14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ถือเป็น “วันแห่งความรัก” หรือ “วันวาเลนไทน์” หากอิงตามประวัติศาสตร์ ถือเป็นวันสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงการจากไปของ “นักบุญวาเลนไทน์” ผู้ที่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงความรักและมิตรภาพอันบริสุทธิ์

ปัจจุบันวันวาเลนไทน์ ได้ถูกบรรจุอยู่ในปฏิทินทั่วโลก เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่บรรดารุ่นใหญ่ รุ่นใหม่ รุ่นเล็ก หรือแม้แต่วัยเก๋า ต่างให้ความสำคัญจนตลบอบอวลไปด้วยความหอมหวานของ “ความรัก” ในทุกรูปแบบ

ไม่เพียงแค่ “ความรัก” เท่านั้น ที่เบ่งบานในวันนี้ แต่ยังทำให้บรรดาพ่อค้าแม่ขายในหลากหลายสินค้าต่าง “ชื่นมื่น” เพราะความรักที่เกิดขึ้นได้นำมาซึ่งการซื้อหา “ของขวัญ” เพื่อมอบให้แก่คู่รักและไม่ใช่คู่รัก จนทำให้เกิดเงินสะพัดเป็นจำนวนไม่น้อย

ในปีนี้…ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินไว้ว่า วันแห่งความรักในปี 2566 นี้ จะมี เงินสะพัดประมาณ 2,389 ล้านบาท

“เงินสะพัด” ในระบบเศรษฐกิจครั้งนี้ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 15.5% แถมยังเป็นการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี แถมยังเชื่อว่าจะมีบรรยากาศคึกคักที่สุดในรอบ 3 ปีกันทีเดียว

ทำไม? ถึงคึกคัก!! ก็อย่าลืมว่า…ที่ผ่านมา เทศกาลวาเลน์ไทน์ในไทย ซบเซามาหลายปีจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายโควิด-19 โดยในปีที่แล้ว ถือว่าเป็นปีที่มีเงินสะพัดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

แม้…ปีนี้!! บรรยากาศด้านการท่องเที่ยวจะเข้ามาช่วยสนับสนุน จนทำให้วันวาเลนไทน์ปีนี้ คึกคักมาได้ในระดับหนึ่งก็จริง แต่ความคึกคักที่เกิดขึ้นก็ยังไม่เต็มที่มากนัก

เพราะดันไปตรงกับวันธรรมดาช่วงต้นสัปดาห์ คือ วันอังคาร ซึ่งการใช้จ่ายอาจไม่เกิดขึ้นหลายรอบ หรือมากมายเท่าใดนัก ไม่เหมือนกับการสะพัดในช่วงวันหยุด

ขณะเดียวกัน ก็อย่างเพิ่งตีอกชกตัว ว่า…เศรษฐกิจกระดกหัวกลับขึ้นมาได้แล้ว เพราะหากเข้าไปดูจริง ๆ เงินสะพัดที่เกิดขึ้น กลับกลายเป็นว่า…เป็นเพราะราคาสินค้าที่แพงขึ้นต่างหาก ไม่ได้มาจากเศรษฐกิจฟื้นตัว หรือ ประชาชนคนไทยมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น

จากผลสำรวจพบว่า บรรดา กลุ่ม Gen Z จะมีการใช้จ่ายเงินคนละประมาณ 1,800 บาท ขณะที่กลุ่ม Gen Y คาดว่าใช้จ่ายเงินไปกับวันแห่งความรัก ราวคนละ 1,600 บาท ส่วนกลุ่มคนที่ใช้จ่ายมากที่สุดจะเป็นกลุ่ม Gen X ที่ตกคนละประมาณ 2,100 บาท !!

Free photo high angle of japanese couple exchanging gift on white day

อย่างที่บอก…เงินสะพัดที่เพิ่มขึ้น ใช่ว่า รักมาก!! แล้วจะเปย์มาก หรือควักระเป๋าซื้อของขวัญให้มาก เพราะจากผลสำรวจ พบว่า Gen X พร้อมควักเนื้อซื้อของขวัญได้เพียงไม่เกินคนละ 1,600 บาท ส่วน Gen Y ก็พร้อมจ่ายที่ประมาณ 1,251 บาท

ขณะที่ Gen Z พร้อมจ่ายได้ที่คนละ 823 บาท หรือโดยเฉลี่ยแล้วมีค่าใช้จ่ายเฉพาะการซื้อของมอบให้คนรักตกประมาณคนละ 1,100 บาทเท่านั้น

ทั้งหลายทั้งปวง!! มาจากราคาสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้บรรดาคู่รักต้องควักกระเป๋าจ่ายมากขึ้นด้วยเช่นกัน ผลสำรวจออกมาว่า หากประเมินการซื้อแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 51.6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่แทบไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนเงินที่นำมาใช้นั้น ส่วนใหญ่มาจากเงินเดือน และเงินออมบางส่วน

ด้านเหตุผลในการใช้จ่ายช่วงวาเลนไทน์ปีนี้ เทียบกับปีก่อน ก็พบว่าผู้ที่ตอบว่ามีการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น เป็นเพราะสินค้าบริการแพงขึ้น รองลงมา คือ ค่าครองชีพสูงขึ้น และความต้องการสินค้ามีมากขึ้นขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่ามีการใช้จ่ายลดลง เพราะรายได้ลดน้อยลง รองลงมา คือ ประหยัดการใช้จ่าย และสินค้าแพงขึ้น เศรษฐกิจไม่ดี

ไม่ใช่แค่เรื่องของเงินสะพัดเท่านั้น ที่น่าสนใจ แต่ผลสำรวจในเชิงสังคม!! น่าจะกลายเป็นเรื่องที่น่าคิดมากกว่า!

Free photo man giving heart shaped present to woman

เพราะ…ยุคนี้!! สมัยนี้!! ไม่ได้สนใจเรื่องของการ“หวงเนื้อ…หวงตัว” เหมือน “แม่พลอย” ในประวัติศาสตร์กันอีกต่อไปแล้ว โดยผลสำรวจพบว่าส่วนใหญ่กว่า 35.7% พร้อมมีความสัมพันธ์ทางเพศในวันวาเลนไทน์นี้ ซึ่งเป็นกลุ่มของนักศึกษา รองลงมา คือกลุ่มวัยทำงาน และนักเรียน

ที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีก!! สถานที่ที่พร้อม “ฉลอง” ก็คือ หอพัก อพาร์ตเมนต์!! แถม…ทุก Gen ยังยอมรับเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานถึง 70.5% ทีเดียว

ดังนั้น!! จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่จะเห็นข่าวคราวการคลอดแล้วทิ้ง หรือการมีลูกในวันที่ไม่พร้อม หรือปัญหาของ คุณแม่วัยใสที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในสังคมไทย!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”