หนึ่งในกระบวนการการรักษาโรคมะเร็งที่เป็นมาตรฐานคือการ “ฉายรังสีรักษา” ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น “แขนยึดเครื่องฉายรังสีแบบหมุนขนาดเล็กที่สุดในโลก เพื่อการบำบัดรักษามะเร็งด้วยไอออนหนัก” ที่โตชิบา ได้มีการส่งมอบให้กับ โรงพยาบาลสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัมแห่งชาติหรือคิวเอสที (National Institutes for Quantum Science and Technology:QST) นำไปใช้ในการรักษาคนไข้ เมื่อปี 2559
การบำบัดรักษามะเร็งมีอยู่ 3 วิธีหลัก ๆ ได้แก่ การผ่าตัด เคมีบำบัด และการฉายรังสี แต่ละวิธีมีข้อดีข้อด้อยต่างกัน ซึ่งแขนยึดเครื่องฉายรังสีแบบหมุนนั้นจะมี รูปร่างคล้ายโดนัท สามารถหมุนได้ 360 องศา และฉายรังสีได้จากทุกมุมอย่างแม่นยำ และช่วยขยายขอบเขตการรักษาให้กว้างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เนื่องจากมีการใช้ “ลำแสงไอออนหนัก” ซึ่งต่างจากการฉายรังสีเอกซเรย์ตรงที่สามารถปรับแต่งให้สร้างประจุความเข้มสูง และยิงพลังงานสูงกว่าปกติไปยังก้อนเนื้อมะเร็งได้ ทำให้สามารถทำลายเนื้อร้าย โดยสร้างความเสียหายต่อเซลล์ปกติน้อยที่สุด
นอกจากนั้น รังสีเอกซเรย์จะมีประสิทธิภาพดี เมื่อใกล้พื้นผิวร่างกายและจะอ่อนลงเมื่อเคลื่อนที่ผ่านร่างกาย แต่ลำแสงไอออนหนักสามารถฉายเล็งไปยังเซลล์มะเร็งได้อย่างแม่นยำ
สิ่งสำคัญของการบำบัดรักษาด้วยไอออนหนักคือ สามารถทำการรักษาได้โดยไม่สร้างความเสียหายแก่บริเวณที่มีเนื้อร้าย สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัวและมีทางเลือกจำกัด ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต เนื่องจากทำให้สามารถให้การรักษาแก่ผู้ป่วยนอกได้ผู้ป่วยไม่ต้องลาหยุด หรือลาออกจากงาน
จากข้อดีของการรักษาระบบไอออนหนัก จึงคาดว่าในอนาคตเทคโนโลยีการรักษาโรคมะเร็งจะหันมาใช้ระบบดังกล่าวอย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยขณะนี้โรงพยาบาลคิวเอสที และศูนย์อื่น ๆ ที่ติดตั้งอุปกรณ์บำบัดรักษาด้วยไอออนหนักแล้ว อยู่ระหว่างทำการทดลองทางคลินิกภายใต้โครงการ “กลุ่มการศึกษาทดลองมะเร็งวิทยาด้วยการฉายรังสีคาร์บอนไอออนแห่งญี่ปุ่น” โดยมีรายงานว่าศูนย์ไอออนหนักญี่ปุ่นตะวันออก กำลังวางแผนจะเริ่มทดลองทางคลินิกกับโรคมะเร็งตับและมะเร็งตับอ่อน หากแขนยึดเครื่องฉายรังสีแบบหมุนทำงานได้เสถียรแล้ว.
อภิวรรณ เสาเวียง