คนพิการ หมายถึง บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นใด เพื่อให้สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลอื่นทั่วไป
ในประเทศไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ประกาศกำหนดความพิการไว้ 7 ประเภท คือ พิการทางการมองเห็น, พิการทางการได้ยินและการสื่อสารความหมาย, พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางกาย, พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม, พิการทางสติปัญญา, พิการทางการเรียนรู้ และพิการทางออทิสติก
โอกาสที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกขณะ “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” ชวนหนึ่งหน่วยงานที่คลุกคลีกลุ่มคนพิการมาสะท้อนอุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน ๆ มา เพื่อหยิบยกไปพิจารณาแก้ไข ปรับปรุง หรือเพิ่มโอกาสให้คนกลุ่มนี้ออกมาใช้สิทธิอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายชูเกียรติ สิงห์สูง นายกสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ให้มุมมองถึงการเลือกตั้งในกลุ่มคนพิการว่า หากเป็นไปได้อยากเสนอให้ท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ที่มีคนพิการอยู่เพิ่มการช่วยเหลือในการอำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทางไปใช้สิทธิอย่างทั่วถึงมากขึ้น รวมถึงจุดที่ลงคะแนนควรอบรมเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งในการทำหน้าที่แนะนำคนพิการ
เนื่องจากคนพิการมีหลายประเภท ในจำนวนนี้เป็นคนพิการทางสายตา หรือตาบอด หรือในกรณีที่เป็นคนพิการหนัก จะทำอย่างไรให้กลุ่มดังกล่าวสามารถกากบาทลงคะแนนให้เบอร์ที่ตัวเองต้องการได้
นายกสมาคมกีฬาคนพิการฯ ย้ำว่าการเดินทางที่ยากลำบากมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจออกไปใช้สิทธิของคนพิการ พร้อมยกตัวอย่าง รูปแบบการจัดรถบริการที่อาจประชาสัมพันธ์เพื่อนัดแนะกลุ่มคนพิการ เพราะเชื่อว่าหน่วยงานในพื้นที่มีข้อมูลและรู้พิกัดที่อยู่คนพิการอยู่แล้ว ดังนั้น น่าจะสามารถบริหารจัดการอำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทางได้
ขณะที่ความสะดวกในการรับข้อมูลข่าวสารประกอบการตัดสินใจ สำหรับกลุ่มคนพิการบางประเภท เช่น คนหูหนวก ระบุว่า ในกลุ่มนี้วันลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งไม่เป็นปัญหาเพราะจะมองเห็นหมายเลขที่ต้องการอยู่แล้ว ปัจจุบันสื่อออนไลน์รวมถึงสื่อหลักที่ล่ามแปลภาษามือถือว่าช่วยได้เยอะ แต่ก็ยังต้องการให้เพิ่มการสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ในกลุ่มผู้พิการ
ทั้งนี้ มีข้อเสนอสิ่งที่อยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้นำไปสู่การผลักดันเพื่อผู้พิการมากขึ้น คือ สิทธิในการทำงานโดยเฉพาะสิทธิรับราชการที่หลากหลาย เนื่องจากคนพิการจำนวนมาก จบการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่ไม่สามารถสอบเข้ารับราชการในบางหน่วยงานได้เพราะมีระเบียบข้อบังคับ ยกตัวอย่างกลุ่มนักกีฬาคนพิการเมื่อเลิกภารกิจวางมือจากการแข่งขัน แม้จะเรียนจบปริญญาตรี หรือกระทั่งปริญญาโทก็ยังหางานทำได้ยาก ในจำนวนนี้บางคนอยากทำงานรับราชการทหาร หรือตำรวจ แต่ก็มีข้อจำกัดที่ทำไม่ได้
ทั้งที่หากมองข้อเท็จจริงในหน่วยงานเหล่านี้มีฝ่ายเอกสารหรือส่วนงานเทคโนโลยีที่คนพิการสามารถนั่งทำงานได้ และมองว่าควรเปิดโอกาสงานเหล่านี้ให้คนพิการมากขึ้น
“เหมือนตำรวจ ทหารก็ไม่ได้จำเป็นว่าต้องไปรบทุกคน ที่นั่งโต๊ะ นั่งกอง นั่งทำสถิติก็เยอะอยู่ เราสามารถทำงานได้”
นายกสมาคมกีฬาคนพิการฯ เผยถึงกระแสตื่นตัวของคนพิการกับการเลือกตั้งว่าในกลุ่มของตัวเองตื่นตัว 100% ส่วนคนพิการทั่วไปที่อยู่ที่บ้านหรือประกอบอาชีพอื่นเชื่อว่าจำนวนไม่น้อยน่าจะตื่นตัวกับการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งแน่นอน ในส่วนของสมาคมฯ มีบทบาทสนับสนุนการเลือกตั้ง เช่น สมาคมฯ รับผิดชอบดูแล 24 ชนิดกีฬา แต่ละชนิดกีฬาจะมีสมาคมเล็กของตัวเองซึ่งจะประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งและนโยบายต่าง ๆ ไปให้ถึงสมาชิกรวมถึงนักกีฬา เพราะกลุ่มของเราถือเป็นคนพิการที่เข้มแข็งที่สุด
ดังนั้น ในกลุ่มนักกีฬาคนพิการต้องรณรงค์ให้ได้ 100% เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนพิการอื่น ๆ และคนปกติออกไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม นโยบายหาเสียงเกี่ยวกับคนพิการเท่าที่เห็นแต่ละพรรคยังไม่มี หรือมีน้อยมาก ทั้งที่จริงคนพิการมีจำนวนเกือบ 10% ของประชากรทั้งประเทศ หากไม่มองข้ามกลุ่มคนพิการก็น่าจะได้คะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำได้
นายกสมาคมกีฬาคนพิการฯ ฝากความหวังในมุมของสมาคมฯ สิ่งที่อยากให้คนพิการได้รับการดูแลมากขึ้นหลังการเลือกตั้งจากนี้คือ เมื่อเจ็บป่วยหรือเลิกแข่งขันแล้วได้รับโอกาส หรือมีงานทำ สิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้ต้องการไม่ได้มากมาย เชื่อว่าเป็นสิ่งที่รัฐสามารถดูแลจัดสรรตำแหน่งงานมากขึ้นได้.