น่าเห็นใจจากการที่มีกรณี “บุคคลในเครื่องแบบสีกากีส่วนน้อย” ทำให้ส่วนใหญ่พลอย “ถูกกังขาในความซื่อสัตย์สุจริต??” ไปด้วย โดยหลัง ๆ มีกรณีอื้ออึง “เกิดขึ้นซ้อน ๆ กันอย่างต่อเนื่อง!!”…

“จริยธรรมวิชาชีพตำรวจ” ยิ่ง “มีปุจฉา”

“ปฏิรูปตำรวจ” ยิ่ง “ถูกมองถึงซัคเซส?”

ทั้งนี้ อย่างที่ทราบ ๆ กันว่า…ประเทศไทยในช่วงกว่า 8 ปีมานี้ผู้คนต่างก็คาดหวังว่าอะไร ๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม จากการที่คณะผู้บริหารประเทศ ทั้งเมื่อครั้งที่มาแบบนอกระบบ และในระบบ ทั้งพูดทั้งแสดงท่าทีขึงขังเกี่ยวกับเรื่องการ “ปฏิรูปประเทศไทย” โดยที่การ “ปฏิรูปตำรวจไทย” ก็เป็นส่วนหนึ่งในภาพรวม “ไทยยุคปฏิรูป” ด้วย

กล่าวสำหรับการ “ปฏิรูปตำรวจไทย” ที่ผ่านมานั้นทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็ได้เคยสะท้อนข้อมูลไปบ้างแล้วว่ามีการดำเนินการ “ปฏิรูป 7 ด้าน” ประกอบด้วย… ด้านโครงสร้างตำแหน่ง, ด้านทรัพยากรบุคคล, ด้านระบบงานสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย, ด้านการใช้เทคโนโลยีสนับสนุนการรักษาความปลอดภัย, ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน, ด้านการตรวจสอบและกำกับการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส และด้านสวัสดิการ …ซึ่งการปฏิรูปตำรวจไทยในด้านต่าง ๆ ที่ว่ามา…มาถึงวันนี้ก็เชื่อว่าย่อมจะมีความ “คืบหน้า” หรือน่าจะ “ซัคเซส?” แล้วในระดับหนึ่ง แต่ทว่า…

“ปุจฉาจริยธรรม” ถึงวันนี้ “ก็ยังเซ็งแซ่??”

และหากจะโฟกัสที่เรื่อง “จริยธรรมวิชาชีพตำรวจ” กับการจะ “แก้ไขปัญหา-พัฒนา” เรื่องนี้ก็มิใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด…หากแต่เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงมาเนิ่นนานมาก ๆ แล้ว และก็อย่างที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้เคยสะท้อนข้อมูลไปบ้างแล้วเช่นกัน ว่า…ก็มีโครงการศึกษาวิจัย-มี “งานวิจัยตำรวจโดยตำรวจ” ที่ก็น่าจะเป็นอีกเครื่องมือช่วยที่มีประสิทธิภาพได้…หากมีการนำไปใช้ “แก้ปัญหา-พัฒนาจริยธรรมวิชาชีพตำรวจ” อย่างจริงจัง-อย่างเข้มข้น เนื่องเพราะงานศึกษาวิจัยในส่วนนี้ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อ… ศึกษาปัญหาด้านจริยธรรมในวิชาชีพตำรวจ ศึกษาปัญหาการปฏิบัติตามจริยธรรมในวิชาชีพตำรวจ ศึกษากลไกการควบคุมด้านจริยธรรมในวิชาชีพตำรวจ และก็เพื่อศึกษา แนวทางแก้ไขปัญหาจริยธรรมในวิชาชีพตำรวจ

อย่างเช่น… งานวิจัย หรือโครงการศึกษาวิจัยหัวข้อ “จริยธรรมในวิชาชีพตำรวจ (Ethics of the Policemen’s Profession)” โดยคณะที่นำโดยนายตำรวจคือ ดร.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ ขณะยศ พล.ต.ต. ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. หรือ สกสว. ในปัจจุบัน ซึ่งรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้เผยแพร่ไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2556

“จริยธรรมตำรวจ” ก็ “มีงานวิจัยจริงจัง”

