ซึ่ง รศ.พญ.นฤมล ศิลปอาชา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล บอกว่า โรคนี้มี “ชนิดกระจาย” และ “ชนิดเฉพาะส่วน” พบได้ 0.5-2% ของประชากรทั่วโลก พบในเพศหญิงเท่ากับเพศชายและพบได้ทุกช่วงอายุ แต่จะพบบ่อยช่วงอายุ 1-10 ปี และ20-50 ปี
“โรคด่างขาว เกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน เช่น พันธุกรรม สารเคมี การบาดเจ็บที่ผิวหนังและที่สำคัญมีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีการทำลายเซลล์สร้างเม็ดสีที่ผิวหนัง เกิดเป็นผื่นด่างขาวตามมา”
ทั้งนี้ โรคด่างขาวจะแตกต่างกับโรครอยขาวชนิดอื่น ๆ โดย โรคด่างขาวจะเห็นผื่นสีขาวคล้ายชอล์กขอบเขตเรียบแยกจากผิวหนังปกติได้ชัดเจน พบได้ทุกตำแหน่งของร่างกายรวมถึงเยื่อบุส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่บางรายมีอาการคันบริเวณรอยโรคได้ รวมถึงพบมีผมหรือขนสีขาวร่วมด้วยได้ โดยเฉพาะโรคด่างขาวชนิดเฉพาะส่วนซึ่งเกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีในรากผมหรือขนถูกทำลาย
ในรายที่มีผิวขาวมากหรือเป็นโรคด่างขาวในช่วงแรกอาจเห็นรอยโรคไม่ชัดเจน แพทย์อาจใช้การตรวจเพิ่มเติมเช่นการใช้ไฟบางชนิดส่องดูรอยโรค (Wood’s lamp)
สำหรับการรักษา มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิด และตำแหน่งของรอยโรค โดยจะ รักษาด้วยการใช้ยาทา ยารับประทานการฉายแสงอาทิตย์เทียม และการผ่าตัดปลูกถ่ายเม็ดสี ส่วนใหญ่จะรักษาแบบควบคู่กัน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
การตอบสนองต่อการรักษาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ 1. ตำแหน่งของรอยโรค พบว่าด่างขาวบริเวณใบหน้า คอ จะมีการตอบสนองที่ดีกว่าด่างขาวบริเวณมือ เท้า 2. ระยะเวลาที่เป็นโรค ถ้ารักษาเร็วภายใน 1-2 ปี มักตอบสนองที่ดีกว่าและ 3. ชนิดของด่างขาว โรคด่างขาวชนิดเฉพาะส่วน มักไม่ค่อยมีการกระจายหรือลุกลามของรอยโรค แต่ตอบสนองต่อการรักษาค่อนข้างช้า ส่วนโรคด่างขาว
ชนิดกระจายจะมีการตอบสนองที่ดีกว่าในบางตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม โรคด่างขาวชนิดกระจายมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้ หลังการรักษา ซึ่งต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง
“ตัวผื่นด่างขาวเองไม่อันตราย แต่สามารถพบร่วมกับโรคทางระบบอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคออโตอิมมูนไทรอยด์ โรคผมร่วงหย่อม สำหรับการเกิดมะเร็งผิวหนังในผู้ป่วยโรคด่างขาวยังไม่พบว่ามีอุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นชัดเจน”
ดังนั้นโรคด่างขาวเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย เป็นโรคที่ใช้ระยะเวลานานในการรักษา ผลการรักษาอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน จึงจำเป็นต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ ให้กำลังใจและพูดคุยความคาดหวังที่เป็นจริงกับผู้ป่วยการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาอย่างรวดเร็วจะมีประสิทธิภาพดีกว่าการรักษาช้า.
อภิวรรณ เสาเวียง