ทั้งนี้ ได้มีคำอธิบายถึง “ประเภทของบูลลี่” และ “สาเหตุ-ปัจจัย” ที่นำสู่การเกิดพฤติกรรม “บูลลี่” ที่กำลังเป็น “ปัญหาใหญ่ทางสังคม” ซึ่งในเวทีเสวนาดังกล่าวผู้เชี่ยวชาญยังได้สะท้อนแง่มุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เพิ่มเติม โดยเฉพาะ “วิธีช่วยเหลือ-แนวทางป้องกัน”…

โดยส่งเสริม “สร้างความเข้าใจเรื่องนี้”

“เพื่อสกัดไม่ให้เกิดปัญหากรณีบูลลี่”

ข้อมูลในส่วนนี้ก็นับว่า “น่าพิจารณา”…

เริ่มจากข้อมูลโดย ผศ.ดร.หยกฟ้า อิศรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาสังคม ที่สะท้อนไว้ว่า… การ “สร้างพื้นที่ปลอดภัย เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีที่สามารถทำได้ ซึ่งในด้านจิตวิทยาสังคมนั้น การมี แหล่งสนับสนุนทางสังคม (social support)หรือการที่ มีใครสักคนที่สามารถไว้ใจบอกเล่าสิ่งต่าง ๆ ให้ฟังได้ จะช่วยสร้างความรู้สึกที่ปลอดภัย จะช่วยทำให้คนคนหนึ่งไม่เกิดความรู้สึกหรือความคิดที่อยากจะทำลายหรือทำร้ายใครเพื่อเป็นเกราะให้ตัวเอง และแนวทางนี้ก็ยังส่งผลให้คนคนหนึ่งมีจิตใจที่แข็งแกร่งมากพอเมื่อต้องเผชิญกับการถูกรังแกอีกด้วย …นี่เป็นแนวทางสกัดปัญหาในเชิงจิตวิทยา

ขณะที่ ดร.จิรภัทร รวีภัทรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาพัฒนาการ ร่วมสะท้อนไว้ว่า… “การป้องกันการบูลลี่” นั้น อันดับแรก อาจต้องเริ่มต้นจากที่ตัวเราเองก่อน อันดับสองคือการ พยายามสร้างทางเลือกชีวิตให้กับตัวเอง ทั้งนี้ การรังแกนั้นไม่ได้มีแค่ผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ แต่ยังมีผู้เห็นเหตุการณ์ ซึ่งเด็ก ๆ บางคนเมื่อพบเห็นการรังแกแล้วอาจจะรู้สึกไม่อยากเข้าไปยุ่ง เพราะกลัว หรือไม่แน่ใจว่าตนเองจะสามารถช่วยเหลือคนที่กำลังถูกรังแกได้หรือไม่ หรือกลัวว่าคนรังแกจะหันมาหาตัวเองหรือไม่ ซึ่งก็มีงานวิจัยที่ศึกษาพบว่า ถ้าให้คนรอบข้าง หรือผู้เห็นเหตุบูลลี่ พัฒนาขึ้นเป็นผู้ช่วยเหลือได้…

นี่…จะทำให้ความชุกของการรังแกลดลง

“ผู้ช่วยเหลือ ไม่ได้หมายถึงคนที่ไปเผชิญหน้ากับผู้กระทำเพื่อหยุดการรังแกเสมอไป แต่ยังหมายความถึงการช่วยเหลือในรูปแบบของการปลอบใจผู้ถูกกระทำก็ได้” …เป็นอีกหนึ่งวิธีน่าสนใจในการช่วยลดปัญหาการบูลลี่

word “NO” with child’s hand on dark background

แล้ว “การปรับพฤติกรรมคนที่ชอบบูลลี่ผู้อื่น” ต้องทำอย่างไร? เรื่องนี้ ผศ.ดร.ชมพูนุท ศรีจันทร์นิล ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรึกษา เสริมไว้ว่า… คนที่ชอบบูลลี่คนอื่นนั้นจริง ๆ แล้วอาจป็นคนที่กำลังต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน เพราะพฤติกรรมนี้เป็นสัญญาณว่าอาจมีภาวะความยากลำบากทางจิตใจ ที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้คลี่คลายปัญหาได้ถูกจุด ซึ่ง พ่อแม่ หรือครู ช่วยแก้ปัญหาได้ ถ้าความชุกของปัญหามีมากในโรงเรียน โรงเรียนก็ควรมีการตอบสนองอย่างจริงจัง ไม่มองเป็นเรื่องเล่น ๆ อาทิ จัดให้มีผู้ให้การปรึกษาทางจิตวิทยาในโรงเรียน (school counsellor) เป็นต้น

