…นี่เป็นการสะท้อนกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้โดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในโอกาสนำคณะลงพื้นที่เยี่ยมชม “การจัดระบบบริการดูแลส่งเสริมพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการ” ที่ ต.ท่าตะเภา อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร โดยมี พนิต มโนการ ผอ.สปสช. เขต 11 สุราษฎร์ธานี ร่วมคณะ ซึ่งทางรองนายกเทศมนตรีเมืองชุมพร วิบูลศักดิ์ โพธารส ให้การต้อนรับ ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานดังกล่าว…

ช่วยผู้สูงวัย ให้ สามารถลดการพึ่งพิง

ด้วย กิจกรรมธาราบำบัด นี่ก็น่าสนใจ

ทั้งนี้ การดำเนินงานข้างต้นนั้นใช้ กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ซึ่งเป็นกองทุนที่ทางเทศบาล และ สปสช. สมทบร่วมกันเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการจัดระบบบริการ ซึ่งภาพรวมระบบบริการสำหรับประชากรในเขตเทศบาลเมืองชุมพร ประกอบด้วย… 1.ชมรมผู้สูงอายุ 1 ชมรมใหญ่ 17 ชมรมย่อยชุมชน, 2.โรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลเมืองฯ, 3.ศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิต, 4.ศูนย์สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยในชุมชน, 5.ศูนย์ธาราบำบัด (Hydrotherapy), 6.ศูนย์ให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน และ 7.โครงการดูแลระยะยาวผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC)

ในส่วนของศูนย์ ธาราบำบัด ทาง วิบูลศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า… กปท.เทศบาลเมืองชุมพร จัดตั้งศูนย์สุขภาพแพทย์ทางเลือกธาราบำบัดเพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการในพื้นที่ จึงมีแนวคิดตั้งศูนย์ธาราบัด ซึ่งศูนย์นี้เปิดให้บริการตั้งแต่เมื่อเดือน ต.ค. 2563 ในพื้นที่เทศบาลเมืองฯ ซึ่งพื้นที่เขตเทศบาลนี้มีประชากรทั้งสิ้น 33,529 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุเกือบ 23% เป็นผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง 116 คน และจำนวนผู้พิการมีประมาณ 300 คน ปัจจุบันมีผู้ที่มาใช้บริการที่ศูนย์ธาราบำบัดนี้จำนวน 186 ราย โดย การรักษาด้วยธาราบำบัดจะออกแบบโปรแกรมการรักษาให้มีความเหมาะสมต่อปัญหาของผู้ป่วย นักกายภาพจะประเมินอาการและให้การรักษาด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในสระ ประกอบด้วยอุปกรณ์ทั้งหมด 15 ชนิด น้ำจะเป็นน้ำอุ่น โดยมีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาและนักกายภาพบำบัดให้การดูแลอย่างใกล้ชิด

หนึ่งในผู้ใช้บริการศูนย์ธาราบำบัดที่นี่ คือผู้สูงวัยอายุ 88 ปีที่ชื่อ น้อย จันทร์ทอง ซึ่งบอกเล่าว่า… เมื่อหลายปีก่อน ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ เดินไม่ได้ จึงมาใช้ธาราบำบัดด้วยการเริ่มลอยตัว ทำให้เกิดการผ่อนคลาย จากนั้นก็เริ่มเดินในน้ำ ซึ่งน้ำหนักก็จะไม่ลงไปที่ขา ได้ฝึกแบบนี้มาเรื่อย ๆ จนเยียวยาตัวเองได้ดี น้ำไม่ได้ช่วยรักษาแค่ทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังช่วยเยียวยาจิตใจด้วย…ผู้สูงวัยรายนี้บอกเล่าไว้ ทั้งนี้ผู้มารับบริการที่ศูนย์นี้จะเป็นกลุ่มที่มีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนแรง จากอัมพฤกษ์-อัมพาต ปวดข้อหรือปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง หรือผู้ที่มีปัญหาการทรงตัว ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีปัญหาเหล่านี้

การรักษาด้วยธาราบำบัดใช้น้ำช่วยพยุง จึงง่ายต่อการฝึกเดินหรือออกกำลังกายท่าต่าง ๆ และช่วยลดการบาดเจ็บของข้อต่อและกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังใช้ได้ในผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อ ผู้เคยผ่าตัดเนื่องจากกระดูกหัก โดยเฉพาะส่วนกระดูกสันหลังและกระดูกขา ซึ่งมักมีข้อจำกัดจากการเจ็บแผลผ่าตัดและข้อต่อยึดติด ผู้ป่วยโรคอ้วน ช่วยในการออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยทุกคนที่มาใช้บริการต่างบอกว่าอาการโดยรวมดีขึ้น และ ลดการเป็นภาระของลูกหลาน ได้

ทั้งนี้ สลับกลับมาที่ ทพ.อรรถพร ที่ระบุไว้ด้วยว่า…การดูแลผู้สูงอายุในไทยที่เข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุเป็นความท้าทายของระบบสุขภาพ โดย “ศูนย์ธาราบำบัด” ก็เป็นอีกทางเลือกของการฟื้นฟูร่างกายให้ผู้สูงอายุได้มีการออกกำลังกาย เพิ่มการเคลื่อนไหว เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดการพึ่งพิง ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเพิ่มขึ้น ซึ่ง สปสช. อยากเห็นการดำเนินงานลักษณะดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นทั่วประเทศ คือ ชุมชนเป็นผู้วิเคราะห์ปัญหาและออกแบบการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ผ่านการสนับสนุนจากหน่วยบริการ รพ./รพ.สต. และชมรมผู้สูงอายุในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้กิจกรรมหรือโครงการตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่ได้มากที่สุด ทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถดูแลตัวเองได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ที่ผ่านมา 16 ปี จากความร่วมมือระหว่าง สปสช. และ อปท. ภายใต้ กปท. ก็ได้เกิดโครงการดี ๆ มากมายกระจายไปในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้คนไทยทุกกลุ่มวัย โครงการข้างต้นโดย กปท.ชุมพร ก็เป็นอีก 1 โครงการ ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมการบริหารจัดการงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง” ที่เน้นให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงบริการส่งเสริมป้องกันโรค ช่วยดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง

เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในชุมชน ช่วยสร้างคุณภาพชีวิต สุขภาวะที่ดี โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่ช่วยกันบริหารงบกองทุนฯ แบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

การออกแบบระบบดูแลผู้สูงอายุที่เทศบาลเมืองชุมพรดำเนินการ ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าชุมชนท้องถิ่นจะเข้ามีส่วนร่วมจัดบริการได้อย่างไร และผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งหากขยายโมเดลการดำเนินการไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ ก็จะมีส่วนช่วยให้ประชากรผู้สูงวัยไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง …เป็นอีกส่วนจากที่ ทพ.อรรถพร ระบุไว้

กับอีก ความท้าทายระบบสุขภาพไทย

การ ดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยให้ดีขึ้น

โดยชุมชน…อย่างต่อเนื่อง-ยั่งยืน…”.