เริ่มจากความเป็นไปได้ที่ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจจะอยู่ได้ครบเทอม เหตุห้วงเวลาที่จะครบกำหนดวาระ (23 มี.ค.) เหลือเพียง 2 เดือนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากมีการยุบสภาก็จะเป็นไปด้วยเหตุผลเดียวคือ มีปัจจัยของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และเป็นส่วนประกอบเอื้อต่อการเลือกตั้งที่จะถึง โดยเฉพาะห้วงเวลาที่ผูกโยงกับข้อกฎหมายการเลือกตั้ง ตลอดจนข้อกฎหมายเกี่ยวกับตัวผู้สมัครในการที่จะโยกย้ายพรรคการเมือง เพื่อไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นการ “ชิง” ความได้เปรียบ

แรงผลักดันกลุ่มใหม่ของประเทศ

ผศ.ดร.สิงห์ มองการเมืองกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ อาจก่อให้เกิด “ปรากฏการณ์” ใหม่ ๆ ในแง่ของการที่มีพรรคการเมืองใหม่มากขึ้น มีผู้สมัครจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้นเพื่อซื้อใจประชาชน ขณะเดียวกันตัวเลือก “แคนดิเดต” ของนายกรัฐมนตรีก็จะมีมากขึ้นด้วย แต่ก็ยังผูกโยงกับกลุ่มการเมืองเดิม ซึ่งส่วนนี้จะทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการตัดสินใจมากขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าอาจจะได้เห็นปรากฏการณ์ความตื่นตัวทางการเมืองของภาคประชาชน กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมืองมากขึ้น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เองจะเป็น “แรงผลักดัน” สำคัญในการกำหนดทิศทางการเมืองไทยจากนี้

สำหรับรูปแบบหาเสียง การลงพื้นที่ ผศ.ดร.สิงห์ ชี้ว่า จะมีการใช้ช่องทางโดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างเนื้อหาผ่านโลกออนไลน์ มีการแข่งขันกันชูนโยบายที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้น พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีช่องทางการสื่อสารเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเพจเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ทำให้คนใช้สื่อออนไลน์มีโอกาสได้เข้าถึงนโยบายและจุดยืนของพรรคมากขึ้น

“อย่างไรก็ตาม การที่เน้นสื่อสารทางออนไลน์ ด้วยการสื่อสารที่รวดเร็วนี่เองอาจทำให้เกิดข้อมูลเท็จเกี่ยวกับพรรคการเมืองหรือตัวผู้สมัครมากขึ้นในส่วนนี้ต้องพึงระวัง”

พร้อมแนะสิ่งที่สังคมควรให้ความสนใจมากขึ้นคือ การมองหน้าที่ของ ส.ส. ว่ามีหน้าที่อย่างไร และควรเลือกผู้ที่เหมาะสมไปทำงาน ขณะที่การเลือกพรรคการเมืองควรดูนโยบายพรรคที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ไม่เป็นนโยบายขายฝันจนเกินไป

จากการติดตามสถานการณ์อีกสิ่งที่จะเห็นในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เลือกตั้งครั้งแรก หรือช่วงอายุ 18-27 ปี มีความสนใจและตื่นตัวในเรื่องการเมืองกันมาก ทำให้สนามเลือกตั้งครั้งนี้เสียงของคนรุ่นใหม่จึงมีผลอย่างยิ่งในการชี้ชะตาอนาคตของประเทศ เป็นการกำหนดทิศทางประเทศ ผู้นำที่ประชาชนอยากได้

ซื้อเสียงแยบยล และคนรุ่นใหม่?

ผศ.ดร.สิงห์ เผยถึงประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องการซื้อเสียง ส่วนตัวมองว่าการซื้อเสียงยังมีอยู่ แต่มีความ “แยบยล” มากกว่าอดีต หน่วยงานเกี่ยวข้องอย่าง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องติดตามและหาวิธีป้องกันการซื้อเสียงที่แยบยล และการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง การซื้อเสียงสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ต้องบอกว่าไม่ค่อยน่าห่วง เพราะคนรุ่นใหม่อยู่ในโลกของข้อมูลข่าวสาร และมีความคิดเป็นของตนเอง ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งคนรุ่นใหม่จะมีแนวคิดว่าจะเลือกผู้สมัครที่ตัวเองคิดว่าเป็นตัวแทน มีแนวคิดที่ตรงกันเป็นหลัก ทำให้การซื้อเสียงคนกลุ่มนี้ทำได้ยาก

“การครองใจคนรุ่นใหม่ผู้สมัครจะต้องเข้าถึงและสามารถเป็นผู้ที่มีแนวคิดที่ตรงกับความคิดคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ความรู้สึกว่าผู้สมัครเป็นตัวแทนได้”

สิ่งหนึ่งที่อยากได้จากการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ คือการเมืองสร้างสรรค์ที่ประชาชนได้ประโยชน์จากการที่ ส.ส.เข้าไปทำหน้าที่แทนในสภา ที่ผ่านมาบทบาท ส.ส. มีไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น ในปัจจุบันวาระของ ส.ส. คือ 4 ปี แต่ละปีควรสรุปผลงานให้ทราบว่าตัวแทนของประชาชนมีผลงานเป็นอย่างไร หากไม่มีผลงานชัดเจน พรรคควรทำให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข

ในอนาคตหากเป็น ส.ส. แล้วไม่มีผลงาน ไม่เข้าประชุมสภา จะมีมาตรการอย่างไร หรือต้องรอให้ครบวาระ 4 ปีเท่านั้น เช่นเดียวกับบทบาทพรรคควรมีการประเมินผลงานว่าสามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้หรือไม่

“อยากให้ประชาชนทำความเข้าใจถึงอำนาจหน้าที่ของ ส.ส. ว่าสามารถทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้บ้าง เพื่อจะเข้าใจว่าผู้สมัครมีการหาเสียงที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่การเป็น ส.ส.หรือไม่”

ผศ.ดร.สิงห์ ย้ำว่า การทำให้ประชาชนเข้าใจบทบาทหน้าที่บุคคลที่จะเลือกมานั้นสำคัญมาก และจำเป็นที่รัฐต้องเพิ่มความรู้ความเข้าใจอำนาจหน้าที่ของ ส.ส. ในการเป็นผู้แทนตามรัฐธรรมนูญด้วย.