คณะรัฐมนตรีรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีมติเมื่อ 25 พ.ค. 47 ให้กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ ดำเนินโครงการศูนย์ราชการกรุงเทพฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ต่อมาได้จัดตั้งบริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ขึ้นตรงกับกรมธนารักษ์ โดย ธพส.ทำหน้าที่ลงทุน ก่อสร้างอาคาร บริหารโครงการศูนย์ราชการกรุงเทพฯ และบริหารจัดการทรัพย์สินอื่นของรัฐตามนโยบายรัฐบาล

แต่วันนี้ “พยัคฆ์น้อย” ขอแจ้งไปยังนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ และนายนาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ ธพส. ในเรื่องเกี่ยวกับ “หลักเกณฑ์ความโปร่งใส” การจัดซื้อจัดจ้าง ที่กำลังสร้างความสงสัยให้กับผู้ประกอบการ ว่าเกิดอะไรขึ้นกับมาตรฐานวิธีการประมูล? ไม่ค่อยจะ “นิ่ง” เหมือนในอดีต

ในอดีต ธพส. ใช้การจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เป็นการประมูลงานผ่านกรมบัญชีกลาง ด้วยระบบ e-bidding ซึ่งไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย! แต่ต่อมา ธพส. ออกระเบียบเอง ว่าด้วยการพัสดุและจัดซื้อจัดจ้างฯพ.ศ. 2561 ด้วยเหตุผลเพื่อส่งเสริมความโปร่งใส และประกาศใช้เมื่อ 5 มิ.ย. 61 เป็นต้นมา

ขุนคลัง สั่ง 3 กรมภาษี ใช้เทคโนโลยี รีดภาษีให้ถึงเป้า 2.4 ล้านล้าน |  เดลินิวส์

ปรากฏว่ามีจุดแตกต่างกันเกิดขึ้น นั่นคือจากเดิมการจัดซื้อจัดจ้างผ่านกรมบัญชีกลาง กำหนดให้มีการประกาศเผยแพร่บนเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง และเว็บไซต์ ธพส. ด้วย แต่หากเป็นการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบของ ธพส. ให้ใช้การประกาศบนเว็บไซต์ ธพส. คู่กับการปิดประกาศ ณ ที่ทำการบริษัท ธพส.

ปีแรกการใช้ระเบียบ ธพส. ยังคงใช้ระบบ e-bidding มีทั้งการเผยแพร่ประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจให้เข้ามาร่วมประมูล มีการประกาศผลผู้ชนะการประมูล แต่ต่อมาตามระเบียบ ธพส. ในการจัดซื้อจัดจ้างจะประกอบด้วยวิธีการคัดเลือก 4 วิธี
คือ 1.วิธีตกลงราคา 2.วิธีคัดเลือก 3.วิธีเฉพาะเจาะจง และ 4. วิธีประกาศเชิญชวน

ถามว่า? การดำเนินตามระเบียบ ธพส.ปี 62 ไม่ได้ใช้วิธีประกาศเชิญชวนเลย ใช่หรือไม่? ทำให้รายงานวิเคราะห์ผลการจัดซื้อจัดจ้างปี 63 พบว่าไม่ได้มีประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการให้มาประมูลงาน ไม่มีประกาศผู้ชนะการประมูลงานเลย ใช่หรือไม่? ทั้งที่ปีงบประมาณ 63 มีการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ ธพส. กว่า 97 ล้านบาท กลับไม่มีโครงการที่เลือกใช้วิธีการประกาศเชิญชวน แต่เลือกใช้วิธีการคัดเลือกกว่า 49 ล้านบาท และวิธีเฉพาะเจาะจงกว่า 39 ล้านบาท ใช่หรือไม่?

ปี 64 มีการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ ธพส. ด้วยวิธีตกลงราคา 49 โครงการ วิธีคัดเลือก 28 โครงการ วิธีเฉพาะเจาะจง 5 โครงการ และวิธีประกาศเชิญชวน 4 โครงการ แม้ว่าเป็นกรณีประกาศเชิญชวน แต่โครงการจัดจ้างแม่บ้าน เมื่อ 13 ส.ค. 64 มีการประกาศเชิญชวนผ่านเว็บไซต์ ธพส. และติดประกาศที่บริษัท ธพส. แต่ได้ประกาศผลผู้ชนะประมูลขึ้นบนเว็บไซต์ให้ทราบทั่วกัน ว่าผู้ชนะประมูลด้วยราคาเท่าไร? หรือไม่? คนประมูลแพ้จะได้รู้ ว่าแพ้กันไปเท่าไหร่ เพื่อปรับปรุงสำหรับการประมูลในครั้งหน้า

ต่างจากการประมูลจัดจ้างโครงการพนักงานรักษาความปลอดภัย เมื่อ 28 มี.. 65 ใช้วิธีเชิญชวน เพราะครั้งนี้มีทั้งการประกาศเชิญชวนผ่านเว็บไซต์ ธพส. และติดประกาศที่ ธพส. เมื่อดำเนินการสำเร็จ ปรากฏว่า 21 เม.. 65 มีประกาศผลผู้ชนะขึ้นบนเว็บไซต์ ธพส. ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไม 2 ครั้งดังกล่าวจึงแตกต่างกัน

ต่อมา 13 ม.ค. 66 โครงการจัดจ้างดูแลและบำรุงรักษาระบบวิศวกรรมประกอบอาคาร ธพส. นอกจากไม่ได้ใช้วิธีการประกาศเชิญชวนผ่านเว็บไซต์ แต่กลับใช้วิธีส่งจดหมายถึงบริษัทต่าง ๆ เพื่อเชิญให้ยื่นเสนอราคางาน แบบกระชั้นชิดหรือไม่? ผู้ประกอบการบางรายเตรียมการไม่ทัน! ทำให้เกิดข้อสงสัยหลักเกณฑ์มาตรฐาน ธพส. ว่าทำไมแตกต่างกัน ทำไมครั้งนี้ไม่ประกาศเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอผ่านเว็บไซต์ และติดประกาศเชิญชวนที่บริษัท ธพส. เหมือนที่เคยทำ

“พยัคฆ์น้อย” จึงต้องฝาก “กรมบัญชีกลาง-สตง.” ช่วยไปตรวจสอบมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างใน ธพส. ตั้งแต่ 5 มิ.ย. 61 ทุกโครงการจนถึงปัจจุบันและอนาคต ให้มีความโปร่งใส และ “นิ่ง ๆ” กว่านี้ด้วย

————————
พยัคฆ์น้อย