ท่ามกลางการไหลบ่าของอดีต ส.ส.หลายพรรค ที่ขอร่วมเดินทางไปกับกลุ่มการเมืองที่ใช้สัญลักษณ์ “สีน้ำเงิน” ด้วยจุดเด่นพูดแล้วทำ ความเป็นเอกภาพของพรรค ความสำเร็จ จากการบริหารงาน ในหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งการจัดการปัญหาโควิด-19 การฟื้นฟูการท่องเที่ยว ให้กลับมาคึกคักเหมือนในอดีตที่ผ่านมา รวมถึงการดูแลสาธารณูปโภคด้านต่าง ๆ
แต่ที่กำลังสร้างความฮือฮาคือ บทสัมภาษณ์พิเศษ “นายอนุทิน” กับ China Media Group (CMG) สื่อหลักของจีน ซึ่งได้รับความสนใจจาก โลกออนไลน์จีน และได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง นับต้้งแต่เดือน ม.ค. 2566 โดยรองนายกฯ ต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน ที่เดินทางเข้าไทยชุดแรก หลังจีนใช้มาตรการเข้มงวดโควิดกว่า 3 ปี ซึ่งการต้อนรับด้วยตนเองที่สนามบินในครั้งนั้น ก่อให้เกิดการรับชมข่าวที่เกี่ยวข้องของเขา กว่า 490 ล้านครั้ง ซึ่งถือว่าได้รับความนิยมและขึ้นท็อปฮิต บนโลกออนไลน์จีน
โดย “นายอนุทิน” ได้เปิดเผยเหตุผลถึงการต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนอย่างอบอุ่น โดยบางช่วงบางตอนระบุว่า “ผมมีเชื้อสายจีน” โดยคุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่า ตายาย ล้วนมาจากประเทศจีน และตนเองก็ยังมีชื่อจีน ที่บ้านก็ยังพูดภาษาจีน ทำให้รู้สึกดีทุกครั้งที่ได้พบปะคนจีนรู้สึกถึงความเป็นพี่น้อง และคนจีนเองก็สนับสนุนไทยในหลาย ๆ ด้าน”
ทำให้ประเด็นคำค้นหาและแฮชแท็ก ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “รองนายกฯ ไทยมีสายเลือดจีน” เป็นหนึ่งในคำค้นหายอดนิยมบน Weibo มียอดดู รวมกว่า 70 ล้านครั้ง นอกจากนี้ ยังมีคำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับการให้สัมภาษณ์ดังกล่าวของ “นายอนุทิน” ที่กลายเป็นกระแสบน Weibo สังคมออนไลน์จีน รวมทั้งประเด็น “รองนายกฯ ของไทยรู้สึกขนลุก” เมื่อรับทราบว่ากลายเป็นกระแสบนสังคมจีน โดยมียอดรับชมรวมทุกคำค้นหาที่เกี่ยวข้องที่กลายเป็นกระแส รวมกว่า 100 ล้านครั้ง
ไม่เพียงแต่ได้รับความสนใจบน Weibo เท่านั้น บนสื่อออนไลน์ แพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่ทาง CMG ได้เผยแพร่การสัมภาษณ์พิเศษที่เกิดขึ้น เช่น แพลตฟอร์มโต่วอิน (Douyin–TikTok จีน) แพลตฟอร์ม Kuaishou อีกหนึ่งแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นยอดนิยมในจีน และ Bilibili (B site) แพลตฟอร์มวิดีโอออนไลน์ฮิตในกลุ่มจีนรุ่นใหม่ ยังมียอดผู้ชมในแต่ละแพลตฟอร์มสูงกว่า 5 ล้านคน
