ในไทยเราก็อบอวลไปด้วยบรรยากาศ “เทศกาลแห่งรัก”… ซึ่งคู่รักทั้งชายหญิง และคู่รักทุกเพศสภาพ ก็มักจะเลือกใช้ช่วงเวลานี้ “แสดงความรัก-บอกความในใจ” ไปจนถึง ตกลงปลงใจครองคู่กัน อย่างไรก็ตาม ในยุคปัจจุบันนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “กรณีรักไม่สมหวัง” หรือ “กรณีผิดหวังความรัก” นั้น…เป็นอีกหนึ่ง “ชนวนเหตุสำคัญ” ที่ทำให้เกิด “เหตุการณ์ที่น่าเศร้า-น่าสลด” อยู่เนือง ๆ ซึ่งก็มีทั้งการ “ยุติรักด้วยความรุนแรง” ไปจนถึง “คร่าชีวิตเพราะความรัก”…

รักในมุมนี้ “เป็นปัญหาสังคมหนักขึ้น”

จากการที่ “ขาดภูมิคุ้มกันทางอารมณ์”

เมื่อ “รักไม่สมหวัง” ก็ถึงขั้น “ขาดสติ!!”

ทั้งนี้ เนื่องใน “เทศกาลแห่งความรัก” ปี 2566 นี้ ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” อยากเชิญชวนผู้คนในสังคมไทยให้พิจารณาเรื่องรักในมุมดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะกับ “ผู้ที่ผิดหวังความรัก” โดย ณ ที่นี้มี “คำแนะนำ-แนวทาง” เกี่ยวกับการ “สร้างภูมิคุ้มกันชีวิต” มาสะท้อนเน้นย้ำกันไว้ ซึ่งนับวันการมีภูมิคุ้มกันชีวิตยิ่ง “เป็นสิ่งสำคัญ” เมื่อพบเจอความผิดหวัง-ไม่สมหวัง จะช่วยให้ “ไม่ขาดสติ” ไม่ทำการใด ๆ โดยไม่ยั้งคิดจนทำให้เกิดกรณีน่าเศร้าขึ้น และจะเป็นการ “เสริมภูมิคุ้มกันรัก” ด้วย ซึ่ง ผศ.ดร.อรพิน สถิรมน หัวหน้าสาขาจิตวิทยาคลินิก ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สะท้อนไว้ว่า…

จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับชีวิตผู้คนในปัจจุบันมีปัจจัยทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้น นี่ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลาย ๆ คนมีปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นได้ “โดยไม่รู้ตัว?!?!?” ซึ่งทาง ผศ.ดร.อรพิน ระบุไว้ถึงปัญหาที่อาจซ่อนอยู่ ว่า… จะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อคน ๆ นั้นถูกทำให้กระทบกระเทือนทางอารมณ์ ทางความรู้สึก ซึ่งอาจแสดงออกผ่านการกระทำที่ขาดสติ-ขาดความยั้งคิด เนื่องจากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ โดยผู้ที่จะได้รับผลกระทบ หรือกลุ่มเสี่ยงที่มักจะตกเป็น “เหยื่อ” นั้น ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้น บุคคลใกล้ชิด เช่น คู่ครอง คู่รัก เป็นต้น นี่ก็เพราะคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่ผู้ขาดสติจนก่อเหตุร้าย ๆ สามารถใช้ “ความรุนแรง” ได้โดยง่าย คนกลุ่มนี้จึงอาจ “เป็นเหยื่ออารมณ์โดยไม่ทันตั้งตัว!!”

สำหรับประเด็นปุจฉาน่าพินิจคือ…เหตุใดจึงมีการ “หยุดพิษรักแรงหึงด้วยการฆ่า” กันมากขึ้น?? ซึ่ง ผศ.ดร.อรพิน ก็ไขปุจฉาไว้ว่า… มีปัจจัยจาก 3 เรื่องหลัก คือ… 1.การเลี้ยงดู 2.สภาพแวดล้อมทางสังคม 3.ค่านิยม โดยส่วนใหญ่…เมื่อวิเคราะห์จากหลาย ๆ เหตุการณ์น่าเศร้าที่เกิดขึ้น… มักจะพบข้อมูลปัจจัยคือ ผู้ก่อเหตุถูกเลี้ยงดูหรือมีพื้นฐานเติบโตขึ้นมาโดยพบเห็นการใช้ความรุนแรงเป็นประจำ จนเกิดความรู้สึกที่ “ชาชิน-เคยชิน” กับการ “ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา” และตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยวิธีที่รุนแรง อย่างการ “ทำร้าย” แม้แต่คนที่ตนรัก ไปจนถึงขั้นลงมือ “ฆ่า” ซึ่งบางคนก็มีความคิดที่ว่า…

“เพื่อไม่ให้ใครได้ครอบครองแทนตน”

รักร้ายเช่นนี้ ยุคนี้ดูจะยิ่งโหดขึ้น!!

