มหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ยังคงมีปัญหาวุ่นวายไม่หยุดหย่อน ทั้งที่การแข่งขันกำลังจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 5-17 พ.ค. นี้ หรืออีกแค่ 3 เดือนข้างหน้า แต่จนถึงป่านนี้ หลายอย่างยังไม่มีความชัดเจน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของการกำหนดชนิดกีฬา และอีเวนต์แข่งขันในแต่ละชนิดกีฬา ที่จนถึงตอนนี้ “เจ้าภาพ” ยังคง “ชักเข้าชักออก” ยังคงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด…

ดราม่าของศึกซีเกมส์ที่กัมพูชา เริ่มนับหนึ่งจากเรื่องของ “กุน ขแมร์” ซึ่งเจ้าภาพยืนยันผลักดันให้ถูกบรรจุเข้าแข่งขันแทนมวยไทย ขณะที่ ไทย ระบุว่าเป็นการทำผิดธรรมนูญข้อบังคับ จึงไม่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน ซึ่งแม้ผู้หลักผู้ใหญ่จะยืนยันว่าไม่ได้เป็นความขัดแย้ง แต่ประชาชนคนทั่วไปในโลกโซเชียลพากันอ้างความเป็นต้นตำรับ แล้วก็ใส่กันยับในโลกออนไลน์ไปถึงไหนต่อไหน

ล่าสุด หวยไปออกที่กีฬาเพาะกาย ซึ่งถูกถอดออกไปดื้อ ๆ และมีการเปิดเผยสาเหตุมาว่าเป็นเพราะเจ้าภาพไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องสารกระตุ้นในยักกีฬาของตัวเองได้

ย้อนกลับไปในซีเกมส์ครั้งที่แล้ว กัมพูชา ส่งนักกีฬาเพาะกายลงแข่ง 4 คน แต่ถูกตรวจพบสารกระตุ้นต้องห้าม ในการตรวจก่อนแข่ง 3 สัปดาห์ตามกฎของสหพันธ์เพาะกายและฟิตเนสโลก ทำให้ต้องถอนตัวไป

หลังจากนั้นสมาคมเพาะกายของกัมพูชา ได้รับปากกับสหพันธ์เพาะกายและฟิตเนสโลก ว่าจะจัดการปัญหาเรื่องสารต้องห้ามในนักกีฬาให้ได้ มิฉะนั้นก็คงไม่จัดเพาะกายในซีเกมส์ครั้งนี้ แต่สุดท้ายในกีฬาแห่งชาติของกัมพูชาเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก็ยังคงมีการตรวจพบสารต้องห้ามในนักเพาะกายเหมือนเดิม

จนกระทั่งกระทรวงกีฬากัมพูชา สั่งยุบสมาคมเพาะกายไปเลยสิ้นเรื่องสิ้นราว เพราะเกรงว่าหากมีการแข่งขันระดับนานาชาติแล้วนักกีฬาของพวกเขาไม่ผ่านตรวจโด๊ปอีก ชื่อเสียงก็อาจจะย่อยยับไปกว่านี้ ทำให้กัมพูชา ไม่มีนักกีฬาส่งแข่ง กีฬาเพาะกายก็เลยโดนตัดออกจากซีเกมส์ไปโดยปริยาย เสียอย่างนั้น!

นอกจากนี้ ยังมีการปรับแก้ระเบียบการแข่งขันในอีกหลายชนิดกีฬา อาทิ แบดมินตัน ซึ่งนอกจาก 7 ประเภทหลักอย่าง ชายเดี่ยว หญิงเดี่ยว ชายคู่ หญิงคู่ คู่ผสม ทีมชาย และทีมหญิง แล้ว ยังมีการเพิ่มประเภททีมผสมเป็นเหรียญทองที่ 8 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่อนุญาตให้แค่ชาติในระดับเทียร์ 2 ของกีฬาชนิดนี้ ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, บรูไน และ ติมอร์ เลสเต เท่านั้นที่มีสิทธิ์ส่งแข่ง ส่วน ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และสิงคโปร์ หมดสิทธิ์

