โดยเกิดกรณี ชาวอินเดียในไทยถูกเพื่อนชาติเดียวกันยกพวกรุมทำร้าย!! ซึ่งผู้ที่ถูกทำร้ายได้เข้าแจ้งความโดยให้การว่า…สาเหตุที่ถูกเพื่อนร่วมชาติทำร้ายนั้น มีชนวนเหตุจากการค้าขายทับพื้นที่กัน โดยชาวอินเดียกลุ่มที่ยกพวกมาทำร้ายเคยโทรศัพท์มาข่มขู่ก่อนแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. ซึ่งถึงแม้ไม่ได้เป็นเหตุร้ายแรงถึงชีวิต แต่ก็เป็นอีกครั้งที่ฉายภาพ “ปรากฏการณ์”…

ปรากฏการณ์กรณี “ชาวอินเดียในไทย”

“ชาวอินเดียทำอาชีพในไทย” มีมานาน

และก็ “มีพัฒนาการซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ”

ทั้งนี้ เหตุทำร้ายกันดังกล่าวข้างต้นนั่นก็ว่ากันไปตามกฎหมายไทย อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ชาวอินเดียในไทยนี่สังคมไทยก็ควรต้องสนใจ โดยเฉพาะกับการที่มีพัฒนาการจนปัจจุบัน “ชาวอินเดียในไทย” เป็น “กลุ่มประชากรทางสังคม” อีกกลุ่มที่ “มีบทบาทยึดโยงชีวิตคนไทยในหลายแง่มุม” โดยหนึ่งในมุมที่คนไทยเคย “รู้จัก-คุ้นชิน” อย่างดี ก็คือภาพของการเป็น “นายทุนเงินกู้นอกระบบ” หรือที่ยุคนี้บางคนเรียกติดปากว่า“อาบังเงินด่วน” ซึ่งเป็นชาวต่างชาติสัญชาติอินเดียที่มาอยู่ในเมืองไทยนานแล้ว โดยทำมาหากินด้วยการ “ปล่อยเงินกู้” ซึ่งระยะหลัง ๆ ก็พ่วงมาด้วยกรณี “แก๊งทวงหนี้” ด้วย… 

เคยปรากฏเป็นกระแสอื้ออึงครึกโครม!!…

ทำนองเดียวกับ “แก๊งเงินกู้ดอกเบี้ยโหด”

เกี่ยวกับ “ที่มา” ของ “แขกปล่อยเงินกู้” หรือที่มีพัฒนาการเป็น “อาบังเงินด่วน” นั้น กรณีดังกล่าวนี้ก็มีบทความวิชาการงานวิจัยฉายภาพไว้ เป็นบทความชื่อ “หนี้นอกระบบกับความเป็นธรรมทางสังคม” โดย ดร.สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล นักวิชาการ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้อธิบายถึงกลุ่มแขกปล่อยเงินกู้ในไทยไว้ว่า… เป็นหนึ่งในประเภทของ “เจ้าหนี้นอกระบบ” ที่โดยส่วนใหญ่จะ ผันตัวเองมาจากการเป็นแขกขายสินค้า-ขายสินค้าเงินผ่อนตามหมู่บ้าน ที่เก็บหอมรอมริบและพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็น ผู้ให้กู้ยืมเงิน-เจ้าหนี้เงินกู้ แทนอาชีพขายสินค้าแบบเดิม ๆ…

นี่เป็น “ที่มา” ของ “แขกปล่อยเงินกู้”…

ที่มีเกิดขึ้นในเมืองไทยมาเนิ่นนานแล้ว

ข้อมูลจากงานวิจัยโดย ดร.สุรางค์รัตน์ ยังฉายภาพถึง “วิธีการ-ปัจจัย” ในการที่แขกเงินกู้จะปล่อยเงินให้กู้ยืมไว้ว่า… โดยปกติแล้วส่วนใหญ่แขกปล่อยเงินกู้จะปล่อยกู้โดยดูจากลูกหนี้เดิมที่ตนเองเคยขายสินค้าเงินผ่อนให้ และโดยทั่วไปแล้ว อัตราดอกเบี้ยของแขกให้กู้ยืมเงินก็จะมีอัตราสูงไม่ต่างจากแก๊งหมวกกันน็อก หรืออยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ต่อ 24 วัน

