ปิดท้ายกับ 4 นักศึกษาหลากคณะ จากรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่เผยให้เห็นมุมมองการติดตามความเคลื่อนไหวการเมืองรอบตัว ไปจนถึงปัจจัยที่นำไปสู่การตัดสินใจชี้ชะตาด้วย 1 สิทธิของตัวเอง
“นโยบายบนพื้นฐาน(ต้อง)เป็นไปได้”
นายธีรทร กัญหารัตน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชานวัตกรรมการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แสดงความเห็นว่า สถานการณ์การเมืองในขณะนี้ส่วนตัวเชื่อว่าอาจอยู่ไม่ครบเทอม เนื่องจากปัจจัยรอบตัวที่มีผลต่อการดำรงตำเเหน่งต่อจนครบเทอม เช่น การเเยกตัวของสมาชิกในส่วนของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่ย้ายพรรคไปอยู่พรรคการเมืองอื่น หรือการดึงตัว ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล การที่รัฐบาลมีปัญหาขัดแย้งกันเองในสภา หรือมีปัญหาระหว่างพรรคร่วม อาจเป็นปัจจัยให้ต้องยุบสภา ก่อนเกิดปัญหามากกว่าเดิม
ในส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ เชื่อว่าแต่ละพรรคอาจส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อน หรืออาจมีการเปลี่ยนตัวผู้นำ เนื่องจากการย้ายพรรคไปมาทำให้เกิดความเปลี่ยนเเปลงภายในพรรค และเเต่ละคนก็มีความสามารถในการบริหารประเทศ และมีนโยบายที่ทำให้เกิดการเเข่งขันกันว่าพรรคไหนมีนโยบายที่สามารถทำให้ประชาชนเลือกได้มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องมองความสามารถบริหารประเทศของตัวแคนดิเดตนายกฯ แต่ละพรรค ตลอดจนสมาชิกพรรค นโยบายที่สามารถเป็นได้จริง ไม่ตั้งสูงเกินไป และมองการณ์ไกล
“หาเสียงเข้ายุคสมัยVSจมปลัก”
น.ส.กวินทิพย์ ฤทธิศาสตร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาภาษาจีน มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สะท้อนถึงคำถามการเลือกตั้งจะมีปรากฏการณ์ใหม่ ๆ หรือไม่ว่า ส่วนตัวพูดได้ไม่เต็มปากเพราะในทางอุดมการณ์การเลือกตั้งคือ สนามที่ใช้ต่อสู้กันระหว่างฝ่ายอนุรักษ์กับเสรีนิยม จะบอกไม่มีอะไรใหม่เลยคงไม่ใช่ เพราะมองดี ๆ จะเห็นกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป ผู้คนหลาย ๆ รุ่น
โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ตื่นตัวและสนใจแสวงหาความรู้ เกิดการพูดคุยแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองมากขึ้น ตัวเลือกที่มากขึ้นไม่ว่าพรรคเล็กหรือใหญ่ หรือจะเป็นมุมมองที่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนขั้วอำนาจ ที่สัมผัสได้ทั้งหมดนี้นับได้ว่าเป็นความเหมือนที่แตกต่างของบรรยากาศการเลือกตั้งครั้งก่อน
นอกจากแคนดิเดตที่ทยอยเปิดตัวเรียกคะแนนนิยมให้พรรค หลายคนให้ความสำคัญกับนโยบาย ซึ่งสังเกตว่าพรรคการเมืองเริ่มปรับตัว โดยเฉพาะนโยบายที่สอดคล้องกับยุคสมัยและความต้องการของประชาชน เช่น การเปิดโอกาสให้กว้างขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ ๆ การเข้าถึงรัฐสวัสดิการที่ควรจะมีคุณภาพและเข้าถึงได้มากขึ้นทุกชนชั้น ลดระยะห่างระหว่างผู้แทนกับประชาชน อย่างการจัดกิจกรรมพบปะเพื่อสะท้อนปัญหา แม้จะมีการค่อนแคะว่าดูขายฝันเกินไป
“กลับกันมีอีกไม่น้อยยังคงจมปลักกับค่านิยมหรือความเชื่อเก่า อย่างการนำเสนอสิ่งที่ควรเป็นพื้นฐานด้วยซ้ำ เช่น ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา พูดจริงก็ต้องทำจริง มีภาวะผู้นำมีวิสัยทัศน์ มีความเชี่ยวชาญ ไม่ก็จะออกไปในทางที่แค่มองดูก็รู้สึกถึงความจำเจ ไร้คุณภาพเหมือนไม่ผ่านการสัมผัสปัญหาในระดับลึก ๆ”
“ปัญหารอแก้ การเลือกตั้งยิ่งสำคัญ”
