ประมาณช่วงเดือนก.ค.ปีนี้ เรือหลวงควีนเอลิซาเบธซึ่งบรรทุกเครื่องบินขับไล่รุ่นล่าสุดมาด้วย จะเดินทางเข้าสู่ทะจีนใต้เป็นครั้งแรก เพื่อเน้นย้ำการมีส่วนร่วมของสหราชอาณาจักร ในด้านการรักษาเสถียรภาพด้านความมั่นคง และการขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการร่วมเฉลิมฉลอง 50 ปี ความร่วมมือกลาโหม “ไฟฟ์ อายส์” ร่วมกับมาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

เรือหลวงควีนเอลิซาเบธ

ขณะที่เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา สมาชิกทั้ง 10 ประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) รับรองการสมัครของสหราชอาณาจักร ที่แสดงความประสงค์ขอเป็นประเทศคู่เจรจาลำดับที่ 11 ของภูมิภาค ซึ่งเป็นกระบวนการขั้นต้นก่อนเริ่มหารืออย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกัน ญี่ปุ่นประกาศเมื่อต้นเดือนนี้ ว่าภาคีทั้ง 11 ประเทศ ในข้อตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าระหว่างภาคพื้นแปซิฟิก ( ซีพีทีพีพี ) เริ่มกระบวนการเจรจาเพื่อพิจารณารับสหราชอาณาจักรเข้าเป็นสมาชิกใหม่

Foreign, Commonwealth and Development Office

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวข้างต้นบ่งชี้ “ความมุ่งมั่นอันแรงกล้า” ของสหราชอาณาจักร ในการ “กลับมาให้ความสำคัญ” กับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก หลังพ้นจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ( อียู ) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 สร้างประวัติศาสตร์เป็นประเทศแรกของอียูที่ลาออกจากการเป็นสมาชิก และเป็นความเคลื่อนไหวซึ่งยังคงสร้างแรงกระเพื่อมให้กับแทบทุกมิติของภูมิศาสตร์การเมืองโลกจนถึงปัจจุบัน

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน กล่าวว่า สหราชอาณาจักรต้องเพิ่มการแสดงบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ เพื่อร่วมรักษาเสถียรภาพให้กับระเบียบโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งขยายโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ เพื่อความเจริญรุ่งเรือง และการสร้างเสริมผลประโยชน์อย่างยั่งยืน ผ่านการเติบโตทางการค้าและเศรษฐกิจโลก ตลอดจนการยกระดับการมีส่วนร่วมของสหราชอาณาจักร ในระบบเศรษฐกิจและสังคมโลก “ที่เป็นเสรีและเปิดกว้าง”

การหันมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกของรัฐบาลสหราชอาณาจักร โดยใช้ชื่อแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านการต่างประเทศ “โกลบอล บริเตน” ( Global Britain ) ถือเป็น “การหักเลี้ยว” ครั้งสำคัญด้านนโยบายสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศซีกโลกตะวันออก นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ ทำให้โลกได้เห็นการเคลื่อนไหวของสหราชอาณาจักรในแบบที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ว่าจะได้เห็นในยุคที่โลกไม่มีคำว่า “ดินแดนภายใต้อาณานิคม” อย่างเป็นทางการอีกแล้ว การสร้างเสริมความร่วมมือระหว่างสหราชอาณาจักรกับนานาประเทศ ล้วนมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการเพื่อ “หาที่ยืน” ให้กับตัวเอง “ในโลกหลังเบร็กซิต”

แม้อิทธิพลของสหราชอาณาจักรลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในประเทศร่วมก่อตั้งไฟฟ์ อายส์ ด้านความมั่นคงในเอเชีย เมื่อปี 2514 ทำให้สหราชอาณาจักรยังคงมีสัญลักษณ์ทางทหารอยู่ในภูมิภาคแห่งนี้ กล่าวคือฐานทัพขนาดใหญ่ในสิงคโปร์และบรูไน ดังนั้น การมาเยือนของเรือหลวงควีนเอลิซาเบธแน่นอนว่าไม่ใช่เพียง “การมาอวดโฉม” เรือรบขนาดใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร แต่น่าจะเป็นการส่งสัญญาณถึงประเทศใดประเทศหนึ่งในภูมิภาคแห่งนี้

สำนักงานเลขาธิการอาเซียน ในกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

โอกาสได้เข้าสู่ทำเนียบการเป็นประเทศคู่เจรจาลำดับล่าสุดของอาเซียน เปิดทางให้สหราชอาณาจักรได้มีที่นั่งในหนึ่งในเวทีการประชุมระหว่างประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ซึ่งมีความสำคัญที่สุด นั่นคือการประชุมสุดยอดอาเซียน ยิ่งไปกว่านั้น การไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอียูจะทำให้สหราชอาณาจักรสามารถแสวงหาโอกาสเพิ่ม เพื่อการแสดงบทบาทบนเวทีแห่งนี้ได้สะดวกขึ้นด้วย แม้ในทางปฏิบัติจะยังมี “เงื่อนไข” ไปจนถึง “ข้อจำกัด” อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม เส้นทางสู่การเป็นคู่เจรจาของอาเซียน “อย่างเต็มตัว” ของสหราชอาณาจักร ยังถือว่าอีกยาวไกล และอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดเส้นทาง เพราะอาเซียนมีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องการพักรับประเทศคู่เจรจารายใหม่มานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว และการพิจารณารับสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเคยเป็นเจ้าอาณานิคมของสมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน และยังไม่เป็นที่แน่ชัด ว่าทั้งสามประเทศจะมีความรู้สึก “ประดักประเดิด” กับเรื่องนี้มากเพียงใด ว่าจะเป็นการรื้อฟื้น “ความทรงจำ” เมื่อนานมาแล้วหรือไม่

นอกจากนี้ การเข้าสู่ภูมิภาคแห่งนี้ของสหราชอาณาจักร ที่ในเบื้องหน้าจะเป็น “การฉายเดี่ยว” ย่อมต้องเผชิญกับการจับจา และอาจมีบททดสอบพอหอมปากหอมคอกับ “น้องใหม่” จากบรรดา “พี่ใหญ่และพี่รอง” ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในบริเวณนี้ ไล่ตั้งแต่จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไปจนถึงอินเดีย.

——————

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, AP