หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวานที่พบได้บ่อยคือ “เบาหวานขึ้นตา” ดังนั้น เนื่องในโอกาสวันเบาหวานโลก 14 พ.ย. นี้ “พญ.ปนียา ตปนียางกูร จักษุวิทยาต้อหิน ศูนย์ตา (Eye Center) โรงพยาบาลนวเวช” จึงถือโอกาสนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับตัวโรค อาการ และวิธีปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา
ทั้งนี้ “พญ.ปนียา” อธิบายว่า เบาหวานขึ้นตาเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเบาหวาน เกิดจากปัญหาระดับนํ้าตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดฝอยเสื่อมทั่วร่างกาย รวมทั้งหลอดเลือดที่จอประสาทตาด้วย เป็นเหตุให้เลือดและสารต่าง ๆ รั่วซึมออกมา
“เมื่อเส้นเลือดจอประสาทตาได้รับความเสียหาย ก็จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมักจะสูญเสียการมองเห็นได้ ซึ่งสามารถรักษาได้หลายวิธี แต่หากเป็นขั้นรุนแรงก็อาจจะไม่สามารถรักษาให้หายขาด สูญเสียการมองเห็นตลอดชีวิต”
สำหรับอาการที่พบได้เมื่อเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ในระยะเริ่มแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ แต่หลังจากนั้นจะมีจุดเลือดออกในจอตา มีนํ้ารั่วในจอตา อาจทำให้จุดรับภาพชัดบวม เกิดเส้นเลือดงอกใหม่ ทำให้เลือดออกในนํ้าวุ้นตา จอประสาทตาหลุดลอก
ดังนั้นการป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหาเบาหวานขึ้นจอตา จึงเป็นเรื่องสำคัญโดยสามารถทำได้ดังนี้ ไม่กินอาหารที่มีแป้งมากเกินไป ออกกำลังกายสมํ่าเสมอ ควบคุมนํ้าตาลและระดับนํ้าตาลสะสม HbA1C น้อยกว่า 6.0 mg% ให้อยู่ในระดับปกติ (ระหว่าง 70-100 mg/dL)
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วการรักษาที่เหมาะสม และรวดเร็วก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยแบ่งไปตามระยะของโรค ดังนี้ ผู้ป่วยเป็นในระยะแรก แพทย์จะให้ผู้ป่วยควบคุมระดับนํ้าตาลให้อยู่ในระดับปกติ ส่วนการใช้แสงเลเซอร์ ใช้ในระยะที่เลือดออกในตายังไม่มาก ในกรณีผู้ป่วยจอประสาทตาบวมฉีดยาเข้าไปในดวงตาเพื่อลดการบวมของจอประสาทตา แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดเต็มจอประสาทตาหรือจอประสาทตาหลุดลอกแพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัด
“ในผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องระมัดระวังเรื่องระดับนํ้าตาลในเลือด โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการผิดปกติ ขอให้รีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที อย่าปล่อยไว้นานเพราะเสี่ยงที่จะทำให้การรักษาไม่ได้ผลเท่าที่ควร และอาจจะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้”.
อภิวรรณ เสาเวียง