น.ส.กาญจนี ประคีตะวาทิน นักศึกษา คณะวิทยาการจัดการ สาขาประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มองการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเกิดปรากฏการณ์ใหม่ ไม่ว่าจะการเลือกตั้ง หรือผลคะแนนที่อาจทำให้เกิดการพลิกแพลงได้ตลอด เพราะด้วยระบบที่แตกต่างจากปี 2562 ทำให้พรรคต่าง ๆ ต้องปรับตัว
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตในอนาคต ไม่ว่าออกไปใช้สิทธิ ไม่ใช้สิทธิ หรือไม่ประสงค์ลงคะแนนเสียงก็ตาม การที่ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงก็เพื่อเลือกพรรคการเมืองที่มองเห็นถึงอนาคตความเป็นอยู่ที่ประชาชนต้องการ เป็นการตัดสินอย่างเป็นธรรมตามความคิดเห็นข้างมากบนหลักประชาธิปไตย
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหลายปัจจัยที่ทำให้คนหันมาสนใจการเลือกตั้งมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ การค้าขายที่ลำบาก การบริหารจัดการที่ไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชน สวัสดิการหรือสิ่งที่ประชาชนควรได้รับ ค่าครองชีพ ความปลอดภัยในชีวิต
“ประชาชนในปัจจุบันมองเห็นสิทธิของตนเองที่ควรจะได้รับอะไรที่ดีต่อการใช้ชีวิตมากขึ้น ทำให้มองเห็นว่าการเลือกตั้งมีความสำคัญ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นอาจมีบางส่วนมองไม่เห็นประโยชน์ นี่จึงเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้ประชาชนเริ่มเปิดใจรับข่าวสาร หรือเรียนรู้ว่าสิทธิในการเลือกตั้งมีผลสำคัญอย่างไรต่อชีวิตในอนาคต”
“พิถีพิถันก่อนกากบาท”
น.ส.ณัฎฐวี มละสี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เผยว่า แม้ในปี 2562 จะมีการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเกิดรัฐประหาร แต่เปลือกในยังคงระบอบอำนาจนิยม ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ด้วยรัฐธรรมนูญนั้นเอื้อให้สมาชิกวุฒิ (ส.ว.) ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีสิทธิเลือกนายกฯ
ในอดีตการตัดสินใจลงคะแนนเสียงของประชาชนเป็นเพียงการเลือกพรรคที่ใช้นโยบายที่ชอบ ถ้าเทียบกับการเลือกตั้งในอดีตแน่นอนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนไม่ใช่แค่ให้ความสนใจ แต่ตั้งตารอคอย ไม่ใช่แค่เลือกพรรคที่ชอบใจ หรือพรรคไหนก็ได้ แต่ประชาชนต้องการเลือกพรรคที่สามารถพลิกโฉมประเทศไทย
“สิ่งที่จะได้เห็นในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้คือความพิถีพิถันในการเลือกพรรคที่พร้อมทำงานเพื่อประชาชนจริง ๆ ยุคที่เทคโนโลยีเข้าถึงประชาชนง่ายดาย ข่าวสาร ข้อเท็จจริงต่าง ๆ แพร่กระจายรวดเร็ว ประชาชนมีช่องทางติดตามข่าวสารประกอบการตัดสินใจมากขึ้น”
พร้อมย้ำสถานการณ์ที่ผ่านมาประชาชนได้เห็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่สงบ ได้เห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักการเมือง รวมไปถึงประสิทธิภาพในการบริหารงาน เมื่อโอกาสในการหลุดพ้นกำลังมาถึง จึงยิ่งตระหนักและพิถีพิถันกันมาก พรรคการเมืองจริงจังกับการหาเสียง ประชาชนก็จริงจังกับการคัดสรร
ทั้งนี้ ไม่อาจคาดการณ์ใครจะได้เป็นนายกฯ เศรษฐกิจจะผกผันเพียงใด แต่ในฐานะประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งก็มีหน้าที่ไปใช้สิทธิตัวเอง ใช้เหตุการณ์และประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาเป็นเครื่องช่วยพิจารณาเลือกสรร
พร้อมทิ้งท้ายจะเป็นการดีหากรัฐธรรมนูญปรับแก้กฎหมายการเลือกตั้งให้เอื้อต่อเสียงลงคะแนนของประชาชนเป็นหลัก หากยึดตามเสียงของ ส.ว.ที่ คสช.ตั้งขึ้นมาเหมือนครั้งที่แล้ว ประชาธิปไตยในประเทศไทยก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง.