แต่คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะวัยเรียน ณ วินาทีนี้กลายเป็นกลุ่มที่มิอาจมองข้าม ด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การเข้าถึงที่มากขึ้น ทำให้การรับรู้ของผู้คนเปิดกว้าง และตระหนักถึงความเชื่อมโยงการเมืองที่ใกล้ตัวขึ้นเรื่อย ๆ 

ประชาธิปไตยยืนหนึ่งตลอดสัปดาห์นี้ มีโอกาสสำรวจเสียงอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้คลุกคลีกับกลุ่มนักศึกษาที่กำลังจะก้าวเข้ามาใช้อำนาจ “1 สิทธิ 1 เสียง ชี้ชะตาบ้านเมือง ตลอดจนออกสำรวจฟังเสียงจาก ปากคนรุ่นใหม่มาให้ติดตามกัน โดยวันนี้เริ่มที่การพูดคุยกระแสตื่นตัวทางการเมืองของนักศึกษากับ ดร.อรรถยา สุนทรายน อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสร้างสรรค์คอนเทนต์ดิจิทัล วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สะท้อนภาพนักศึกษากับการเลือกตั้งครั้งหน้าว่ายังไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ส่วนหนึ่งเพราะว่ายังไม่มีการประกาศกำหนดวันเวลา หรือการเปิดรับสมัคร ส.ส.

แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือนักศึกษาให้ความสนใจการเมืองมากขึ้นเมื่อเทียบกับเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2562 โดยพบการติดตามข่าวสารในแง่มุมการเมือง รวมถึงความสนใจในนโยบายพรรคต่าง ๆ ส่วนตัวมองว่านักศึกษาสาขาวิชานิเทศศาสตร์มีความตื่นตัวมากขึ้น แต่อาจยังไม่มากเท่านักศึกษาคณะอื่น แต่เชื่อว่าหากมีการเลือกตั้งหรือประกาศวันและเวลาเลือกตั้งชัดเจน นักศึกษาจะตื่นตัวกว่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง “ครั้งแรก”

ดร.อรรถยา ชี้ประเด็นน่าสนใจขณะนี้คือเยาวชนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น โดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐานหรือสิทธิควรพึ่งมี  ตลอดจนผลที่จะได้รับ แสดงให้เห็นทัศนคติของตัวคนรุ่นใหม่มองว่าการเมืองไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลตัวพวกเขาอีกต่อไป ที่เห็นชัดคือการแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ที่แสดงออกชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่าง การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา นักศึกษาหลายคนแสดงความเห็นทั้งความชอบในตัวบุคคล ความชื่นชอบในตัวของนโยบาย เป็นต้น

“หากถามถึงสัญญาณความสนใจการเมืองของตัวกลุ่มนักศึกษา ณ ห้วงเวลานี้ยังไม่มีสัญญาณเด่นชัดที่แสดงออกมาว่านักศึกษามีความสนใจทางด้านการเมือง แต่เชื่อว่าหากเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าภายในปีนี้จะมีการเลือกตั้ง เชื่อว่าการตื่นตัวจากกลุ่มเยาวชนจะเป็นสัญญาณสำคัญของการออกไปใช้สิทธิใช้เสียง ผ่านกระบวนการขั้นตอนตามรูปแบบประชาธิปไตย”

สำหรับบรรยากาศในรั้วการศึกษา ดร.อรรถยา กล่าวว่า ทุกมหาวิทยาลัยจะมีกิจกรรมที่ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ผ่านรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเลือกตั้งนายกสโมสรนักศึกษา ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะเป็นการปลูกฝังให้ตัวนักศึกษาเข้าใจถึงระบบการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันมีการให้ความรู้หรือสอดแทรกในรายวิชา เช่น รายวิชาเกี่ยวกับนิเทศศาสตร์ หากมีการพูดถึงเรื่องของการผลิตสื่อหรือการผลิตคอนเทนต์ก็หยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาในเรื่องของการผลิตคอนเทนต์ของกลุ่มพรรคการเมืองต่าง ๆ ตลอดจนการใช้ช่องทางของสื่อโซเชียลมีเดีย ของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ต้องการจะเข้าถึงประชาชน

ต้องยอมรับว่าด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท การหาเสียงในรูปแบบใช้ป้ายหาเสียงแนะนำตัวผู้สมัคร แนะนำนโยบาย หรือการที่ผู้สมัครขึ้นรถกระบะเชิญชวนให้คนออกมาเลือกตั้ง กลายเป็นเครื่องมือที่มีพลังน้อยกว่าโทรศัพท์มือถือ หรือการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งรวดเร็วและเข้าถึงได้ง่ายทุกเพศทุกวัย

ทั้งนี้ ปัจจุบันจะเห็นได้จากการที่พรรคการเมืองต่าง ๆ ผลิตเนื้อหาหรือคอนเทนต์ ตลอดจนชูนโยบายหาเสียงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เป็นต้น ซึ่งการเลือกตั้งปี 2562 ที่เห็นชัดคือ ระเบียบการหาเสียงที่อนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดียโดยเป็นไปตามระเบียบการเลือกตั้ง อาทิ ลงทะเบียนสื่อโซเชียลของพรรคก่อน มีการลงนามชื่อพรรคใต้โพสต์ทุกครั้ง ทำให้จากเดิมที่การหาเสียงนั้นอยู่แค่บนสื่อหลักอย่างวิทยุ โทรทัศน์ หรือป้ายหาเสียงตามข้างทางก็มีสื่อโซเชียลเข้ามาเป็นอีกช่องทางหนึ่ง

“ที่แตกต่างชัดเจนอีกอย่างคือแต่ละพรรคมีช่องทางเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเพจเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ นั่นทำให้คนใช้สื่อออนไลน์มีโอกาสเข้าถึงนโยบายและจุดยืนของพรรคได้มากขึ้น ตลอดจนการติด “แฮชแท็ก” เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เราเห็นได้ชัดผ่านการใช้สื่อออนไลน์ โดยเฉพาะแพลทฟอร์มอย่างทวิตเตอร์ ที่มีการอัพเดทความเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านแฮชแท็กจนขึ้นติดเทรนด์กันอยู่ตลอด ทำให้การเลือกตั้งที่จะถึงนี้เป็นการต่อสู้หรือการหาเสียงในรูปแบบเรียลไทม์ และหาเสียงตลอด 24 ชม.” ดร.อรรถยา สะท้อนมุมมองทิ้งท้าย.