ส่วน ซอฟต์เทนนิส ชิง 7 เหรียญทอง เจ้าภาพส่งได้ครบทุกประเภท และส่งได้เต็มเหนี่ยวชาย 12 คน หญิง 12 คน แต่ชาติอื่น ส่งแข่งได้แค่ 5 ประเภท และจำกัดนักกีฬาแค่ชาย 6 คน หญิง 6 คนเท่านั้น แถมยังไม่ให้ไทย, ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย ส่งแข่งชายคู่กับคู่ผสมอีกต่างหาก

ขยับไปที่เรือยาวประเภท 3 คนหญิง เจ้าภาพก็กำหนดให้มีแค่ 7 ประเทศเท่านั้นที่ส่งแข่งได้ นั่นคือกัมพูชา, สิงคโปร์, เวียดนาม, ลาว, บรูไน และ ติมอร์ เลสเต ส่วนชาติที่เหลือ รวมถึง ไทย หมดสิทธิ์

ขณะที่กีฬาอื่นๆ อาทิ มวยสากล ชิง 17 ทอง ชาย 12 ทอง และหญิง 5 ทอง แต่เจ้าภาพให้ชาติอื่นส่งแข่งได้แค่ชาย 8 รุ่น หญิง 3 รุ่นเท่านั้น ส่วนกัมพูชา ส่งได้ครบทุกรุ่น หรือแม้กระทั่งเซปักตะกร้อ ที่ชิง 10 เหรียญทอง แต่ละชาติได้รับอนุญาตให้ส่งแข่งทีมชายได้แค่ 3 จาก 6 อีเวนต์ และหญิง ได้แค่ 2 จาก 4 อีเวนต์เท่านั้น และนักกีฬาที่ใช้จะต้องไม่เกิน 12 คนอีกด้วย

ส่วนกีฬาสากลอย่าง ฟุตซอล, รักยี้ รวมถึงยิงปืน หลุดวงโคจรไม่ถูกบรรจุแข่งขัน…

จะว่าไปเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ในการแข่งขันกีฬาในภูมิภาคนี้ ชาติไทยได้เป็นเจ้าภาพก็พยายามจัดการแข่งขันให้นักกีฬาของตัวเองได้เปรียบมากที่สุด แต่ปกติแล้ว เหลืออีก 3 เดือนการแข่งขันจะเปิดฉากแบบนี้ ทุกอย่างควรจะ “นิ่ง” แล้ว เพราะมันส่งผลกระทบต่อนักกีฬา บางคนอุตส่าห์ซ้อมมาแรมเดือนแรมปี แต่สุดท้ายมารู้ว่าไม่ได้แข่งเอาในเวลากระชั้นชิดแบบนี้มันไม่ค่อยยุติธรรม ไหนจะทำให้นักกีฬาเหล่านี้ต้องสูญเสียผลตอบแทนของหยาดเหงื่อที่ทุ่มเทไป ซึ่งสำหรับนักกีฬาบางคนมันอาจเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ

ขณะที่ทิศทางของการแข่งขันซีเกมส์ในอนาคต ก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง หากเจ้าภาพยังสามารถทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ คุณภาพของเกมการแข่งขันมันย่อมเสื่อมถอยลงไปเรื่อย ๆ และมัยก็น่อมแปรผันตรงกับความนิยมของแฟนกีฬาที่มีต่อทัวร์นาเมนต์อย่างเลี่ยงไม่ได้

ส่วนแฟนกีฬาอย่างเรา ๆ ทำได้ก็แค่เชียร์นักกีฬาไทยเมื่อถึงเวลาลงสนาม แล้วก็ภาวนาว่าให้ทิศทางของการจัดการแข่งขันครั้งต่อไป ที่ไมยจะเป็นเจ้าภาพมันจะดีขึ้น

ว่าเขา ถึงเวลาของเราอย่าไปทำเสียเองก็แล้วกัน…