แต่…สำคัญที่สุดไม่ว่าฝ่ายใด การเปิดใจให้กว้าง ยอมรับฟัง และแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานเจตนาดีเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นมากที่สุด โดยเฉพาะช่วงที่การเมืองกำลังเดินทางเข้าสู่ “จุดเปลี่ยน” อีกครั้ง

การเปิดหู เปิดตา เปิดใจ ยิ่งสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ 

ประชาธิปไตยยืนหนึ่งวันนี้จึงชวนคนอีกรุ่นมาถือกระจกสะท้อนการเมืองผ่านอีกมุมมอง นายพริสม์ จิตเป็นธม รองบรรณาธิการข่าวในประเทศ สำนักข่าว TODAY ในฐานะหัวหน้าแคมเปญเลือกตั้ง 2566 หนึ่งคนรุ่นใหม่ที่สนใจติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองสะท้อนหลาย โฟกัสน่าจับตาในการเลือกตั้งครั้งหน้า

สิ่งตกค้างปี 62 สู่ผลพวงเลือกตั้งปี 66

นายพริสม์ ระบุ ย้อนไปที่เลือกตั้งเมื่อปี 62 เป็นการเลือกตั้งภายหลังจากสถานการณ์รัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเปลี่ยนเป็นรัฐธรรมนูญปี 60 สาระในรัฐธรรมนูญตามการรายงานข่าวช่วงนั้นจะปรากฏถ้อยคำของ นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” คล้ายเป็นการต่อระยะเวลาให้ผู้มีอำนาจขณะนั้นใช้อ้างขอทำงานเพื่อประเทศชาติต่อไป

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญปี 60 ยังกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี คนไทยจึงได้เห็นอำนาจของ ส.ว. ที่สามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ และ ส.ว.ชุดนี้ ยังเหลือวาระยกมือโหวตนายกรัฐมนตรีอีก 1 ปี คือการเลือกตั้งในปี 66 นี่คือสิ่งที่ตกค้างตั้งแต่เลือกตั้งที่ผ่านมา และจะยังอยู่ในการเลือกตั้งครั้งที่กำลังมาถึง

อีกหนึ่งผลพวงคือวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้เริ่มนับวาระจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งจะสิ้นสุดที่ปี 68 ทำให้การเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยังมีสิทธิได้รับเลือกเป็น “แคนดิเดต”

ดังนั้น อาจทำให้เห็นอำนาจการโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ว. ซึ่งเป็นปีสุดท้าย และเป็นภาพของ “ขั้วการเมือง” เดิม แม้ว่าคนรุ่นใหม่ (New voters) จะรู้สึกกังวล และร่วมกันจับตาว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดหลังเลือกตั้งก็ตาม

เหตุการณ์สำคัญอีกอย่างคือ “การชุมนุมทางการเมือง” ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งขยายขอบเขตเนื้อหาอย่างกว้างขวางทั้งประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ ความเท่าเทียมทางด้านการศึกษา สิทธิมนุษยชน เศรษฐกิจปากท้อง รวมถึงสถาบัน เป็นต้น แม้บางเรื่องจะไม่บรรลุผล แต่ถือเป็นความเห็นที่สะท้อนสู่สาธารณะ เพื่อให้แต่ละพรรคการเมืองได้แข่งขันกันออกแบบนโยบาย และจับทิศทางความสนใจของประชาชน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประชาชนค่อนข้างกังวลใจในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ “ความเป็นกลาง” ขององคาพยพและองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่คาดหวังเรื่องความโปร่งใสและความเป็นกลางมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีประเด็นเรื่องที่ กกต.ระบุว่า ไม่มีระบบรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ หรือ การรายงานผล “เรียลไทม์”

หากเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีการรายงานผลแบบเรียลไทม์ ประชาชนจะไม่สามารถมีส่วนร่วมจับตาเลือกตั้งได้ว่าขณะนี้มีผลคะแนนอย่างไร หรือแต่ละหน่วย แต่ละเขตการเลือกตั้งมีคะแนนอัพเดทอย่างไรบ้าง” 

รวมถึงสื่อมวลชนเองจะไม่สามารถเห็นภาพไปพร้อม ๆ กับประชาชนว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง หากรวมคะแนนมาแจ้งผลทีเดียวจะไม่ทราบได้ว่าคะแนนมีการเปลี่ยนแปลงหรือความคลาดเคลื่อนหรือไม่อย่างไร

เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา สื่อมวลชน ประชาชน กระทั่งอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งสามารถอยู่รอบบริเวณหน่วยเลือกตั้งเพื่อจับตาผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับการรายงานผลคะแนนจากส่วนกลางอย่าง กกต.ได้

ดังนั้น มองว่าหากไม่มีรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ ณ หน่วยเลือกตั้ง อาจนำไปสู่ข้อครหาถึงเรื่องความโปร่งใสที่อาจลดลง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องออกมาเทคแอ๊คชั่นแสดงความโปร่งใสตรงนี้ให้ได้

เห็นความพร้อม สัญญานตื่นตัวแค่ไหนกับการเลือกตั้งใหญ่

ต้องยอมรับว่าคนไทยตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม New voters เมื่อปี 62 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ยังมีสิทธิในการเลือกนายกฯ เช่นเดิม กลุ่มที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ First voters ที่จะมีสิทธิใช้เสียงเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ สิ่งที่สังเกตได้ถึงความตื่นตัวคือ สถานการณ์เรียกร้องประเด็นต่าง ๆ ในสังคมที่มีจำนวนมากขึ้น อาทิ

โครงสร้างทางสังคม ระบบการศึกษา ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาพลังงานจากสงคราม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการส่งต่อขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ เพื่อให้ได้รับการแก้ไขหรือรับฟังจากภาครัฐ สะท้อนให้ทุกพรรคการเมืองนำไปพัฒนาเป็นนโยบายออกมาให้ใกล้เคียง ตอบโจทย์และสานฝันคนไทยมากที่สุด

ฉายภาพการเลือกตั้งที่ประชาชนมีส่วนร่วม และเชื่อมโยงไปกับชีวิตประจำวัน

สถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ หรือช่วงการลงพื้นที่หาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง จะปรากฏให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะพรรคการเมืองแต่ละพรรคจำเป็นต้องฟังเสียงในพื้นที่ ตนมองว่าควรมีเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นให้มากขึ้น อีกทั้งการที่พรรคการเมืองต้องมีการใช้โซเชียลมีเดียเก็บรวบรวมข้อมูล และกลั่นกรองความคิดเห็นประชาชนที่สะท้อนออกมา

โดยเฉพาะการที่พรรคการเมืองจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมต่อประชาชน จัดเก็บข้อมูล ข้อเรียกร้อง ข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายของพรรค ก่อนออกนโยบายตอบโจทย์คนส่วนใหญ่

ส่วนภาพของสื่อมวลชนควรดำเนินการคู่ขนานกันไป โดยนำเสนอและสะท้อนความต้องการของประชาชน เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ส่งผ่านไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คนไทยทุกคนได้มีนโยบายที่ตอบโจทย์กับชีวิตมากที่สุด

เลือกตั้งครั้งใหญ่ โฟกัสตรงไหนดี 

อันดับแรกต้องจับตาทิศทางการเมืองก่อน เนื่องจากยังไม่สามารถยืนยันได้ว่ารัฐบาลปัจจุบันจะเริ่มเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้งโดยชิงประกาศยุบสภาก่อนครบเทอม หรือว่าจะเริ่มภายหลังจากที่ประกาศยุบสภาแล้ว แต่หากเข้าสู่การเลือกตั้งแล้ว สิ่งสำคัญก็ยังไม่พ้นเรื่องความโปร่งใสขององค์กรอิสระ และสูตรการคำนวณคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (Party-list) ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ปรากฏความชัดเจนออกมา ย้ำว่าประเด็นเหล่านี้ต้องมีความชัดเจนเป็นอันดับต้น ๆ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีการประกาศกฎหมายลูกแล้วทาง กกต.จะต้องชี้แจงวิธีการคำนวณคะแนนให้สาธารณะรับทราบ

ทั้งนี้ ทิ้งท้ายถึงความสำคัญเรื่อง Fake News หรือ ข้อมูลข่าวสารที่เป็นการโจมตีพรรคการเมืองอื่น ๆ เนื่องจากในบรรยากาศช่วงหาเสียงการเลือกตั้ง จะมีการเผยแพร่ข้อมูลมาจากหลากหลายทิศทาง วิธีการคือจะต้องทำ Fact-checking (การตรวจสอบข้อมูล) เพื่อสรุปว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใดด้วย.