“วิจัยตำรวจโดยตำรวจ” นี่ก็ “น่าย้อนดู”

ทั้งนี้…กลุ่มตัวอย่างการ “ศึกษาวิจัยจริยธรรมในวิชาชีพตำรวจ” ดังกล่าวนี้ เป็นตำรวจที่อยู่ในแต่ละภาค รวมถึงประชาชนที่เป็นผู้เสียหาย ผู้ที่ใช้บริการตำรวจ ผู้ที่เป็นผู้ต้องหา ซึ่ง ณ ที่นี้ขอเน้นว่าจากผลศึกษาวิจัยนั้น…มิได้หมายความว่าตำรวจทั้งหมดเป็นดังผลศึกษาวิจัยที่พบ ที่โดยสังเขปมีดังนี้คือ… ประเด็นปัญหา ได้แก่ ปัญหาจริยธรรมด้านการบริการประชาชน พบว่า…บางครั้งการปฏิบัติงาน ไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างตรงไปตรงมา จากปัจจัย อาทิ ภาวะกดดัน ผู้บังคับบัญชา ผู้มีอิทธิพล และจากการ มีผลประโยชน์ตอบแทน เป็นต้น ปัญหาจริยธรรมด้านอำนวยความยุติธรรม พบว่า…มีกลุ่มตัวอย่างที่ ไม่ได้พัฒนาความรู้กฎหมายใหม่ ทำให้ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง

อีกประเด็นที่พบคือ… ปัญหาจริยธรรมด้านความประพฤติส่วนตัว ประเด็นนี้สะท้อนทัศนคติกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใช่ตำรวจ ที่มีต่อตำรวจส่วนที่มีปัญหาจริยธรรม โดยกลุ่มตัวอย่างคิดว่าตำรวจมักมีปัญหาชู้สาว-ภรรยาน้อย มักใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย มักใช้ทรัพย์สินราชการทำประโยชน์ส่วนตัว มักใช้เวลางานหาประโยชน์ให้ตนเอง มักแสดงความเป็นใหญ่หรือแสดงความเป็นนักเลงเสียเอง มักประพฤติผิดหรือทำผิดกฎหมายเสียเอง มักทำตัวรับใช้นักการเมือง ผู้มีเงิน ผู้มีอิทธิพล

กับ สาเหตุที่อาจทำให้ตำรวจละเมิดจริยธรรมวิชาชีพ ผลศึกษาวิจัยดังกล่าวพบว่า…เกิดจาก แต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม ความก้าวหน้าไม่ขึ้นกับความสามารถ ปัญหาค่านิยมและระบบ ที่ปฏิบัติต่อ ๆ กันมา ขาดจิตใจในการให้บริการประชาชน บริการสังคม ค่าตอบแทนน้อย จึงใช้หน้าที่แสวงหาประโยชน์ ขาดมาตรการตรวจสอบและลงโทษที่บังคับใช้ได้จริงจัง และอีกสาเหตุอาจเกิดได้จากการ ถูกแทรกแซง ทั้งจากผู้มีอิทธิพล และนักการเมือง ด้วย

ส่วน แนวทางแก้ปัญหาจริยธรรมวิชาชีพตำรวจ ที่งานวิจัยเสนอไว้ด้วย ได้แก่… พิจารณาเกณฑ์สรรหาผู้เข้ารับราชการให้เหมาะสม ปรับปรุงหลักสูตรอบรมตำรวจให้มีคุณภาพ-สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน สร้างขวัญกำลังใจ ทั้งเงินเดือน-สวัสดิการ-อุปกรณ์ปฏิบัติหน้าที่-ความก้าวหน้า เสริมสร้างวัฒนธรรมที่ดีขององค์กรตำรวจ เพิ่มบทลงโทษตำรวจที่ละเมิดจริยธรรม และ ป้องกันการแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพล-นักการเมือง …นี่เป็นข้อเสนอที่เคยมี

“จริยธรรม” พูดกันมานานกับ “ตำรวจ”

ทั้งยังมีประเด็น “ปฏิรูป” อีกต่างหาก…

แต่วันนี้ “ยกชั้นฉาวอินเตอร์อื้ออึง!!”.