วันนี้ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงต้องมาสนทนากับ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ถูกจับตาว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ มีโอกาสสูงสำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย จะมียุทธศาสตร์ในการสู้ศึกเลือกตั้งนี้อย่างไร โดยเฉพาะในการเลือกตั้งรอบนี้จะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ  

โดย “อนุทิน” เปิดประเด็น ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนพรรคการเมือง คือ นโยบาย ตราบใดที่นโยบายดีและตรงใจประชาชน เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สิ่งที่ พรรคภูมิใจไทย ได้ปฏิบัติมาตลอดคือ การใช้นโยบายที่เรียกว่า “พูดแล้วทำ” สิ่งที่เราได้ให้สัญญากับประชาชนอะไรไว้ในการเลือกตั้งปี 62 เราทำการบ้านและส่งมอบให้กับประชาชนครบทุกนโยบาย 

ในการเลือกตั้งปี 66 ก็เหมือนกัน เราก็ต้องพยายามสร้างนโยบายที่จับต้องได้ ปฏิบัติได้ และบรรลุจุดประสงค์ด้วยความรวดเร็ว ให้กับพี่น้องประชาชน ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาของการทำงานในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้นการจะมีบัตร 1 ใบหรือ 2 ใบก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรสำหรับพรรคภูมิใจไทย

@ คำว่า “พูดแล้วทำ” เหมือนกำลังถูกเตะตัดขาอยู่ในที่ประชุมสภาฯ จากร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ

ผมไม่ได้รู้สึกอะไรเลย การเตะตัดขา เจาะยาง แสดงว่าสิ่งที่เราทำเพื่อประชาชนมาถูกทางแล้ว เรากำลังจะเดินไปสู่ความสำเร็จ มีคนคอยขัดขวางด้วยความเกรงกลัวว่า เมื่อเราไปถึงจุดนั้นแล้วจะเกิดความเสียหายกับเขา ในฐานะผู้แทนในสังกัดเขาและถ้าสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้องเป็นประโยชน์วันหนึ่งจะเป็น “เกราะคุ้มกัน” ให้พวกเราสามารถทำนโยบายต่างๆให้ถึงจุดหมายปลายทางจนสำเร็จได้

นโยบายของพรรคภูมิใจไทยจะเน้นไปในเรื่องใดบ้าง 

เราโชว์เรื่อง ปากท้อง  ชูเรื่อง สวัสดิการที่ทำได้ และเป็นประโยชน์มากกว่าพรรคอื่นๆ มานานแล้ว เราพร้อมที่จะปรับโครงสร้างที่เป็นโครงสร้างอำนาจในระบอบราชการเท่านั้น แต่ไม่ใช่โครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของชาติ ตรงนี้ไม่ปรับ แต่จะปรับโครงสร้างเพื่อทำให้ประสิทธิภาพการทำงานในระบบราชการมีความรวดเร็ว ทำให้เกิดความสะดวกสำหรับประชาชนในการติดต่อทำธุรกรรมต่างๆกับหน่วยงานราชการให้มีความรวดเร็วนี่คือสิ่งที่ได้ทำมาตลอด 4 ปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด เช่น การลดดอกเบี้ยและลดคนค้ำประกันเงินทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ส่วนในเรื่องสวัสดิการด้านสาธารณสุข สมัยก่อนมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค แต่จะต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลที่ตัวเองลงทะเบียนไว้เท่านั้น ซึ่งเราได้ปรับมาเป็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค รักษาทุกที่ และที่ผมภูมิใจมากคือสามารถทำให้ผู้ป่วยโรคไตได้ฟอกไต ฟอกเลือดฟรีทุกรูปแบบทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการดูแลตนเองเมื่อยามเจ็บป่วยได้ เป็นต้น  

@ ครั้งนี้จะมีการปักธง ส.ส.ครั้งแรกใน กทม.อย่างไร 

เราสื่อสารกับคน กทม.ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าคน กทม.จะยังไม่ได้ให้ความไว้วางใจที่จะให้พรรคภูมิใจไทยมี ส.ส.ใน กทม. แต่เมื่อเราเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็ได้ยกระดับในเรื่องของการสาธารณสุขใน กทม.เป็นอย่างมาก ทำให้คนเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ ทั้งๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีบทบาทในพื้นที่ แต่เราใช้เครือข่ายที่มีอยู่ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ามารับการรักษาจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ภายใต้การกระทำและนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และรักษาทุกที่

นอกจากนี้เรื่องระบบคมนาคมการขนส่ง เราก็ทำให้คน กทม.มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการผลักดันเรื่องของยานพาหนะที่ใช้ไฟฟ้าทำให้เกิดการเผาผลาญก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำลายสุขภาพคน กทม. เป็นอุปสรรคในการทำมาหากินของคน กทม. ฉะนั้นเราคิดว่าน่าจะถึงเวลาที่เราจะเสนอตัวให้ชาว กทม.ได้ใช้งานพวกเรา มีตัวแทนคอยดูแล และใช้นโยบายที่พรรคมีอยู่แล้วมาต่อยอดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดให้กับคน กทม.  

