ซึ่งในปี 2565 มีผลงานส่งเข้าประกวดชิง The best หลายแขนง โดยรางวัล “The Best Of Change ประจำปี 2565” มี 2 ผลงานที่คว้าไปครอง คือ “Somdej EVD Safety and sure” จาก รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จ.สมุทรปราการ และผลงาน “Digital Transformation” ของรพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยผลงาน “Somdej EVD Safety and sure” เริ่มต้นมาจากการพัฒนาปริมาตรวัดเลือดให้ผู้ป่วยปลอดภัยตามหลักการของ “Care” ภายหลังพบว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสูงถึงปีละ 200 ราย และต้องรับการผ่าตัดถึง 10% แต่การให้เลือดแบบเดิมยังคงมีปัญหาในหลาย ๆ ด้าน จึงพัฒนานวัตกรรมการวัดที่มีมาตรฐาน แม่นยำ และรายงานผลแบบมอนิเตอร์ icp Real Time มุ่งให้เกิดความปลอดภัยของผู้ป่วย เวอร์ชั่น 3 ที่มีมอนิเตอร์ทั้ง 2 ข้างมีรางเลื่อน วัดผลได้ตลอดระยะเวลาการผ่าตัดคนไข้ เก็บข้อมูลสะดวกค่าความแม่นยำสูง 4+ ผู้ปฏิบัติงานพึงพอใจกว่า 90% แต่ยังมีบางจุดต้องพัฒนาต่อ เช่นการแจ้งเตือนกรณีมีความเสี่ยงระหว่างผ่าตัด เป็นต้น ก่อนจะขยายการใช้งานออกไปนอกห้อง ICU รวมถึงรพ.เอกชนข้างเคียง ตลอดจนการเชื่อมโยงการดูแลผู้ป่วยระยะยาว (long term care)

ขณะที่ ผลงาน “Digital transformation” คือการพัฒนาระบบขนส่งผู้ป่วย ระบบข้อมูลต่าง ๆ ได้รวดเร็ว แม่นยำ เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน โดยมี 2 รูปแบบ คือ “smart HY-Log APP” กับ “Smart Hy–Display” เมื่อมีการขนส่งคนไข้มายัง รพ. จะมีการส่งข้อมูลมาที่ระบบของ รพ. และปรากฏที่หน้าจออัจฉริยะที่วอร์ดเจ้าหน้าที่เพียงนำโทรศัพท์มือถือไปสแกนก็จะปรากฏข้อมูล และสามารถกดยืนยันการรับผู้ป่วย นอกจากนี้Smart Hy-EVAL ระบบตรวจสอบระยะเวลา ซึ่งหลังใช้งานไป 4 เดือน วัด KPI ระยะเวลาการรับงานได้เกิน 80% ระยะเวลาการรับผู้ป่วยเกิน 80% ใช้เวลาลดลงอย่างชัดเจนทั้งนี้ ในส่วนของรพ.หาดใหญ่ ยังมีอีกหนึ่งผลงานที่ได้รางวัลใหญ่ “The Best of Care” คือ “ICU Without wall” และรางวัล “Popular vote” อีกด้วย โดยนวัตกรรม ICU Without wall เป็นการทลายกำแพงไอซียูระหว่างหน่วยที่ดูแลผู้ป่วยเฉพาะทางต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการเข้าการรักษาของผู้ป่วยวิกฤติ ลดอัตราการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น @ICUwithoutwall เชื่อมต่อระบบ Rabbit Respond alert ซึ่งเป็นระบบเดิมของ รพ. กับระบบ “Thai refer” ทั้งนี้เมื่อเข้าไปในระบบจะใช้เวลากรอกข้อมูลเพียง 3 นาที และจะได้รับการตอบกลับว่าคนไข้รายนั้น ๆ จะถูกส่งไปยังไอซียูจุดไหน ตามลำดับความเร่งด่วน โดยจองได้ตั้งแต่อยู่ห่างไปถึง 200 กิโลเมตร อีกทั้งยังมีการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ป่วยที่ยังอยู่ในห้องไอซียูว่าใครยังอาการหนัก อาการดีขึ้น เพื่อให้รู้ว่าแต่ละรายต้องการการรักษาแบบใด เพื่อให้เตียงในห้องไอซียูถูกใช้ให้เกิดประโยชน์ที่สุด จากการใช้มา 2 เดือน พบว่ามีการตอบรับจองเตียง 63% อัตราการครองเตียง 98% เกือบเต็ม แต่หมุนเวียนตลอดเวลา การครองเตียงสั้นลง ลดอัตราการเสียชีวิตลงถึง 20% และเมื่อเทียบกับคนไข้หนักต้องใส่ท่อเดิมที่อยู่ในหอผู้ป่วยก็ลดลงด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาให้
มีความแม่นยำมากขึ้นเพื่อให้สามารถใช้กับระบบงานดูแลผู้ป่วยนอกไอซียู และขยายไปยัง รพ. อื่น ๆ

สำหรับ “The best of Collaboration” ได้แก่ นวัตกรรม “mobile Application for Stroke Digital fast track & Identification” รพ.ระยอง จ.ระยอง ซึ่งการพัฒนาเริ่มจากการมองเห็นปัญหาผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองสูง 13% ทั้งที่เป้าหมายคือน้อยกว่า 7% เนื่องจากการเข้าถึงการรักษาล่าช้า ที่เกิดจากการต้องส่งข้อมูลล่าช้าไม่เรียลไทม์ ไม่ถูกต้อง จึงเปลี่ยนการทำงานแบบแยกส่วน มาเป็นการทำงานแบบเชื่อมโยงข้อมูลทั้งเครือข่าย โดยเมื่อเดือน ม.ค. 2565 ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือติดตามข้อมูลคนไข้ได้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางด้วยริชแบนด์ที่แสดงผลแบบเรียลไทม์ เพื่อให้ทีมวิเคราะห์และเตรียมพร้อมให้การรักษาได้เร็ว หากใกล้ระยะเวลาที่อันตรายจะมีการส่งสัญญาณเตือนให้ทีมรู้เพื่อเร่งรักษาให้ทันเวลา ต่อมาเดือน ส.ค. ได้พัฒนาต่อเนื่องรวมถึงส่งข้อมูลแต่ละจุดไปยังแดชบอร์ดของแต่ละหน่วย เพื่อให้คนที่อาจจะไม่มีโทรศัพท์มือถือสามารถติดตามข้อมูลได้ทุกส่วน เมื่อแจ้งเข้ามาแล้วจะมีการตอบสนองอย่างรวดเร็วภายใน 7 นาที

ทั้งนี้ได้ดำเนินการครอบคลุมทุกส่วนในโรงพยาบาลหลายกลุ่มโรค และขยายไปงานดูแลผู้ป่วยก่อนจะส่งมาถึงโรงพยาบาล ตลอดจนขยายการใช้งานไปยังโรงพยาบาลภายในจังหวัด และเขตสุขภาพที่ 6 พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ (EEC) ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอขอวิจัยเพิ่มเติม.

อภิวรรณ เสาเวียง