ในเดือนนี้ นางเวนดี เชอร์แมน รมช.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เยือนกรุงพนมเปญ เธอกล่าวกับสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ว่ารัฐบาลวอชิงตัน “วิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง” ต่อความเคลื่อนไหวทางทหารของจีนในกัมพูชา และเรียกร้องรัฐบาลพนมเปญรักษา “ความสมดุลและความเป็นอิสระ” ด้านนโยบายต่างประเทศ
ไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ ว่าสมเด็จฮุน เซน ตอบเชอร์แมนว่าอย่างไร แต่นายเฟย สีฟัน โฆษกรัฐบาลกัมพูชา กล่าวว่า “ยังมีหลายเรื่องที่สหรัฐไม่เข้าใจกัมพูชาอย่างถ่องแท้” และ “ยังมีหลายเรื่องที่กัมพูชาไม่ล่วงรู้เจตนาที่แท้จริงของสหรัฐ”
ขณะที่พล.อ.เตีย บัญ รมว.กระทรวงกลาโหมของกัมพูชา กล่าวว่า การที่รัฐบาลพนมเปญได้รับความสนับสนุนเป็นอย่างดีจากจีน ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ และจัดการสภาพพื้นที่บริเวณท่าเรือเรียม มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านกลาโหมของกัมพูชาอย่างมาก โดยเฉพาะกิจการของกองทัพเรือและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการเทียบท่า และการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์ กัมพูชามีความซาบซึ้งใจอย่างมากต่อความช่วยเหลือจากรัฐบาลปักกิ่ง
ฐานทัพเรือเรียม ในจังหวัดพระสีหนุวิลล์ของกัมพูชา
ต่อมา พ.อ.มาร์คัส เฟอร์รารา ผู้ช่วยทูตทหารสหรัฐประจำกรุงพนมเปญ ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่พื้นที่ฐานทัพเรือเรียม ซึ่งตั้งอยู่ริมชายฝั่งในจังหวัดพระสีหนุ หรือสีหนุวิลล์ ที่ติดกับอ่าวไทย ทั้งที่มีการตกลงกันกำหนดการกันเป็นทีเรียบร้อย “โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง” และจนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจน ว่าเพราะเหตุใดผู้แทนด้านการทูตทหารของสหรัฐจึงไม่สามารถเข้าสู่ฐานทัพเรือเรียม ซึ่งเป็นฐานทัพขนาดใหญ่ที่สุดของกัมพูชาได้
อีกประมาณ 1 สัปดาห์ต่อมา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงพนมเปญประกาศยุติ การมอบงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลกัมพูชา ในการรักษาและพัฒนาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเปรย ลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ป่าสงวนขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้เหตุผลว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีการมอบเงินช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก แต่อัตราการลักลอบตัดไม้ยังคงอยู่ในระดับสูง และเจ้าหน้าที่รัฐกลับเดินหน้าใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงประชาชน และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งออกมาเรียกร้องและแสดงความคิดเห็นตามกฎหมาย
Khmer Times
หลังจากนั้นไม่นาน ศาลแขวงกรุงพนมเปญประกาศรับฟ้อง คดีที่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม 4 คน ขององค์กรอิสระ “มาเธอร์ เนเจอร์” หนึ่งในนั้นเป็นชาวสเปน และเป็นการฟ้องร้องลับหลัง ว่าสมคบคิดกันวางแผนกระทำผิดกฎหมาย และร่วมกันกระทำการ “หมิ่นประมาทต่อองค์พระมหากษัตริย์” โดยยังไม่มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติม ว่าจำเลยกลุ่มนี้ร่วมกันกระทำความผิดลักษณะใด ที่ถือเป็นการหมิ่นประมาทต่อสถาบัน
ความเคลื่อนไหวทั้งหมดที่กล่าวมา เกิดขึ้นภายในระยะเวลายังไม่ถึง 1 เดือน นับตั้งแต่การเยือนกรุงพนมเปญของเชอร์แมน ท่ามกลางบรรยกาศอันร้อนระอุ ของการแข่งขันช่วงชิงอิทธิพลระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ต่างฝ่ายต่างไม่เคยปิดบังจุดยืนที่มีต่อกัน สุดแล้วแต่จะแสดงออกแบบไหน รัฐบาลวอชิงตันเร่งเพิ่มความเข้มข้น ให้กับแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก จึงกลายเป็น “สมรภูมิ” ของการแข่งขันครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับกัมพูชา เป็นหนึ่งในสิ่งที่สหรัฐมองว่า “เป็นอุปสรรคสำคัญ” ที่จะขับเคลื่อนแผนการให้เป็นไปอย่างราบรื่น
นายลิ้ม จ็อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน ( คนซ้าย ) และนายหวัง อี้ รมว.การต่างประเทศจีน
แต่จะว่าไป ในสายตาของสหรัฐที่มองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับรัฐบาลพนมเปญ ไม่น่าจะแตกต่างจากที่รัฐบาลอวชิงตันมองภูมิภาคแห่งนี้ ในนามสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) ในภาพรวม ซึ่งสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ มีเศรษฐกิจที่ยังคงต้องพึ่งพาจีน
แม้สมาชิกแต่ละประเทศมีมุมมองเชิงลึกต่อสหรัฐและจีนแตกต่างกันออกไป แต่ในภาพรวมถือว่าอาเซียนสามารถรักษาสมดุล ในการสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐและจีน ได้อย่างดีเท่าที่จะทำได้แล้ว มองจากภายนอกอาเซียนอาจดูเหมือน “เสือกระดาษ” ทว่าท่ามกลางความแตกต่าง อาเซียนยังสามารถหลอมรวมกันได้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อรับมือกับ “การทะลุทะลวง” จากภายนอก
อย่างไรก็ดี การเยือนกัมพูชาของเชอร์แมน “น่าจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้น” ของการเดินเกมรุก “รอบใหม่” จากสหรัฐต่ออาเซียน ซึ่งกัมพูชาเตรียมทำหน้าที่ประธานประจำปีหน้า.
—————–
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, REUTERS