ทั้งนี้ การจะ “แก้ไข-ป้องกันเรื่องร้ายจากรักร้าย” ทางนักวิชาการสาขาจิตวิทยาชี้ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้ว่า… ทำได้ด้วยการเสริมสร้างวุฒิภาวะทางอารมณ์ โดยระดับบุคคล…อาจ “ฝึกควบคุมอารมณ์” โดยเฉพาะยามโกรธ และต้อง “คิดก่อนทำให้มากขึ้น” เช่น คิดถึงผลกระทบที่ครอบครัวต้องได้รับจากการกระทำให้มาก ๆ ส่วนระดับครอบครัว…พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกหลาน “ต้องไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา” ขณะที่ระดับสังคม…ก็ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา โดย “สร้างสภาพแวดล้อมที่ไร้ความรุนแรง” เช่น ไม่สร้างถ้อยคำหรือไม่แสดงพฤติกรรมที่รุนแรงออกมาผ่านสื่อต่าง ๆ

นอกจากนี้ ผศ.ดร.อรพิน ยังได้แนะนำ “วิธีลดความเสี่ยง” จากปัญหา “หึงมรณะ-ฆ่าเพราะรัก” ให้กับฝ่ายที่อาจเสี่ยงเป็นเหยื่อ โดยระบุไว้ว่า… กรณีจะจบความสัมพันธ์ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือต้องพยายามจบแบบด้วยดี โดยเมื่อใครที่คิดจะจบความสัมพันธ์กับใคร การบอกเลิกต้องพูดอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรง ห้ามโทษฝ่ายตรงข้ามเด็ดขาด และก็ต้องไม่ทำให้ผู้ที่ถูกบอกเลิกยังมีความหวังด้วย อีกทั้งยุคโซเชียลเช่นนี้ เมื่อเลิกกันแล้ว และไปพบรักใหม่แล้ว ก็ไม่ควรโพสต์ให้คนเก่าเห็น เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดเหตุรุนแรงได้!! …นี่เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการ “เลี่ยงเหตุร้ายจากรักร้าย!!”…

“ป้องกันโศกนาฏกรรมรักทำลายชีวิต”

ทั้งกับ “ฝ่ายเลิกรัก” และ “ฝ่ายที่ยังรัก”

ทั้งนี้ เรื่อง ภูมิคุ้มกันความรัก นั้น เรื่องนี้ ในทางพุทธศาสนา ก็ได้มีการชี้ทางไว้ด้วย ซึ่งในส่วนนี้ก็ “น่าพินิจพิจารณา” เช่นกัน โดยมีแง่มุมในทางพุทธศาสนาที่ ท่าน ว.วชิรเมธี เคยเผยแผ่ผ่านทางบทความธรรมไว้ เกี่ยวกับหลักธรรมที่ พระพุทธเจ้า ทรงแสดงในวันมาฆบูชา ที่เป็น “หลักธรรมนำไปสู่ความรักอันเป็นสากล” ซึ่งหลักใหญ่ใจความคือ… ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม ชำระจิตให้บริสุทธิ์ โดยหากพิจารณาในรายละเอียด ใน “โอวาทปาฏิโมกข์” ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้…ก็ได้มีการ “ชี้ทางให้มนุษย์รู้จักอยู่ร่วมกันด้วยความรัก”…นี่เป็น “รักในมิติที่อิงหลักธรรม”

“สร้างภูมิคุ้มกันชีวิต-เสริมภูมิคุ้มกันรัก”

นี่ “สำคัญ” ไม่แพ้การรัก-ไขว่คว้าหารัก

“ภูมิคุ้มกันดี” ก็จะ “ไม่เกิดโรครักร้าย”.