ซึ่งกลายเป็นการนับหนึ่งเข้าสู่โหมดเตรียมการเลือกตั้ง “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงถือโอกาสนทนากับ สมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อตีโจทย์ความท้าทายในการจัดการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น

โดย อดีต กกต. เปิดประเด็นถึงภาพรวมการเตรียมการเลือกตั้ง ว่า โจทย์แรก สำหรับ กกต.คือการแบ่งเขตเลือกตั้ง หลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เพิ่งมีผลบังคับใช้ กกต.จะต้องมีการแบ่งจังหวัดแต่ละจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้ง เท่ากับจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดพึงมี โดยการแบ่งเขต กกต.ต้องจัดทำอย่างน้อย 3 รูปแบบและให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสให้ความเห็น 10 วัน หลังจากนั้น กกต.จะต้องลงมติเลือกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้เป็นเรื่องที่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้การแบ่งเขตก่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และไม่เอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองบางพรรค หรือนักการเมืองบางคน ซึ่งในอดีตเคยมีปัญหาเกิดขึ้นว่า กกต.แบ่งเขตไม่เป็นธรรม ซึ่งเคยเกิดขึ้นในปี 2562 มาแล้ว

โจทย์ที่สอง คือ การควบคุมดูแลพรรคการเมือง ในเรื่องการจัดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ถูกต้อง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งตัวกฎหมายที่ออกมาใหม่มีหลักการที่ผ่อนคลายมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งคุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรค ค่าธรรมเนียม และค่าบำรุงพรรคลดลง ซึ่งถือเป็นการผ่อนคลายที่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองได้ง่ายขึ้น ขณะที่การทำไพรมารีโหวตก็ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งมี กระบวนการขั้นตอนที่จะต้องทำให้ถูกกฎหมาย โดยต้องมีสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในจังหวัดที่จะส่งผู้สมัคร และต้องมีสมาชิกพรรคในจังหวัดนั้นๆ 100 คนขึ้นไป นอกจากนั้นพรรคการเมืองจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค และจะต้องมีการจัดประชุมสมาชิกพรรคในแต่ละจังหวัด เพื่อลงมติเลือกผู้สมัคร ก่อนส่งชื่อให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่ พรรคการเมืองก็ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด กกต.ก็ต้องเป็นฝ่ายสนับสนุนและคอยกำกับให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด

โจทย์ที่สาม คือ การเตรียมการเลือกตั้ง อะไรก็ตามที่สามารถทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม และมีประสิทธิภาพในการดำเนินการมากขึ้น กกต.ก็ต้องดำเนินการ ทั้งการกำกับดูแลหรือตักเตือนหากมีการกระทำที่ส่อไปในแนวทางที่อาจจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่ขณะนี้ กกต.ไม่ได้ทำเลย อาทิ การติดโปสเตอร์ การวางตัวของข้าราชการ หรือการลงพื้นที่ต่างๆ แล้วใช้ตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ หากมีแนวโน้มเป็นแบบนี้ก็ต้องเตือนด้วย ซึ่ง กกต.ไม่ได้ทำบทบาทนี้ดีเท่าที่ควร แต่ปล่อยให้ทุกคนทำตามที่ตัวเองต้องการ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยง

นอกจากนั้นในส่วนของบทบาทในการทำให้การจัดการเลือกตั้งให้เกิดผลสำเร็จ มีผลการเลือกตั้งที่เป็นที่ยอมรับ และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานด้วยความรวดเร็ว ใช้จ่ายย่างประหยัด และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ซึ่งอันนี้ยังไม่เห็นการเตรียมการที่ดำเนินการอย่างเต็มที่เท่าไหร่นัก และหลายๆ อย่าง กกต.ก็ปฏิเสธที่จะทำในสิ่งที่เป็น ประโยชน์ อย่างการไม่ใช้ระบบการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งเคยใช้มาตั้งแต่การทำประชามติในปี 2559 และการเลือกตั้งปี 2562

นอกนั้นโจทย์นี้ยังมีส่วนการเตรียมการให้คนที่ทำงานกับ กกต.ในการเลือกตั้งสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามกฎหมาย ก็ยังเห็นจุดอ่อนอยู่ว่า กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งขาดความรู้ความเข้าใจ หรือบางทีเข้าใจผิดในเรื่องวิธีการทางกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการสื่อสารและฝึกอบรมให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมีความเข้าใจทางกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ทั้งในเวลาเลือกตั้งและในเวลานับคะแนนด้วย

