แม้ทำหน้าที่ผู้แทนของชาวปาเลสไตน์บนเวทีโลก อย่างไรก็ตาม อับบาสปักหลักอยู่ที่เมืองรามัลเลาะห์ ในเขตเวสต์แบงก์ กลับยังคงไม่สามารถสร้างบารมีและอิทธิพลทางการเมืองในระดับท้องถิ่น ให้ทัดเทียมกับกลุ่มฮามาส ซึ่งปกครองฉนวนกาซา ตั้งแต่ปี 2549 และการเผชิญหน้ากับรัฐบาลอิสราเอลทุกยุคทุกสมัย ซึ่งยังคงใช้นโยบายขยายอาณาเขตนิคมที่อยู่อาศัยของชาวยิว ในเขตเวสต์แบงก์ หนึ่งในพื้นที่พิพาทระหว่างสองฝ่าย นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามหกวัน เมื่อปี 2510
การปรากฏตัวต่อสาธารณชนของอับบาสเน้นไปที่การต้อนรับผู้นำโลกและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนานาประเทศ หนึ่งในนั้น คือนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ เดินทางมาเยือนถึงเมืองรามัลเลาะห์ เมื่อปลายเดือนม.ค. ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่การทูตหมายเลขหนึ่งของรัฐบาลวอชิงตันยังคง “หยอดคำหวาน” ว่าสหรัฐยึดมั่นการสนับสนุนแนวทางสองรัฐ แต่อับบาสตอบอีกฝ่าย ว่าสหรัฐและพันธมิตรตะวันตกไม่เคยร่วมกันสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง “ในทางปฏิบัติ” ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้ปาเลสไตน์ได้รับการยอมรับบนเวทีโลก ในฐานะรัฐ และการให้อิสราเอล “ต้องรับโทษจากการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”
อนึ่ง อับบาสถือได้ว่าเป็นชาวปาเลสไตน์รุ่นแรกซึ่งต้องลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ โดยเจ้าตัวเกิดในช่วงสงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งที่หนึ่ง เมื่อปี 2491 ที่ส่งผลให้ชาวอาหรับ-ปาเลสไตน์ ครึ่งหนึ่ง จากราว 1.4 ล้านคน รวมถึงตัวอับบาสเอง ต้องอพยพออกนอกภูมิภาค ซึ่งอับบาสและครอบครัวเดินทางไปยังซีเรีย
บนเส้นทางการเมือง อับบาสถือเป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิกของพรรคฟาตาห์ หรือ ฟัตห์ ซึ่งเป็นปีกการเมืองขององค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ ( พีแอลโอ ) ที่มีอุดมการณ์การเมืองคนละขั้วกับกลุ่มฮามาส เมื่ออาราฟัตถึงแก่อสัญกรรมในปี 2547 อับบาสรับช่วงต่อในทั้งสองตำแหน่ง หลังจากนั้นอีก 1 ปี อับบาสได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีปาเลสไตน์ แต่มีขอบเขตอำนาจและอิทธิพลอยู่เฉพาะภายในเขตเวสต์แบงก์
หนึ่งในภารกิจด้านการเมืองระหว่างประเทศครั้งสำคัญที่สุดของอับบาส คือ การเป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญของการลงนามในสนธิสัญญาออสโล ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2536 แม้ไม่ได้เป็นผู้ลงนามในเบื้องหน้า แต่การอยู่เบื้องหลังในฐานะผู้ขับเคลื่อนการเจรจา สร้างความหวังให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเวลานั้น ว่าทักษะของอับบาสจะช่วยให้ความขัดแย้งยืดเยื้อระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยุตอย่างสันติ
อย่างไรก็ตาม อับบาสปรากฏตัวน้อยครั้งลงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสข่าวเกี่ยวกับการต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล แม้เป็นไปตามสุขภาพที่ทรุดโทรมตามวัย แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพิ่มความวิตกกังวลให้กับหลายฝ่ายมากขึ้น เกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาลปาเลสไตน์ ในการฝ่าฟันมรสุมการเมือง จากแรงเสียดทานทั้งภายในและภายนอก
แม้สมัชชาสหประชาชาติ ( ยูเอ็นจีเอ ) รับรองสถานะ “สมาชิกที่ไม่ใช่รัฐ” ( non-member statehood ) ให้แก่ปาเลสไตน์ เมื่อปี 2555 แต่เป้าหมายของปาเลสไตน์หลังจากนั้น กลับยังคงไม่มีความชัดเจน แม้พบกับประธานาธิบดีสหรัฐมาแล้วหลายคน แต่กลับยังไม่สามารถโน้มน้าวหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับปาเลสไตน์ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ปาเลสไตน์กลับดูโดดเดี่ยวมาก เมื่อประเทศขนาดใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ( ยูเออี ) บาห์เรน และโมร็อกโก ลงนามในข้อตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเต็มรูปแบบกับอิสราเอล
ทั้งนี้ทั้งนั้น อับบาสเคยกล่าวครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2537 ว่าสนธิสัญญาออสโลทำให้ปาเลสไตน์เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองโลก ทว่าหลังจากนั้น โดยส่วนตัวเขามีความวิตกกังวลอย่างมากเช่นกัน ว่าประวัติศาสตร์ การสูญเสียความควบคุม และความเสื่อมถอยในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง อาจทำให้ปาเลสไตน์ต้องหายไปจากประวัติศาสตร์.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : REUTERS