อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เพิ่งมีเหตุผู้ก่อความไม่สงบมุ่งลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ อ.ยะหา จ.ยะลา ด้วยการใช้ระเบิดแบบที่เรียกว่า “ไปป์บอมบ์” ขว้างเข้าใส่ฐานปฏิบัติการ โชคดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม ว่าด้วย “ระเบิด” ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าหลัง ๆ ระเบิดที่ผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นำมาใช้ก่อเหตุนั้นมักจะเป็น “ไปป์บอมบ์” ซึ่งเป็นชนิดระเบิดที่คนไทยคุ้นหูกัน…

“ไปป์บอมบ์” นี่ในไทยเคยบึ้มบ่อย ๆ…

“เคยคุ้นหูคนไทย” สมัย “การเมืองร้อน”

กับ “ระเบิดไปป์บอมบ์” นี้ ถือเป็น “อาวุธร้ายแรง” ที่คนไทย-สังคมไทยเคยต้องตกอยู่ในความ “ขวัญผวา” มาหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อครั้ง “การต่อสู้ทางการเมืองในไทยร้อนแรง” เช่น ปี 2558 เดือน ก.พ. เกิดเหตุระเบิด 2 ครั้ง บริเวณทางเชื่อมรถไฟฟ้าย่านสยามสแควร์ กับบริเวณลานน้ำพุ หน้าศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง และถัดมาเดือน ส.ค. ก็มีเหตุระเบิดเกิดอีก 2 ครั้ง บริเวณสี่แยกราชประสงค์ และท่าเรือสาทร ก่อนที่ชื่อ “ไปป์บอมบ์” จะห่างจากการได้ยินของคนไทยไปพักหนึ่ง…

จนในปี 2560 เดือน เม.ย. คนไทย-สังคมไทยก็ผวา “ไปป์บอมบ์” กันอีกครั้ง เมื่อมีเหตุระเบิดที่บริเวณ ถ.ราชดำเนิน และต่อมาในเดือน พ.ค. ก็มีผู้พบวัตถุต้องสงสัยซุกซ่อนไว้บริเวณใกล้โรงละครแห่งชาติ ซึ่งจากทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ก็ได้ทำให้ชื่อ “ไปป์บอมบ์” หวนกลับมาคุ้นหูคนไทยอีกครั้ง จนอาจกล่าวได้ว่า… “ระเบิดไปป์บอมบ์ไม่เคยเงียบหายจากสังคมไทย!!”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “ระเบิดไปป์บอมบ์” นั้น มีข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งระบุเกี่ยวกับ “วัตถุระเบิด-อาวุธร้ายแรง” ชนิดดังกล่าวนี้ไว้ สรุปได้ประมาณว่า… “ไปป์บอมบ์ (pipe bomb)” หรือที่มีการเรียกขานว่า “ระเบิดท่อเหล็ก” นั้น จัดว่าเป็น“ระเบิดแสวงเครื่องชนิดหนึ่ง” โดยเป็นชนิดระเบิดที่ “พบมากที่สุดในเหตุการณ์ลอบวางระเบิดที่เกิดขึ้นทั่วโลก” เนื่องจากผู้ก่อเหตุสามารถทำขึ้นมาได้ด้วยอุปกรณ์แค่เพียงไม่กี่ชนิด จึงเป็นที่นิยมของกล่มผู้ก่อความไม่สงบ-ผู้ก่อการร้าย

อนึ่ง เกี่ยวกับส่วนประกอบของไปป์บอมบ์ ก็มีแหล่งข้อมูลหลาย ๆ แหล่งระบุไว้ โดยสังเขปมีว่า… ระเบิดชนิดนี้แบบที่ร้ายแรงจะเป็นการ ใช้ท่อเหล็กมาเป็นตัวบรรจุดินปืน เศษเหล็ก หัวตะปู นอต กระจก นัยว่าสาเหตุที่มีการนำท่อเหล็กมาใช้นั้นเนื่องจากระเบิดที่ถูกทำจากท่อเหล็กจะมีอันตราย-มีพลังการทำลายสูงกว่าระเบิดที่ทำจากท่อพลาสติก โดยที่พลังทำลายจะขึ้นอยู่กับขนาดท่อและดินปืนที่บรรจุอยู่ภายใน ซึ่งกรณีเป็นการวางระเบิดก็จะมีฟิวส์ มีวงจรตัวตั้งเวลาหรือตัวรับสัญญาณจากโทรศัพท์มือถือเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งจริง ๆ ก็มีข้อมูลแจกแจงในส่วนนี้ไว้ แต่ ณ ที่นี้ขอไม่หยิบยกข้อมูลส่วนนี้มาสะท้อน