เนื้อหาการให้สัมภาษณ์พิเศษของ “นายอนุทิน” โดย CMG ยังถูกนำเสนอ ในภาษาอื่น ๆ อาทิ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย อาหรับ ญี่ปุ่น มองโกเลีย เบงกาลี สิงหล อูรดู เวียดนาม ลาว อินโดนีเซีย เมียนมา แอลเบเนีย บัลแกเรีย เยอรมัน โปรตุเกส ยูเครน เช็ก โปแลนด์ อิตาลี โดยได้รับการเผยแพร่บน YouTube, Facebook, Twitter รวมทั้งถูกเผยแพร่ในบัญชีที่เกี่ยวข้องของ โซเชียลมีเดีย ในแต่ละประเทศ เช่น vkontakte (ไซต์เครือข่ายสังคมที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซีย)
เมื่อผู้สื่อข่าวถามรองนายกฯว่า ได้คาดการณ์มาก่อนหรือไม่ว่าจะได้รับการตอบรับเช่นนี้ นายอนุทิน กล่าวตอบว่า “ตอนที่ทำ ไม่ได้คาดหวังอะไร ผมพูดจากหัวใจ จำได้ว่าเมื่อต้นเดือนมกราคม ผมไปที่สนามบินเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีน สื่อจีนบางสำนักสัมภาษณ์ผม และบอกว่าใกล้จะถึงวันตรุษจีนแล้ว ช่วยอวยพรตรุษจีน เป็นภาษาจีน ผมก็ทำให้เท่าที่ผมจะทำได้ แต่ผมก็ไม่นึกว่าการสื่อสารของผมมันจะไปไกลขนาดนี้ ไม่คิดว่า จะมีคน 490 ล้านคนเห็นข่าวนี้ ได้ยินแบบนั้น ขนลุกเลย”
ต้องถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าชื่นชม เพราะในช่วงที่ ประเทศจีนเปิดประเทศ หลายชาติต่างคาดหวัง จะมีนักท่องเที่ยวจากมหาอำนาจเอเชียเดินทางเข้าประเทศ เพื่อช่วยสร้างรายได้ สร้างความสัมพันธ์อันดี ในฐานะมิตรประเทศ ซึ่งการที่ “นายอนุทิน” ในฐานะตัวแทนฝ่ายบริหาร สื่อสารถึงคนจีน ด้วยความจริงใจ จนกลายเป็นกระแสไวรัลในโลกออนไลน์ของมิตรประเทศ ถือเป็นผลดีและน่าชื่นชม
เฉกเช่นเดียวกับการสื่อสารด้านการเมือง ก่อนหน้านี้ “นายอนุทิน” เคยออกมาย้ำว่า พรรค ภท. มีแนวทางของตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งหวังว่าครั้งนี้จะขยับจากพรรคเล็ก พรรคกลาง เป็นพรรคขนาดใหญ่ และจะขอเป็นผู้กำหนดเกมบ้าง ไม่ใช่เป็นพรรคที่คอยดูว่า พรรคอื่นทำอะไรบ้าง เราไปจอดแล้วไปจอยไปจับกับเขา เพราะทำพรรคมาขนาดนี้ มีความพร้อมและมีสมาชิกพรรคมาสมัครมากมาย ทั้ง ส.ส.ที่ยอมลาออกจากพรรคเดิมมาร่วมงาน ซึ่งเป็นทิศทางที่แสดงให้เห็นว่า ภท. พร้อมที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
พร้อมระบุว่า “การพูดดังกล่าวไม่ใช่การจอง แต่เป็นเพียง การนำเสนอนโยบาย และแสดงความพร้อม แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจน “พูดแล้วทำ” จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชนได้พิจารณา หากเห็นว่าสิ่งที่พรรค ภท. ทำมีประโยชน์เขาก็เลือกให้เราทำหน้าที่ ไม่มีอะไรที่ซับซ้อน”
คงต้องยอมรับ การสร้างความเข้าใจ และสื่อสารด้วยความจริงใจ ช่วยสร้างสิ่งดี ๆ และทำ ให้เกิดการยอมรับ ยิ่งถ้าสะท้อนตกมาเป็นประโยชน์ของประเทศ ยิ่งต้องช่วยกันชื่นชม อานิสงส์ครั้งนี้ น่าจะมีส่วนมาถึง “พรรค ภท.” ไม่น้อย เพราะการเลือกตัวแทนเข้ามาทำงาน ด้านนิติบัญญัติ และ ฝ่ายบริหาร ก็ต้องบุคลากรที่สร้างผลประโยชน์ให้ประเทศชาติและประชาชน.