ความชอบธรรมในการเป็นนายกฯ จำเป็นต้องมาจากพรรคที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดจากการเลือกตั้งหรือไม่

ผมคิดว่าความชอบธรรมในเบื้องต้นต้องวัดที่การได้เสียงข้างมากในสภา ส่วนการที่จะต้องได้เสียงสูงสุดในขั้วนั้นหรือไม่อันนี้แล้วแต่เงื่อนไขที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งลุล่วงไปแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าเรายึดกติกาสากลในระบบประชาธิปไตยนั่นดีที่สุด แต่หากทำไม่ได้เราค่อยหาทางออกหาวิธีทางแก้ไขให้ได้ ซึ่งผมมั่นใจเต็มที่ว่ามันจะมีทางออกเสมอ และผมเห็นว่า การเลือกตั้งเมื่อปี 62 ก็ไม่ได้มีอะไรที่ไม่เป็นระบอบประชาธิปไตย การรวมกลุ่มของพรรคการเมือง การจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นการรวมกลุ่มแล้วได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ พรรคที่จัดตั้งรัฐบาลก็เป็นขั้วที่คนเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีเสียงข้างมากในขั้วรัฐบาลเกินกึ่งหนึ่งด้วย มันก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามระบอบประชาธิปไตย

@ หากผลเลือกตั้งออกมาพรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส.มากกว่าพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการเป็นแกนนำรัฐบาล จะไม่ยอมให้ตำแหน่งนายกฯ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ใช่หรือไม่

ถ้าพรรคภูมิใจไทยมีเสียงสูงสุดในการจัดตั้งรัฐบาล ผมคิดว่าเป็นความชอบธรรมที่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียวของพรรค ก็สมควรได้รับการไว้วางใจในการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ส่วนเรื่องเสียง ส.ว. ผมเชื่อมั่นว่า ส.ว.ทุกท่านมีวุฒิภาวะเพียงพอและท่านจะเคารพต่อเสียงของประชาชนที่เลือกผม และ ส.ส.ทั้งหลายจะต้องให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าเลือกวิธีทางแห่งระบอบประชาธิปไตย

และพรรคเรามีนโยบายและยุทธศาสตร์ยืนหยัดทำหน้าที่ในสภา ทั้งในฐานะรัฐบาล ฝ่ายบริหาร เงื่อนไขต่างๆ ในการเป็นฝ่ายบริหารคือชัดเจนที่เคยพูดไปหลายโอกาสว่า ประเทศไทยจะก้าวหน้าและเติบโตอย่างรวดเร็วได้ต้องเกิดความเป็นปึกแผ่นของคนในชาติ ต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง ทั้งปวง ดังนั้น เราจึงพร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายที่ใช้เจตนารมณ์เดียวกัน สำคัญสุดคือ เป็นเจตนารมณ์ที่รักษาไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่เราเชื่อถือมาโดยตลอดว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์” กับ “พรรคภูมิใจไทย” และ “ประเทศไทย” เป็นของคู่กันแยกจากกันไม่ได้

ทำไมประเทศไทยต้องมีนายกรฐนตรีชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล

ผมจะตอบคำนี้เมื่อพี่น้องประชาชนได้ตัดสินใจเลือก ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย หลังการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้วคำตอบน่าจะมีความชัดเจนมากกว่านี้ แต่ว่าในเบื้องต้นผมคิดว่าเราได้นำเสนอนโยบายและการทำงานแก่พี่น้องประชาชนมาตลอดทั้งเรื่องปากท้อง เรื่องสวัสดิการ เรายึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ และเราคิดว่าเรามีความสามารถ มีเครือข่าย มีกลไกในการที่จะทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายหันมาให้ความร่วมมือกันเดินหน้าผลักดันให้ประเทศก้าวหน้าต่อไปนำความเจริญนำความมั่นคงให้กับประชาชนให้กับประเทศไทย.