เรื่อง “ระเบิด” นี่ประเด็นที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มุ่งเน้นในการนำข้อมูลมาสะท้อนต่อคือประเด็น “รู้ไว้ใช่ว่า…เพื่อช่วยกันสอดส่องระวังภัย” โดยจะสะท้อนต่อข้อมูลของหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิดอโณทัย กรมสรรพาวุธทหารบก ที่มีการให้ความรู้เรื่องนี้ไว้ผ่านการจัดทำ “คู่มือการป้องกันเกี่ยวกับวัตถุต้องสงสัย สำหรับประชาชน” เนื้อหาโดยสรุปนั้นมีดังนี้…

วัตถุระเบิดนั้นแบ่งตามวัตถุประสงค์การใช้ได้ 3 ประเภท คือ… วัตถุระเบิดทางทหาร ใช้ในทางทหาร มีความเสถียรสูง คงทนต่อการกระแทกเสียดสี เปลวไฟ ความร้อน และต้องใช้ตัวจุดที่เหมาะสมเท่านั้นจึงจะเกิดการระเบิด, วัตถุระเบิดทางพลเรือน ใช้ในทางพลเรือน เช่น ตามเหมือง หรืองานก่อสร้างต่าง ๆ ถือว่ามีความเสถียรน้อย ต้องระมัดระวังในการเก็บรักษา, วัตถุระเบิดทำเอง ประเภทนี้เป็นวัตถุระเบิดที่มีการทำขึ้นเองจากสารระเบิดที่เป็นสารตั้งต้น ซึ่งก็มีใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน หรือเป็นสิ่งที่มีจำหน่วยทั่วไปในท้องตลาด โดยเมื่อนำมาผสมรวมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสมก็จะกลายเป็นวัตถุระเบิดได้

ส่วนคำว่า “ระเบิดแสวงเครื่อง” ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นระบุไว้ว่า… เป็นรูปแบบหนึ่งของ “กับระเบิด” เป็นการนำวัสดุที่มีอยู่ทั่วไปมาประดิษฐ์ การออกแบบขึ้นกับวัตถุประสงค์การใช้และความชำนาญของผู้ประกอบระเบิด ซึ่งระเบิดชนิดนี้กลุ่มก่อการร้ายนิยมใช้เพื่อทำให้เกิดความหวาดกลัว …นี่เป็นข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับ “วัตถุระบิด” ที่เป็นอาวุธร้ายแรง

ทั้งนี้ ในคู่มือสำหรับประชาชนที่จัดทำโดยกรมสรรพาวุธทหารบก ได้ให้ “คำแนะนำในกรณีที่พบวัตถุต้องสงสัยที่อาจเป็นระเบิด” ไว้ว่า… มีข้อควรปฏิบัติดังนี้คือ… “ห้าม” แตะ จับ ขยับ เคลื่อนย้าย หรือกระทำใด ๆ กับวัตถุต้องสงสัย เพราะอาจทำให้เกิดระเบิดได้, “ถาม” เมื่อพบวัตถุต้องสงสัย ถามหาเจ้าของก่อนว่ามีหรือไม่ ซึ่งถ้ามีเจ้าของ สิ่งที่พบก็ไม่ใช่วัตถุต้องสงสัย, “จดจำ” โดยผู้ที่พบต้องไม่ตกใจ ควรสังเกตและจดจำลักษณะให้ได้มากที่สุดเพื่อจะให้รายละเอียดแก่เจ้าหน้าที่, “แจ้งความ” เมื่อพบวัตถุต้องสงสัยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ที่ใกล้ที่สุด โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น เข้าแจ้งเจ้าหน้าที่โดยตรง หรือโทรศัพท์แจ้ง

“กำหนดเขตปลอดภัย” นี่ก็น่ารู้ไว้ โดยเป็นการประเมินระยะอันตรายจากระเบิด ซึ่งเกณฑ์คือ… ถ้าเป็นหีบห่อขนาดเล็ก ระยะปลอดภัยคือ 100 เมตร, หีบห่อขนาดกลาง ระยะปลอดภัย 200 เมตร, หีบห่อขนาดใหญ่ ระยะปลอดภัย 400 เมตร นอกจากนี้ “ให้คนออก” นี่ก็สำคัญ โดยเมื่อมีการพบวัตถุต้องสงสัยก็ควรมีการแจ้งทุกคนที่อยู่ในระยะอันตรายให้เร่งออกนอกเขตอันตราย และไปอยู่ในที่กำบังที่แข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากแรงระเบิด-สะเก็ดระเบิด …ซึ่งต่าง ๆ เหล่านี้ “รู้ไว้ใช่ว่า…”

“ภัยระเบิด” นี่ในไทย “ยังเสี่ยงระบาด!!”

ทั้งพื้นที่มีไฟใต้ และรวมถึงพื้นที่อื่น ๆ

“การเมือง” ก็เคยเป็น “ชนวนระบาด!!”.