“นอกจากครอบครัวและโรงเรียนแล้ว ในระดับสังคมก็ต้องฝึกให้คนรู้จักยอมรับในความแตกต่างของแต่ละบุคคล ดังนั้น การที่จะแก้ไขปัญหาการบูลลี่นี้ได้ ก็จะต้องทำให้เกิดการตระหนักรู้ทุกภาคส่วน ทั้งระดับสังคม โรงเรียน และระดับครอบครัว” …เป็นการระบุจากทางผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการปรึกษา กับการ “แก้ปัญหาบูลลี่”

ที่เป็นการบ่งชี้ “เป็นหน้าที่ร่วม” ทั้งสังคม

สลับกลับมาที่ ผศ.ดร.หยกฟ้า ที่ระบุไว้อีกว่า… แม้การแบ่งพรรคแบ่งพวกจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เช่น ใครที่เหมือนเรา เราก็อยากเป็นเพื่อนด้วย ส่วนใครที่ไม่เหมือน ก็จะมองว่าเขาต่าง หรือมองคนคนนั้นไม่ปกติ

ซึ่งค่านิยมนี้ฝังรากลึกในสังคมมานาน ทำให้คนที่แตกต่างหรือมีลักษณะพิเศษจึงมักตกเป็นเหยื่อหรือเป็นเป้าการบูลลี่ ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหานี้ให้ได้ คนในสังคมก็ต้องเข้าใจถึงความหลากหลาย ต้องมีการ ฝึกให้เกิดความเข้าใจและยอมรับในความหลากหลายตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้มองเห็นเรื่องความแตกต่างเป็นเรื่องที่ธรรมดา โดยเมื่อเห็นความแตกต่างจะต้องไม่ไปตีตราตั้งแต่แรกว่าสิ่งนั้นไม่ดี

ทั้งนี้ ถ้าสังคมสามารถทำความเข้าใจในระดับผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะได้ ก็จะเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเด็ก ๆ ในเรื่องของการยอมรับความหลากหลาย เพราะฉะนั้นสังคมไทยจะต้องฝึกให้ทุกคนเปิดใจ ซึ่งเบื้องต้นคือ ฝึกให้รู้จักยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายก่อน เพราะบางทีการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่มีคนที่คิดไม่เหมือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกโซเชียล ที่มี “ปรากฏการณ์ล่าแม่มด” เต็มไปหมด ซึ่งเรื่องนี้เป็นการกลั่นแกล้งทางวาจาบนพื้นฐานการไม่ลงรอยกันทางความคิด ดังนั้น ถ้าทำให้ทุกคนรู้สึกว่าความหลากหลายเป็นเรื่องปกติ เชื่อว่าการข่มเหงรังแกกันก็จะลดลง

“เวลาเห็นอะไรที่แตกต่าง เราอาจต้องพยายามทำความเข้าใจ ต้องพยายามเปิดมากขึ้น โดยเปิดรับความแตกต่างหลากหลายให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์ของเรา ทั้งนี้ บางทีในสังคมไทยเราก็ไม่ได้มีต้นแบบว่าเวลาเจอเหตุการณ์แบบนี้จะให้ทำอย่างไร จนทำให้บางครั้งบางคนก็ไม่มีทางออกในเวลาที่เจอคนที่ไม่เหมือนตัวเรา เพราะไม่ได้ถูกฝึกมา จึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนนั้นจะต้องช่วยกันปลูกฝังเรื่องเหล่านี้” …เป็นคำแนะนำเพื่อแก้ปัญหา

“บูลลี่” เป็น “ปัญหาของทั้งผู้ถูกทำ-ผู้ทำ”

“แก้เฉพาะหน้า” นี่ “ผู้ที่ชอบทำก็สำคัญ”

“คิดให้ดี” ระวัง “ฆ่าคนตายโดยบูลลี่!!”.