พรรคประชาชาติ ถือเป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ ที่จดทะเบียนเข้าสู่สนามการเมืองครั้งแรกในปี 2562 แต่ไม่ใช่ “พรรคเฉพาะกิจ” ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นนั่งร้านให้กับเผด็จการ เป็น “นายกรัฐมนตรี” แต่เป็นพรรคการเมือง ที่ต้องการให้เป็นทางเลือกของคนในประเทศ และมีจุดแข็งคือมีนักการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มาจาก “กลุ่มวาดะห์” เป็น “สมาชิก” จำนวนหนึ่ง และมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม เป็นหัวหน้าพรรค และมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเลขาธิการพรรค

แม้จะเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ “ประชาชาติ” เป็นพรรคการเมืองที่มีความโดดเด่น ทั้งการนำปัญหาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่เกิดขึ้นในประเทศอภิปรายในสภาอย่างเกาะติด รวมทั้งการลงพื้นที่ของ ส.ส. และ “ผู้บริหารพรรค” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบถึงทุกพื้นที่ “ดูแล” ทุกปัญหา และทุกชนชั้น ยึดหลักสังคมพหุวัฒนธรรม ในการอยู่รวมกันของประชาชนทุกศาสนาอย่างเท่าเทียม ทำให้ประชาชาติยังสามารถครองพื้นที่ และอยู่ในหัวใจของคนส่วนใหญ่ ตลอดเวลา 4 ปี ของการเป็น “พรรคร่วมฝ่ายค้าน”

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชาติ ส่งผู้สมัครลงทั้ง 12 เขตเลือกตั้ง ส.ส.เก่าเพียงคนเดียวที่มีการย้ายพรรคคือ “นายอนุมัติ ซูสารอ” ส.ส.เขต 3 ปัตตานี ที่ย้ายไปอยู่กับพลังประชารัฐ นอกนั้นยังอยู่กับประชาชาติอย่างเหนียวแน่นทั้ง 5 คน ส่วนผู้สมัครใหม่อีก 7 คน ขณะนี้พรรคอยู่ระหว่างการทำโพล เพื่อที่จะได้บุคคลที่ดีที่สุด และประชาชนในพื้นที่ให้การสนับสนุน ซึ่งจะมีการ “ประกาศรายชื่อ” ในเร็ว ๆ นี้

เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ “ประชาชาติ” ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก จะไม่ส่งผู้สมัครทั้ง 400 เขต แต่จะส่งในเขตที่มี “คะแนนเสียง” เช่น ในภาคใต้ประมาณอยู่ที่ 20 เขต ส่วนในภาคอื่น ๆ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งเราคาดหวังว่า “ประชาชาติ” จะได้ ส.ส.ทั้งระบบเขต และบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 20 ที่นั่ง

ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่เคยมี ส.ส. สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อการเลือกตั้งปี 2548 มาแล้วถึง 11 ที่นั่งจาก 12 ที่นั่ง และตกต่ำที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ได้ ส.ส.เพียง 1 ที่นั่งจากเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดปัตตานี ในการเลือกตั้งครั้งนี้ “ประชาธิปัตย์” เตรียมความพร้อมมาดี มีการถอดบทเรียนจากความพ่ายแพ้เพื่อปิดจุดอ่อน และ “เสริมจุดแข็ง” อดีต ส.ส.ที่มีการส่งลงสมัครในครั้งนี้มีเพียง 2 คน นั่นคือ “ณรงค์ ดูดิง” ลงในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่ 3 ยะลา และ “เจะอามิง โต๊ะตาหยง” ลงสมัครในเขตเลือกตั้งที่ 5 นราธิวาส ซึ่งเป็น อดีต ส.ส. หลายสมัยที่ต่างเสียที่นั่งให้กับประชาชาติทั้งคู่ ส่วนผู้สมัครที่เหลืออีก 10 เขตเลือกตั้ง “ประชาธิปัตย์” คัดสรรจากเลือดใหม่หลายคนไม่เคยลงเล่นการเมืองไม่ว่าจะเป็น “ท้องถิ่น” หรือ “ระดับชาติ” เช่น “เมธี อรุณ” (ลาบานูน) ที่เป็นศิลปินที่เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ

“นิพนธ์ บุญญามณี” รองหัวหน้าพรรคและผู้อำนวยการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่าพรรคมีความมั่นใจว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคจะได้ ส.ส.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ต่ำกว่า 5 คน โดยเฉพาะหลังจากที่พรรคได้เสนอยุทธศาสตร์ การแก้ปัญหาความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยนโยบาย “สันติภาพ” สู่ “สันติสุข” มีเสียงตอบรับและสนับสนุนจากประชาชนทุกภาคส่วน และแม้แต่กลุ่มผู้เห็นต่างก็เห็นด้วย โดยมีภาคประชาสังคมและภาคประชาชน ขอมีส่วนร่วม ในยุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นอย่างคึกคัก

ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 “ภูมิใจไทย” ได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง จากเขตเลือกตั้งที่ 2 ปัตตานี “พลังประชารัฐ” ได้ ส.ส.เขต 1 และเขต 2 นราธิวาส และเขต 1 ยะลา แต่ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ ส.ส.ของ “พลังประชารัฐ” ถูก “รวมไทยสร้างชาติ” ใช้ “พลังดูด” ไป 2 เขต คือ เขต 1 ยะลา และเขต 1 นราธิวาส การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคพี่พรรคน้อง จึงมีการเปิดศึกแย่งคะแนนเสียงกันเอง และมีโอกาส
ที่จะเสียที่นั่งสูง วันนี้ “กระแสลุงตู่” ไม่แรงอย่างปี 2562 ส่วน “กระแสลุงป้อม” ยิ่งน้อยกว่า ส่วน “ภูมิใจไทย” กระแสไม่เอา “กัญชาเสรี” กลายเป็น “ขวากหนาม” ที่ทำให้ผู้สมัครยากในการก้าวข้ามไปสู่เส้นชัย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของ “ประชาชาติ” ในการที่จะได้ ส.ส.มากขึ้น และเป็นโอกาสของ “ประชาธิปัตย์” ที่จะได้แจ้งเกิดอีกครั้ง.

ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล