” นักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ และ “ภัทราพร ส่งเสริม” นักศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดใจ แม้จะคาดเดาได้ยากสำหรับพลังของคนรุ่นใหม่ต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่เชื่อว่าเสียงของ New Voters มีผลต่อทิศทางข้างหน้าทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างแน่นอน

“ประเทศไทยเดินหน้าไปทางไหน พลังคนรุ่นใหม่จะมีผลไหมคงคาดเดาได้ยาก แต่เราหวังและคาดหวังว่าจะขับเคลื่อนประเทศได้อย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าจะน้อยหรือมาก ทุกคนรู้ว่ามันก็ต้องค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป แต่ทิศทางมันย่อมต้องไปในทางที่ดี เพราะเด็กและเยาวชนยุคใหม่ให้ความสนใจในเรื่องการเมือง อย่างพื้นที่กรุงเทพฯ เชื่อว่าพลังเด็กรุ่นใหม่มีทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านการช่วยกันสื่อสาร สร้างแรงกระเพื่อมในอินเทอร์เน็ต ซึ่งกลุ่มผู้ใหญ่ก็ต้องให้ความสนใจกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น” ธีรภัทร์

“แม้เลือกตั้งครั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนนัก แต่รอบนี้มี New Voters จำนวนมาก ที่ไม่เคยเลือกตั้งมาก่อน ซึ่งกลุ่มนี้มีความมุ่งมั่นจะออกมาเลือกตั้ง” ภัทราพร

ชงคมนาคมทั่วถึง แก้เกษตรผูกขาด ค่าครองชีพเด็กจบใหม่

ตัวแทนคนรุ่นใหม่ยังร่วมกันเสนอนโยบายที่อยากเห็น โดย ภัทราพร มองความสำคัญเรื่องการคมนาคม ไม่ควรกระจุกแค่กรุงเทพฯ หลาย ๆ พื้นที่การเดินทางลำบากมาก จะไปในแต่ละจุดต้องใช้เงินมากมาย ยิ่งถ้าไม่มีรถส่วนตัว อยากให้ดีขึ้นกว่าเดิมและเข้าถึงทุกคนโดยเฉพาะในต่างจังหวัด เพราะตอนนี้ในพื้นที่ต่างจังหวัดบางพื้นที่แค่รถสองแถวยังไม่มี ทำให้ต้องซื้อรถส่วนตัวเพื่อที่จะใช้เดินทางเข้าเมือง เกิดหนี้สินก้อนใหญ่ สร้างความลำบากระยะยาว อีกนโยบายที่อยากให้เกิดขึ้นคือ เรื่องของการเกษตร ชาวไร่ชาวนาโดนกดขี่จากนายทุนคนกลางที่คุมตลาดได้ มีอำนาจเหนือตลาด ทั้งที่ประเทศเราขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศเกษตรกรรม ส่งออกสินค้าเกษตรมากมาย แต่ทำไมเกษตรกรยังเป็นหนี้ และจนอยู่ อยากให้ผลักดันตรงนี้

นอกจากนี้ ภัทราพร มองเรื่องค่าครองชีพ “เงินเดือน” ก็ควรปรับเปลี่ยน เพราะทราบกันว่า คนจบปริญญาตรีเฉลี่ยคงที่อยู่ที่ 15,000 บาท มานานแล้ว ค่าตอบแทนที่เหมาะสมจะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตและสร้างกำลังใจให้สร้างสรรค์อะไรดี ๆ ให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม

“เงินเดือนเพิ่มก็จะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น คนรุ่นใหม่เชื่อว่าเราสามารถช่วยองค์กรทำเงินได้มากกว่าเงินเดือน ช่วยหาช่องทางสร้างสรรค์อะไรดี ๆ ให้องค์กร สร้างยอดขาย สร้างกำไรให้องค์กรได้ หากเงินเดือนขั้นต่ำที่นิ่งมานานเพิ่มขึ้นได้ กำลังใจในการเรียนและทำงานก็เพิ่มขึ้น ต้องยอมรับว่า เงินเป็นปัจจัยหลักในการใช้ชีวิตของแต่ละคน ที่ผ่านมาติดนโยบายในภาพรวมอยู่ว่าเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท เงินเดือนผู้ที่จบการศึกษาปริญญาตรีทั้งประเทศ ก็เฉลี่ยอยู่ตรงนี้มานานมากแล้ว”

ขณะที่ ธีรภัทร์ มองสวัสดิการเด็กทั่วหน้า และสวัสดิการผู้สูงอายุ ในฐานะคนรุ่นใหม่มองเรื่องนี้ว่า เป็นนโยบายที่ควรจะมีเพื่อช่วยสร้างเด็กที่เป็นอนาคตของชาติและไม่ทอดทิ้งผู้สูงวัย คือหลายพรรคการเมืองแม้พูดเรื่องนี้ แต่กลับยังไม่เกิดขึ้น ขับเคลื่อนได้ช้า เหมือนห่วงหน้าพะวงหลัง อยากให้มองความสำคัญ

“การศึกษา”เชื่อมโยงหลักสูตรเอื้อค้นหาตัวเอง

การที่ประเทศไทยจะพัฒนาและเดินหน้า ปฏิเสธไม่ได้ว่า “คีย์เวิร์ด” สำคัญคือนโยบาย “การศึกษา” โดยเฉพาะ “หลักสูตร” ที่ต้องเชื่อมโยงกันจะทำให้คนรุ่นใหม่พัฒนาความรู้และความสามารถตามความฝันได้เร็วและง่ายขึ้น

ภัทราพร ยกตัวอย่าง เหมือนโรงเรียนมัธยมปลายบางแห่ง มีการสอนเฉพาะทางในสาขาของปริญญาตรี ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือเรียกว่าเรียน Pre-degree ปริญญาตรีล่วงหน้า ข้อดีคือทำให้ค้นหาตัวเองได้ก่อนว่าชอบด้านนี้หรือไม่ หากไม่ชอบจะได้เลือกคณะที่ชอบได้ทัน

“อยากให้มีนโยบายการศึกษาที่เชื่อมกันมากขึ้นในระดับมัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัย” ตัวแทนคนรุ่นใหม่เผยความรู้สึกถึงนโยบายการศึกษาในฝัน

ส่วน ธีรภัทร์ มองการศึกษาไทย นโยบายดีแต่เวลาทำจริงก็อีกเรื่อง ดังนั้น จึงอยากเห็นนโยบายที่ปฏิบัติได้จริงและมีแนวคิดที่เน้นการพัฒนาคนรุ่นใหม่แบบต่างประเทศ

“เน้นให้ทุกคนค้นพบทางของตัวเองในแนวทางของเขา ไม่เน้นแต่เรื่องเรียน พยายามให้มีกิจกรรมที่เขาสนใจต่างรูปแบบกัน เพื่อค้นหาตัวเอง”.