แต่ทั้งนี้ทราบหรือไม่ว่านี่อาจเป็นสัญญาณเตือนสำคัญของไตวายเรื้อรัง ซึ่งไตวายเรื้อรังเปรียบได้เสมือนฆาตกรเงียบ เนื่องจากในช่วงแรกแทบไม่มีสัญญาณเตือนและอาการจะปรากฏชัดเจนในช่วงระยะท้ายเมื่อไตได้รับความเสียหายไปมากแล้ว
“พญ.เนสินี เก้าเอี้ยน” แพทย์ชำนาญการ อายุรศาสตร์โรคไต โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง อธิบายว่า คนเรามีไตสองข้างมีรูปร่างคล้ายถั่วอยู่แถวใต้ชายโครงด้านหลัง บริเวณบั้นเอวทั้งสองข้าง และอยู่นอกช่องท้อง ซึ่งไตสองข้างต่อกับท่อปัสสาวะและมาเปิดที่กระเพาะปัสสาวะ เสมือนรูกรองในเครื่องกรองนํ้า โดยมี 4 หน้าที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตปัสสาวะ เพื่อกำจัดของเสีย กำจัดสารพิษหรือยาบางชนิดออกจากร่างกาย สร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการสร้างเม็ดเลือดแดง และวิตามินดีซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างกระดูก มีหน้าที่ในการควบคุมความเป็นกรดด่างในเลือด ควบคุมความดันโลหิต สมดุลนํ้าและเกลือแร่
ส่วนโรคที่จะกระทบกับการทำงานของไต มี 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีความผิดปกติของปัสสาวะแต่ไม่มีอาการแสดง กลุ่มโรคเนื้อไตอักเสบ กลุ่มโรคไตบวมนํ้า กลุ่มไตวายเฉียบพลัน และกลุ่มไตวายเรื้อรัง
ทั้งนี้ “โรคไตวายเรื้อรัง” คือภาวะที่ไตสูญเสียหน้าที่หลักอย่างต่อเนื่อง หรือมีการทำงานของไตน้อยลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาศัยค่าอัตราการกรองของเสียของไต สาเหตุมักเกิดจากโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และสาเหตุอื่น ๆ อาทิ โรคนิ่วในไตและทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง ไตอักเสบ โรคทางพันธุกรรม เช่น โรคถุงนํ้าในไต รวมถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด ยาปฏิชีวนะบางตัว และสมุนไพร
ปัญหาของไตวายเรื้อรังมักไม่มีสัญญาณเตือนความผิดปกติจะไม่แสดงจนกว่าการทำงานของไตจะลดลงเหลือ 1 ใน 4 ของการทำงานปกติ อาการที่สงสัยว่าเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซีด ขาบวมเมื่อกดลงไปแล้วบุ๋ม คันตามตัว ปัสสาวะกลางคืนบ่อยครั้ง ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะเป็นเลือด
โรคไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ การทำงานของไตลดลงต่อเนื่องนานเกิน 3 เดือน ทั้งนี้สามารถแบ่งความรุนแรงออกเป็น 5 ระยะ ระยะที่ 1 ไตเริ่มทำงานผิดปกติ อัตราการกรองน้อยกว่า 90 ระยะที่ 2 เป็นไตเรื้อรัง ระยะเริ่มต้นอัตราการกรอง 60-89 ระยะที่ 3 ไตเรื้อรังระยะปานกลาง อัตราการกรอง 30-59 ระยะที่ 4 ไตเรื้อรังระยะรุนแรง อัตราการกรอง 15-29 และระยะที่ 5 ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย อัตราการกรองน้อยว่า 15
“การรักษาเป็นไปตามความรุนแรงในแต่ละระยะตั้งแต่การรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมของไตไปถึงการรักษาด้วยวิธีบำบัดทดแทนไตหรือการล้างไต ซึ่งจะเป็นการรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะที่ 5 เท่านั้น”
สำหรับการชะลอความเสื่อมไตวายเรื้อรังสามารถทำได้ด้วย “กฎ 3D” คือ “D Diet” คุมอาหารเค็ม โดยปริมาณโซเดียม ควรน้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน คุมอาหารโปรตีนสูง ควรรับประทานอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดีร่วมกับกรดอะมิโน ปริมาณตามคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้งคุมอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง “D Drug” คุมความดันโลหิตน้อยกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท คุมระดับนํ้าตาลในเลือดโดยมีเป้าหมายระดับนํ้าตาลสะสม 6.5-7% เช่น ยากลุ่ม SGLT2 inhibitor คุมระดับไขมันให้ระดับไขมัน LDL-C น้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร งดยาที่มีผลเสียต่อไต เช่น ยาแก้ปวดชนิด NSAIDs และยาสมุนไพร และ “D Do” คุมนํ้าหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม คุมการออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และงดสูบบุหรี่ เพื่อลดการรั่วของโปรตีนไข่ขาวในปัสสาวะ.
อภิวรรณ เสาเวียง