เมื่อ 2 ทศวรรษก่อนหน้าที่เราจะได้เห็นสถานีอวกาศลอยอยู่เหนือโลก เกิดเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นภัยพิบัติ ที่เปรียบดังฝันร้ายของผู้เกี่ยวข้องในวงการอวกาศและการบิน เมื่อกระสวยอวกาศโคลัมเบีย ประสบอุบัติเหตุระหว่างเดินทางกลับสู่พื้นโลก ทำให้ผู้บังคับการและลูกเรือทั้งหมด 7 คน ต้องเสียชีวิต

กระสวยอวกาศโคลัมเบียถือเป็นยานพาหนะลำแรกของนาซา ที่สามารถ “บิน” สู่ห้วงอวกาศได้จริง ๆ และนาซาเองก็เริ่มใช้งานมาแล้วหลายสิบเที่ยวในช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษ โดยขึ้นบินเที่ยวแรกในวันที่ 12 เม.ย. 2524 จากนั้นก็มีช่วงที่หยุดบินไประยะหนึ่ง เนื่องจากมีกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์มาแทน แต่ก็ต้องยุติไปหลังเกิดระเบิดหลังจากปล่อยตัวในปี 2529 กลายเป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของนาซาเช่นกัน

เช้าวันที่ 1 ก.พ. 2546 คือวันและเวลากำหนดกลับของกระสวยอวกาศโคลัมเบีย เที่ยวบินที่ 28 หลังจากที่มันกลับมาทำหน้าที่รับภารกิจอีกครั้งและกลายเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อศูนย์ภาคพื้นดินของนาซา ไม่พบสัญญาณของยานโคลัมเบีย ทั้งที่เลยกำหนดเวลากลับสู่พื้นโลกที่ศูนย์บังคับการเคนเนดี รัฐฟลอริดา อีกทั้งไม่สามารถติดต่อยานได้

ต่อมาภายหลังจึงพบว่ายานโคลัมเบียแตกออกเป็นชิ้น ๆ เหนือท้องฟ้าทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐเทกซัส หลังจากที่ผ่านชั้นบรรยากาศโลกลงไม่นานนัก และเหลืออีกเพียงไม่กี่นาทีก็จะได้ลงจอดตามปกติ ยังผลให้ผู้ที่อยู่ในยานเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งได้แก่ ผู้บังคับการ ริค ฮัสแบนด์, นักบิน วิลลี แมคคูล, ผู้เชี่ยวชาญพิเศษของภารกิจประจำเที่ยวบิน คัลพานา ชอว์ลา, ลอเรล คลาร์ก, ไมเคิล แอนเดอร์สัน, เดวิด บราวน์ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์นำ้หนักประจำเที่ยวบิน อิลาน รามอน จากอิสราเอล  

ทีมลูกเรือที่เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมกระสวยอวกาศโคลัมเบีย : (นั่งแถวหน้าจากซ้ายไปขวา) ริค ฮัสแบนด์, คัลพานา ชอว์ลา, วิลเลียม แมคคูล (ยืนแถวหลัง จากซ้ายไปขวา) เดวิด บราวน์, ลอเรล คลาร์ก, ไมเคิล แอนเดอร์สัน และอิลาน รามอน

นาซา ใช้เวลาหลายสัปดาห์ต่อมาในการรวบรวมชิ้นส่วนยานโคลัมเบียหลายพันชิ้น รวมทั้งร่างที่เหลือของบรรดาลูกเรือ ซึ่งตกลงมาและกระจัดกระจายไปทั่วหลายพื้นที่ในรัฐเทกซัส, อาร์คันซอ และลุยเซียนา 

การดำเนินสืบสวนหาสาเหตุกินเวลานานหลายเดือน กว่าจะสามารถสรุปและเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับสาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้

ภาพการวางเรียงเศษชิ้นส่วนของยานโคลัมเบีย ที่เก็บได้ระหว่างการสืบสวนเพื่อหาสาเหตุที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2546

สาเหตุที่ยานโคลัมเบียแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงการส่งตัวยานขึ้นสู่อวกาศ โดยมีชิ้นส่วนโฟมซึ่งทำหน้าที่กันความร้อนบริเวณถังเชื้อเพลิง แตกหลุดออก แล้วลอยไปกระแทกปลายปีกซ้ายของยานอยู่นานกว่า 1 นาที 

เหตุการณ์ดังกล่าว มีการบันทึกภาพเก็บไว้ แต่ทีมวิศวกร ณ เวลานั้น ไม่สามารถระบุพื้นที่และความร้ายแรงของความเสียหายได้ ขณะที่ทีมจัดการของนาซาเชื่อว่า ไม่สามารถแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นได้ จึงเลือกที่จะนิ่งเฉยต่อความกังวลของทีมวิศวกร

รายงานการสืบสวนระบุว่า พบรูโหว่ที่ปีกซ้ายของยาน ซึ่งทำให้ก๊าซต่าง ๆ ในชั้นบรรยากาศเข้ามาในตัวยานได้ ระหว่างที่ยานกำลังแล่นผ่านชั้นบรรยากาศโลกในเที่ยวกลับ ซึ่งทำให้ยานเกิดอาการโอเวอร์ฮีทจนแตกและหลุดออกเป็นชิ้น ๆ ขณะอยู่บนท้องฟ้า

เมื่อผลของการสืบสวนปรากฏก็ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมา โดยเฉพาะการแสดงความเห็นว่า นาซาสามารถหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้ หากมีการลงมือแก้ไขก่อนหน้านั้น เช่น ควรมอบหมายให้ลูกเรือซ่อมปีกซ้ายที่เสียหาย หรือมีปฏิบัติการช่วยทีมลูกเรือออกมาจากยานก่อนที่จะเกิดเหตุ

บทเรียนสำคัญยิ่งที่นาซาได้เรียนรู้ก็คือ โศกนาฏกรรมครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความผิดพลาดของการทำงานของอุปกรณ์ หรืออุบัติเหตุที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ แต่ยังมีสาเหตุใหญ่มาจากวัฒนธรรมขององค์กรที่ละเลยหรือใส่ใจเรื่องความปลอดภัยของทีมงานในระดับที่น้อยมากมาเป็นเวลานาน รวมถึงงบประมาณที่ลดต่ำลงและตารางการบินที่ถี่เกินไป 

ทีมสืบสวนยังเรียกร้องให้นาซาพยายามหาระบบใหม่มาทดแทนการใช้งานกระสวยอวกาศ และเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐให้การสนับสนุนมากขึ้น

นาซาระงับเที่ยวบินของกระสวยอวกาศต่าง ๆ เป็นเวลานานถึง 2 ปี หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับยานโคลัมเบีย และยกเลิกโปรแกรมการใช้งานกระสวยอวกาศทั้งหมดในปี 2554

ณ เวลานี้ นาซากำลังเตรียมการสำหรับเที่ยวบินสู่อวกาศยุคใหม่ในโครงการ ‘ภารกิจอาร์เทมิส’ ซึ่งมีความพิเศษตรงที่จะมีนักบินอวกาศหญิงและเป็นนักบินอวกาศผิวดำคนแรกของนาซา โดยมีเป้าหมายที่จะลงสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ในปี 2568 พร้อมด้วยคำมั่นจากทีมงานชุดปัจจุบันว่า พวกเขาได้ถอดบทเรียนจากโศกนาฏกรรมในอดีต และนำมาประยุกต์ใช้กับปฏิบัติการยุคปัจจุบัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องน่าเศร้าเช่นเดียวกับเมื่อ 20 ปีก่อน.

แหล่งข้อมูล : npr.org

เครดิตภาพ : AFP