อย่างไรก็ตาม ในด้านความสัมพันธ์นั้นกลุ่มแขกปล่อยให้กู้ยืมเงินมักแสดงความเป็นมิตรกับลูกหนี้มากกว่าแก๊งหมวกกันน็อก โดยเฉพาะในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ นอกจากนี้ เมื่อมีการตกลงทำสัญญาเงินกู้กัน แขกปล่อยเงินกู้ยืมมักจะเลือกใช้วิธีกำหนดให้มีบุคคลค้ำประกันการกู้ ส่วน รูปแบบการปล่อยกู้นั้นจะมีทั้งปล่อยกู้เป็นเงินสด ทอง เครื่องใช้ไฟฟ้า…

นี่เป็น “ปรากฏการณ์อาบังเงินด่วน”…

กับการ “เกิดขึ้น-ดำรงอยู่-มีพัฒนาการ”

ที่ไม่ว่าจะอย่างไรนี่ก็ใช่ “หนี้นอกระบบ!!”

ทั้งนี้ กับเส้นทาง “แขกเงินกู้ในไทย” นี้ ทาง รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ที่ปรึกษาศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เคยสะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… ต้นตอชาวอินเดียที่มาอยู่ในไทยกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะ ขายถั่ว ขายสินค้าเงินผ่อน ฯลฯ หรือ ปล่อยเงินกู้นอกระบบ ล้วน “มีขบวนการจัดการโดยนายหน้า” ซึ่งการเข้ามาในเมืองไทยก็มีเป้าหมายเหมือนคนจีนสมัยก่อน…ที่ตัดสินใจอพยพมาที่ไทยเพราะ…

ต้องการ “หนีความยากจนในประเทศ”

“คนกลุ่มนี้จะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ ขยันทำมาหากิน มีนิสัยประหยัด โดยแขกที่เข้ามาในไทยจะมีอยู่ 2 ยุค นั่นคือ ยุคแรกเป็นพวกที่เข้ามาตั้งรกราก และยุคที่ 2 เป็นพวกที่เข้ามาเพื่อลงทุน” …รศ.ดร.สมชาย ระบุไว้

ส่วน “ปัจจัย” ที่ทำให้ “แขกปล่อยเงินกู้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในสังคมไทย” นั้น กรณีนี้ รศ.ดร.สมชาย สะท้อนไว้ว่า… จากการที่คนกลุ่มนี้พำนักอาศัยอยู่ในไทยมานาน จึงทำให้ รู้ว่าลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทยทำให้เป็นหนี้ได้ง่าย และก็ รู้ว่าคนไทยต้องกู้ยืมเงินนอกระบบเพื่อดำรงชีวิตเพราะเข้าไม่ค่อยถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ทำให้คนกลุ่มนี้ เห็นช่องทางจากวิกฤติหนี้ของคนไทย ซึ่งก็ทำให้มีธุรกิจเงินกู้นอกระบบของคนต่างชาติชาวอินเดียเกิดขึ้นในไทย และก็เกิดขึ้นมากตามความต้องการกู้เงินในไทย …นี่เป็น “ปรากฏการณ์-พัฒนาการ” ของอีกกลุ่มประชากรทางสังคมในไทยกลุ่มนี้

ก็ชวนคิด…“เจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นหรือไม่??”

ต่อไป…“ความเป็นกลุ่มแก๊งจะเช่นไร??”

หรือ…“ก็เฉกเช่นแก๊งที่อื้ออึงตอนนี้??”.