“ระบอบคาสโตร” สิ้นสุดอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา นายราอูล คาสโตร วัย 89 ปี น้องชายของนายฟิเดล คาสโตร รัฐบุรุษแห่งชาติผู้ล่วงลับ ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คิวบา ซึ่งในทางการเมืองถือเป็นตำแหน่ง “ผู้มีอำนาจสูงสุด” ถือเป็นการถ่ายโอนอำนาจครั้งสำคัญทางการเมืองขั้นตอนสุดท้าย ให้แก่ประธานาธิบดีมิเกล ดิแอซ-การ์เนล ทายาททางการเมืองของตระกูลคาสโตร วัย 60 ปี
การลงจากตำแหน่งของคาสโตรเกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่พรรคคอมมิวนิสต์คิวบา ซึ่งผูกขาดการปกครองประเทศยาวนานตั้งแต่ปี 2502 เผชิญกับความท้าทายที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหายืดเยื้อเรื้อรังจากความสัมพันธ์กับสหรัฐ ที่กลับมาตึงเครียดอีกครั้งตั้งแต่ยุครัฐบาลวอชิงตัน ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐคนปัจจุบัน
Al Jazeera English
สำหรับการถ่ายโอนอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาในครั้งนี้ เรียกได้ว่า “เป็นการผลัดใบครั้งยิ่งใหญ่” เนื่องจากไม่เพียงแต่คาสโตรเท่านั้นที่ลงจากตำแหน่ง แต่บรรดาผู้อาวุโสในคณะกรมการเมือง หรือโปลิตบูโรทั้งหมดยังสละตำแหน่งพร้อมกันด้วย เปิดทางให้ “คนรุ่นใหม่” ที่นำโดยดิแอซ-การ์เนล ซึ่งเกิดหลังยุคการปฏิบัติคิวบา รับช่วงต่อการบริหารประเทศอย่างเต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ตาม ก่อนรับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คิวบา ดิแอซ-การ์เนล เผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากทั้งในและต่างประเทศ ตลอดระยะเวลา 3 ปีในตำแหน่งผู้นำรัฐบาลฮาวานา ดิแอซ-การ์เนลพบกับแรงเสียดทานทางเศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนสงครามประสาทในสมัยรัฐบาลทรัมป์ ขณะที่วิกฤติโรคโควิด-19 เล่นงานระบบเศรษฐกิจของคิวบาซึ่งตึงตัวอย่างหนักอยู่แล้ว ให้ยิ่งฝืดเคืองมากขึ้นไปอีก
ขณะเดียว การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่รัฐบาลคิวบาเปิดกว้างให้แก่ประชาชนมากขึ้นในระยะหลัง ยังก่อให้เกิดแนวร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อ “ซาน อิซิโดร” จัดการชุมนุมประท้วงหน้ากระทรวงวัฒนธรรม ในกรุงฮาวานา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในคิวบา และยังรวมตัวกันอดอาหารประท้วงรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักกิจกรรมการเมืองที่เป็นแนวร่วม
The New York Times
หลังจากนี้ คิวบาในยุคของดิแอซ-การ์เนล น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจในเชิงบวกมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย ทว่าโดยรวมผู้นำคิวบาคนปัจจุบันและคณะ น่าจะยังคงรักษารากฐานของความเป็นคาสโตรเอาไว้มากที่สุด จึงมีแนวโน้มว่า สังคมคิวบาจะยังต้องอยู่ภายใต้กฎเหล็กที่เกี่ยวข้องกับนโยบายทางการเมืองของฝ่ายบริหารต่อไป ในขณะที่รัฐบาลพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ “บนเส้นทางทรหด”
การที่คิวบาผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนถึงทุกวันนี้ได้ คนส่วนใหญ่ทั้งในและต่างประเทศย่อมนึกถึงคาสโตรผู้พี่เป็นหลัก นั่นคือฟิเดล ซึ่งเป็นหัวหอกร่วมกับสหายเช เกบารา นักปฏิวัติการเมืองชาวอาร์เจนตินา เคลื่อนไหวแบบกองโจร นำขบวนการ “26 กรกฎาคม” ล้มอำนาจรัฐบาลของนายพลฟุลเฮนซิโอ บาติสตา ที่สหรัฐสนับสนุนได้สำเร็จ เมื่อปี 2502 และนำคิวบาสู่การเป็นสังคมนิยมอย่างเต็มรูปแบบ คาสโตรผู้น้องคือราอูลร่วมอยู่ในขบวนการด้วย และให้การสนับสนุนพี่ชายและสหายทุกคนมาตลอด
ฟิเดล คาสโตร ( คนซ้าย ) และเช เกบารา ที่กรุงฮาวานา เมื่อปี 2501
จนกระทั่งฟิเดลวางมือและถ่ายโอนอำนาจให้แก่น้องชาย เมื่อปี 2551 ตลอดระยะเวลานานกว่า 1 ทศวรรษทั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คิวบา ราอูลมีความพยายามปฏิรูปคิวบาให้มีความเป็นสมัยใหม่มากขึ้น แม้มีการคัดค้านอย่างหนักจากปีกชาตินิยมขวาจัดในพรรคเดียวกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจรวมถึงฟิเดลด้วย จากการที่เมื่อรัฐบาลของราอูลประกาศ “ฟื้นฟูความสัมพันธ์” กับสหรัฐ เมื่อปี 2557 มีรายงานว่า ฟิเดลคัดค้านเรื่องนี้อย่างหนัก ก่อนถึงแก่อสัญกรรมในอีก 2 ปีต่อมา โดยที่รัฐบาลสหรัฐไม่แสดงท่าทีอย่างเป็นทางการต่อการจากไปของบุคคลที่ได้ชื่อว่า เป็นเสี้ยนหนามและหอกข้างแคร่ นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น
ขณะเดียวกัน ราอูลยังมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารภายในสถาบันการปครองหลักของคิวบา นั่นคือพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ชัดเจนคือการกำหนดเกณฑ์อายุ และลดการผูกขาดทางอำนาจ ราอูลกล่าวต่อที่ประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์คิวบา เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่คาสโตรผู้น้องปรากฏตัวอย่างเป็นทางการ ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดแห่งคิวบา กล่าวว่า เขามีความเชื่อมั่นต่อ “อนาคตของปิตุภูมิ” และตลอดเวลาในตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คิวบา เขาได้ปฏิบัติภารกิจสำเร็จลุล่วงแล้ว
แม้นับจากนี้ไม่มีตำแหน่งใดแล้วในพรรค เหลือเพียสถานะสมาชิก แต่ราอูลกล่าวเป็นนัยว่า ตัวเขายังพร้อมเสมอที่จะร่วมปกป้องบ้านเมือง และรักษาอุดมการณ์สังคมนิยม พร้อมทั้งอุดมการณ์ของการปฏิวัติให้คงอยู่ต่อไป.
—————–
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป