ยกตัวอย่างการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับการสูบบุหรี่ ซึ่งองค์การอนามัยโลก ระบุว่าเป็นสาเหตุของการเกิดโรคถึง 200 โรค หนึ่งในนั้นคือเป็นสาเหตุของการก่อโรคมะเร็งในหลายๆ อวัยวะของร่างกาย แต่ในคนบางคนที่ดื่มเหล้า สูบบหรี่กลับป่วยเป็นมะเร็ง แต่บางคนก็ไม่ป่วย

เรื่องนี้ “นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์” ผอ.สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ตอบคำถามไว้ในการเสวนา “ถอด รหัสมะเร็งกับสุรา : ปัญหาชีวิตคนไทย” เนื่องในวันมะเร็งโลก  4 ก.พ.ของทุกปี ซึ่งจัดโดย สสส.ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) 

ทั้งนี้ นพ.พงศ์เทพ อธิบายว่า นี่เป็นเรื่องที่มักจะถูกถามอยู่เสมอ ดังนั้นต้องเข้าใจก่อนว่ามะเร็งคือเซลล์ของร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือการกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรม หรือเรียกว่าเซลล์กบฏ ที่ไม่เชื่อฟังคำสั่งของร่างกายอีกต่อไป แถมยังย้อนกลับมากัดกินเซลล์ของร่างกาย

ซึ่งปกติเซลล์เดิมเป็นเซลล์ที่เชื่อฟังคำสั่งทุกอย่าง ให้ทำอะไรก็ทำ เป็นเซลล์ปอดก็ทำหน้าที่ฟอกอากาศให้หายใจเป็นอย่างดี เป็นเซลล์ตับก็ทำหน้าที่ขับสารพิษทิ้งทางปัสสาวะ แต่เซลล์พวกนี้เมื่อได้รับสารเคมีเข้าไปซ้ำ ๆ โดยเฉพาะสารก่อมะเร็งจะไปโจมตีและทำให้เซลล์ต่างๆ เกิดความเสียหายในระดับสารพันธุกรรม หรือนิวเคลียส แต่ด้วยกลไกตามธรรมชาติของร่างกายซึ่งจะมีเม็ดเลือดขาวคอยซ่อมแซม กัดกินเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์นั้นกลับมาเป็นเซลล์ปกติได้ แต่ถ้าถูกสารก่อมะเร็งโจมตีซ้ำ ๆ จนถึง
จุด ๆ หนึ่งร่างกายเริ่มอ่อนแอลงการซ่อมแซมก็ไม่ดีเหมือนเดิม ทำให้เซลล์บางเซลล์กลายพันธุ์เป็นเซลล์กบฏขึ้นมา

“ดังนั้นบางคนที่อาจจะเสพสารเสพติด หรือสารก่อมะเร็ง เหล้า บุหรี่ อยู่และยังไม่ได้เป็นโรคมะเร็ง เพราะร่างกายอาจยังมีระบบซ่อมที่ดี และมีระบบทำลายล้างเซลล์มะเร็งที่ดี แต่เมื่อวันหนึ่งอายุมากขึ้น ร่างกายอ่อนแอมันก็เกิดเป็นเซลล์มะเร็งขึ้น ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวเรามีการซ่อมแซมและการต่อสู้กับเซลล์มะเร็งที่เป็นภูมิต้านทานตรงนี้ดีหรือไม่ดี สิ่งที่เราทำได้คือการลดการรับสารก่อมะเร็ง” 

อย่างไรก็ตาม นพ.พงศ์เทพ ย้ำว่า ต่อให้ร่างกายคนเรามีการซ่อมแซมแล้ว แต่จริง ๆ จะทำให้กลไกการทำงานของร่างกายค่อย ๆ เสื่อมลง เช่น ต่อให้ตับยังไม่กลายเป็นมะเร็ง แต่เซลล์ตับก็จะเสียหายกลายเป็นไขมันแทรกในตับ แล้วค่อย ๆ กลายเป็นโรคตับแข็ง และจากนั้นตับจะค่อยๆ เสื่อมโทรมค่อนข้างมาก จนไม่สามารถทำลายสารก่อมะเร็งได้ตามปกติ ทำให้สารก่อมะเร็งที่เข้ามาโจมตีร่างกายได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

ทั้งนี้ สารก่อมะเร็งในโลกนี้มีหลายชนิด แต่ที่น่ากลัวที่สุด คือเหล้า บุหรี่ เพราะจัดเป็นสารเสพติดเราคนเราตั้งใจรับเข้าไปเอง ตามค่านิยมของสังคม เพื่อแลกกับความสุขสำเร็จรูปเพียงชั่วคราว เพื่อชดเชยความสุขบางอย่างที่ไม่ได้จากการใช้ชีวิตประจำวัน เปรียบเหมือนการกู้ธนาคารความสุขมาใช้ แต่มีดอกเบี้ยที่แพงเป็นหมื่นเท่า ทบต้น ทบดอก แล้วแอลกอฮอล์จะก่อมะเร็งตับ มะเร็งทางเดินอาหาร ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะ ลำไส้ ส่วนบุหรี่จะก่อมะเร็งปอดและมะเร็งทางเดินหายใจ ตั้งแต่ช่องปาก หลอดลม กล่องเสียง จากควันบุหรี่ และยังส่งผลโจมตีไปยังอวัยวะที่พยายามกำจัดสารมะเร็งออกจากร่างกาย เช่น ตับ กระเพาะปัสสาวะ 

“มีงานวิจัยพบว่าการดื่มแอลกอ ฮอล์ทุกๆ 1 แก้วที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ชีวิตสั้นลง 30 นาที”  นพ.พงศ์เทพ ย้ำในตอนท้าย.

อภิวรรณ เสาเวียง