และมีอีกมิติที่หายไปจากการทำงานของ กกต. คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการช่วยตรวจสอบการเลือกตั้ง ซึ่งแต่เดิมจะมีผู้สังเกตการณ์จากภาคเอกชนไปสังเกตการณ์ทุกหน่วยเลือกตั้ง แต่ขณะนี้กฎหมายไม่ได้เขียนเรื่องเหล่านี้ไว้  อาจจะทำให้ กกต.ไม่สนใจให้มีผู้สังเกตการณ์ของภาคประชาชนเข้าไปร่วมสังเกตการณ์ในการเลือกตั้ง

dav

กกต.ควรดำเนินการอย่างไรกับความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง เพื่อให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม

ฝ่ายรัฐบาลมีความได้เปรียบอยู่แล้วในการลงพื้นที่ อาศัยคำว่าตรวจราชการลงไปสร้างความนิยมในพื้นที่ เพื่อคะแนนเสียงของตัวเอง ในกรณีนี้ก็ต้องพยายามแยกให้ออกว่าอะไร คือ งานราชการปกติ อะไรคือ การหาเสียง ซึ่งดูไม่ยาก แต่ กกต.เองก็ต้องอย่าเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่ใช่ประเภทว่าต้องรอให้มีคนร้องก่อนถึงจะบอกว่าถูกหรือผิด และใช้เวลาพิจารณาคดีที่ยืดยาวจนแทบไม่มีประโยชน์อะไรต่อการจัดการเลือกตั้ง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ กกต.จะต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด หากนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี มีกำหนดการลงไปในพื้นที่ใดอย่างน้อยที่สุดต้องมีคนของ กกต.เข้าไปสังเกตการณ์ และทำความเห็นส่งให้ กกต.กลางพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องที่ กกต.ควรดำเนินการ

@กรอบเวลา 45 วันในการเตรียมการเลือกตั้งที่สร้างเงื่อนไขต่อการยุบสภา

เรื่องกรอบเวลา 45 วัน ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เวลามากขนาดนั้น ใช้เวลาประมาณ 25 วันก็เพียงพอ โดยสำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้ง อาจจะใช้สูงสุดเพียง 20 วัน และในส่วนของการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมืองที่ กกต.บอกว่าต้องใช้เวลา 20 วันนั้น ตนคิดว่าพรรคการเมืองทุกพรรคมีการเตรียมพร้อมอยู่แล้ว ทั้งเรื่องตัวแทนพรรคประจำจังหวัด การหาสมาชิกพรรคในจังหวัด การตั้งกรรมการสรรหา รวมทั้งเรื่องตัวผู้สมัคร ที่เชื่อว่าทุกพรรคมีผู้สมัครเตรียมไว้หมดแล้ว ดังนั้นในส่วนนี้หากทำจริงๆ คิดว่าภายใน 5 วันก็เสร็จ ไม่ต้องใช้เวลาถึง 20 วัน

ทั้งนี้ หากรัฐบาลอ้างกรอบเวลาดังกล่าว ก็จะมีการยุบสภาประมาณวันที่ 15 มี.ค. เป็นต้นไป หากนับ 45 วันจากกฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ซึ่งก็เป็นสัญญาณเบื้องต้นว่ารัฐบาลจะไม่ยุบสภาก่อนวันที่ 15 มี.ค. จะเหลือระยะเวลาในการยุบสภา ระหว่างวันที่ 15-22 มี.ค. หรือ 1 สัปดาห์ก่อนสภาครบอายุ โดยในกรณีแบบนี้การยุบสภาจะเป็นเพียงแค่เครื่องมือทางการเมือง เพื่อทำให้ผู้สมัคร ส.ส. สามารถขยับเปลี่ยนพรรคการเมืองที่จะลงเลือกตั้งได้เท่านั้น ไม่ได้มีเหตุผลในเรื่องอื่นเลย เพราะการอยู่อีก 7 วันจะครบอายุสภา หรือการยุบสภา 1 สัปดาห์ก่อนสภาครบอายุ ไม่ได้ก่อนให้เกิดผลที่มีประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินใดๆ แต่เป็นเพียงการใช้เทคนิคทางการเมือง ซึ่งก็เป็นการสะท้อนว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้เอาเรื่องการยุบสภานั้น มาจากสิ่งที่เป็นประโยชน์ของบ้านเมือง หรือปัญหาของบ้านเมือง แต่เป็นเรื่องการมองความได้เปรียบหรือเสียเปรียบของฝ่ายตัวเองเท่านั้น.