ธรณีพิบัติภัยครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของตุรกี ถือเป็นความท้าทายครั้งหนักหนาสาหัสที่สุดให้กับรัฐบาลของประธานาธิบดีเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ทั้งในด้านการกู้ภัยและการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย อีกทั้งเหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะมีผลอย่างมาก ต่อการตัดสินใจของประชาชน ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ ในวันที่ 14 พ.ค.นี้ ซึ่งหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า คือ “บททดสอบครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี” ของผู้นำตุรกี วัย 68 ปี ซึ่งครองอำนาจสูงสุดทางการเมืองของตุรกี ยาวนานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 เริ่มจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนรั้งตำแหน่งประธานาธิบดี ตั้งแต่ปี 2557
ทั้งนี้ เออร์โดกัน ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 3 เดือน ครอบคลุม 10 จังหวัด ในภูมิภาคทางตะวันออกและทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้ พร้อมทั้งยอมรับ “ความล่าช้าในระยะแรก” ของการบริหารจัดการสถานการณ์หลังแผ่นดินไหว แต่ให้คำมั่นการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้ได้ภายในระยะเวลา 1 ปี และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่มีการประเมินจำนวนผู้ได้รับผลกระทบมากกว่า 13.5 ล้านคน
ด้านผู้สันทัดกรณีจากหลายภาคส่วนให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน ว่าการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยซึ่งมีขอบเขตความเสียหายเป็นวงกว้างและรุนแรงขนาดนี้ ย่อมต้องใช้งบประมาณ “หลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ” และจะยิ่งเพิ่มภาวะตึงตัวให้กับเศรษฐกิจของตุรกี ที่อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 58% และอัตราเงินเฟ้อประจำปี 2565 อยู่ที่ 85% เป็นสถิติสูงสุดในรอบ 24 ปี เรียกได้ว่าเป็นการ “รีเซ็ต” เศรษฐกิจตุรกีทั้งระบบเลยก็ว่าได้
มีการคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ( จีดีพี ) ของตุรกี จะหดตัวระหว่าง 0.6%-2.0% ในกรณีที่ผลผลิตในภูมิภาคซึ่งได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมีปริมาณลดลง 50% และต้องใช้เวลาอีกประมาณ 6-12 เดือน ในการฟื้นฟู อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์มองว่า เออร์โดกันซึ่งบริหารประเทศมาแล้ว 2 ทศวรรษ มีประสบการณ์บริหารจัดการบ้านเมืองท่ามกลางภาวะภัยพิบัติมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ไฟป่า น้ำท่วม และแผ่นดินไหวหลายครั้งก่อนหน้านี้ จะสามารถนำพาตุรกีให้กลับมาฟื้นตัวได้ในที่สุด เพียงแค่คราวนี้ต้องใช้เวลานานกว่าปกติสักหน่อยเท่านั้น
แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเฉพาะในตุรกี พื้นที่ส่วนใหญ่ทางเหนือและตะวันตกของซีเรียได้รับความเสียหายหนักหน่วงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เรียกได้ว่าเป็น “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” สำหรับประเทศซึ่งยังคงติดหล่มอยู่ท่ามกลางสงครามกลางเมือง ที่ยืดเยื้อตั้งแต่เดือน มี.ค. 2554
แม้สหรัฐและพันธมิตรตะวันตกยืนยันการมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ให้แก่ผู้ประสบภัยในซีเรียเช่นกัน และต่อให้พื้นที่เกิดแผ่นดินไหวส่วนใหญ่ในประเทศแห่งนี้ เป็นเขตอิทธิพลของกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การส่งมอบความช่วยเหลือ “ให้ราบรื่นและปลอดภัยที่สุดตามหลักการระหว่างประเทศ” ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีการร่วมมือหรือประสานงานกับรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด “ไม่ทางใดทางหนึ่ง” จึงมีการวิเคราะห์เช่นกันว่า จริงอยู่ที่บ้านเมืองกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติ ทว่าสถานการณ์นี้ถือเป็น “โอกาสในการต่อรอง” ของผู้นำซีเรีย
ขณะที่รัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารที่สำคัญของซีเรีย เป็นประเทศแรกที่ส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่ซีเรีย ตามด้วยจีน นอกจากนั้นยังมีประเทศอีกหลายแห่งในโลกอาหรับ ไม่ว่าจะเป็นจอร์แดน อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ( ยูเออี ) ร่วมกันส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ซีเรีย
หากมองในอีกแง่หนึ่ง รัฐบาลของอัสซาดน่าจะกำลังพยายามอาศัยกระบวนการส่งมอบความช่วยเหลือ ท่ามกลางภาวะภัยพิบัติครั้งนี้ เป็นหนึ่งในเครื่องมือ “สร้างความชอบธรรม” ให้กับตัวเองอีกทางหนึ่งเช่นกัน โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศในโลกอาหรับด้วยกัน ที่ซีเรียกำลังเดินหน้าฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง และน่าจะมีความเข้าใจต่อความทุกข์ยากของชาวซีเรีย มากกว่ากลุ่มประเทศจากซีกโลกตะวันตก.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP