แต่หลังจากปรากฏการณ์ชัยชนะของอนาคตใหม่ รวมถึงปรากฏการณ์ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ล่าสุดที่ “นิวโหวตเตอร์” สามารถเข้ามาเป็นปัจจัยกำหนดชัยชนะได้นั้น นับแต่นั้นคนกลุ่มนี้ก็ไม่เคยถูกมองข้ามอีกเลย ส่วนในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ปี 2566 นี้ นิวโหวตเตอร์กลุ่มนี้จะกำหนดจะส่งผลต่อการเมืองไทยอย่างไรนั้น? กรณีนี้ต้องลองมาดูมุมวิเคราะห์จาก ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ได้ติดตามศึกษาเรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิดกันดู…

“ส่วนตัวมองว่าแม้จะตระหนักถึงพลังของกลุ่มนิวโหวตเตอร์ แต่ยังเชื่อว่าฝั่งการเมืองเก่า หรือฝ่ายอนุรักษนิยมนั้นก็จะไม่ได้ให้ความสำคัญกับมวลชนกลุ่มนี้มากขึ้น เพราะเขามองว่ายากที่จะดึงให้มวลชนฝั่งนี้ย้ายเข้ามา อีกทั้งฝั่งอนุรักษนิยมก็ยังไม่ได้พยายามปรับตัวอะไรด้วย เพราะการปรับตัวมันยากเกินไปสำหรับเขา หรือแม้แต่ประชาธิปัตย์เองที่ทำงานการเมืองกับคนรุ่นใหม่มายาวนานก็ยังไม่สามารถปรับตัวหรือขยับภาพนี้ของตัวเองออกไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่เลย”

นี่เป็นสิ่งที่อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือสงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว สะท้อนไว้กับ “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” และนอกจากนี้ ทางอาจารย์กนกรัตน์ยังได้วิเคราะห์เอาไว้อีกว่า แม้พรรคการเมืองต่าง ๆ จะไม่สามารถมองข้ามนิวโหวตเตอร์ได้ แต่ทุกพรรคก็รู้ว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดึงมวลชนกลุ่มนี้เข้ามา ยกตัวอย่าง ปชป. ที่แม้จะทำงานการเมืองกับคนรุ่นใหม่มาเกือบ 20 กว่าปี แต่กลับไม่สามารถทำให้แมสได้ เพราะคนก็ยังมองว่าคนการเมืองรุ่นใหม่ที่ดึงเข้ามานั้น ก็ยังคงเป็นอีลิตยูสอยู่ดี เป็นครีมหัวกะทิอยู่ดี ไม่ได้เป็นลูกหลานของคนชั้นกลางหรือล่าง ดังนั้นจึงไม่ประสบความสำเร็จในการทำเรื่องนี้ ขณะที่ภูมิใจไทยนั้นด้วยความที่ฐานมวลชนนั้นกว้างอยู่แล้ว เพราะมีทั้งคนในบ้านใหญ่ คนจนในชนบท หรือลูกหลานชนชั้นกลางในต่างจังหวัด จึงมองว่าน่าจะไม่สนใจฐานนี้มากนัก ส่วนที่น่าผิดหวังมากสุด คือ เพื่อไทย ที่ไม่ได้แสดงให้เห็นการปรับตัวสู่ฐานมวลชนคนรุ่นใหม่ แม้แรก ๆ จะเห็นการจัดกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามา หรือมีการเทรนคนรุ่นใหม่ แต่ที่สุดก็กลายเป็นลูกหลานเพื่อไทย เป็นลูกหลานบ้านใหญ่อยู่ดี และยิ่งไปขัดแย้งกับก้าวไกล ที่เป็นพรรคที่ผลักดันประเด็นที่ทัชกับคนรุ่นใหม่อีก จึงยิ่งถูกตั้งคำถามจากคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตามแต่เพื่อไทยมีจุดแข็งเรื่องเศรษฐกิจที่แต่ละโพรดักส์ที่ออกมามันลงไปถึงระดับรากหญ้าได้จริง

ขณะก้าวไกลนั้น แม้จะถูกมองเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ แต่ที่สุดแล้วเขาก็พยายามที่จะขยับตัวเองให้ออกจากภาพนี้เช่นกัน ด้วยการผลักดันตนเองให้เป็นฝ่ายค้านคุณภาพ เพราะต้องการขยายฐานมวลชนให้ออกไปก้าวมากขึ้น เนื่องจากมีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ไม่เอาฝั่งอนุรักษนิยมเก่า รวมถึงเคยสนับสนุนขบวนการต่อต้านทักษิณ มวลชนตรงนี้ก็อาจจะไหลมาสูก้าวไกลได้ ดังนั้นจุดนี้ก็เป็นสิ่งที่เชื่อว่าทางก้าวไกลเองก็ได้ประเมินไว้ว่า ไม่สามารถคาดเดาใจนิวโหวตเตอร์ได้ ดังนั้นเขาจึงมองว่าน่าจะขยายฐานตัวเองออกมาให้กว้างขึ้น โดยไม่ยึดติดกับภาพของความเป็นพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่อย่างเดียว

“แม้การเลือกตั้งปี 2566 จะมีฐานของนิวโหวตเตอร์เพิ่มขึ้น แต่ส่วนตัวก็ยังมองว่าอาจจะมีบ้างที่แต่ละพรรคนั้นจะได้คะแนนมวลชนจากกลุ่มเฟิร์สโหวตเตอร์ แต่ก็คงจะไม่ได้มากขึ้นจนทำให้แบบชนะมากมายได้เหมือนกับเมื่อปี 2562” อาจารย์กนกรัตน์ระบุเรื่องนี้เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มนิวโหวตเตอร์นั้น แม้ทุกฝั่งการเมืองจะมองว่าเป็นพลังที่สามารถจะกำหนดชัยชนะในการเลือกตั้งแต่ แต่ความยากยังอยู่ที่การไม่สามารถคาดเดาใจนิวโหวตเตอร์ได้เลยว่า ดีมานด์ที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งปี 2566 ครั้งนี้ “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” ได้ขอให้ทางอาจารย์กนกรัตน์ วิเคราห์ถึงเรื่องที่ควรจับตาในระหว่างนี้ โดยอาจารย์กล่าวว่า ระหว่างนี้สิ่งที่เราควรจับตานั้น คือ 1.ตัวของนโยบายที่ใช้หาเสียง ที่ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าการเลือกตั้งรอบนี้ จะเป็นการแข่งขันในเชิงนบายที่เข้มข้นที่สุดอีกครั้งหนึ่ง เพราะตอนนี้ทุก ๆ พรรคตระหนักจริง ๆ แล้วว่า การแข่งขันเชิงนโยบายมีความสำคัญกับชัยชนะในการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้โหวตเตอร์อย่างเรา ๆ นั้นควรจะต้องทำการบ้านเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากทุกคนมองเห็นแล้วว่า ถ้าเลือกพรรคผิด มันจะส่งผลต่อชีวิตของเรามากแค่ไหน นอกจากนี้สำหรับโหวตเตอร์ที่เป็นกลุ่มสแตตีจิคโหวตเตอร์นั้น ก็เป็นอีกกลุ่มที่ต้องคำนวณสมการหนักเช่นกันว่า หากต้องการได้นโยบายที่มีผลกับชีวิตตนเองแล้วนั้น จะต้องเลือกฝั่งหรือลงคะแนนแบบไหนเพราะต้องบอกว่าการเลือกตั้งรอบใหม่นี้ จะชนะแบบปริ่มน้ำไม่ได้ แต่จะต้องล้นถ้วยเลย จึงจะสามารถผลักดันนโยบายที่ต้องการได้สำเร็จ ซึ่งพรรคการเมืองเองก็ต้องแลนด์สไลด์ของตัวเองทั้งสิ้น โดยการเลือกตั้งปี 2566 นี้ จะเป็นการเลือกตั้งที่โหวตเตอร์ทั้งหลาย ต้องคิดคำนวณกันมากขึ้นในแบบที่ไม่ต้องคิดมากเท่านี้มาก่อนเลย

“ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่นิวโหวตเตอร์และโหวตเตอร์ทั้งหลายจะต้องทำการบ้านหนักอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนว่าจะทำยังไง เราจะได้พรรคการเมืองที่ดี จะเลือกยังไงดีที่จะนโยบายที่โพรเทคชั่นชีวิตเราได้ โพรเทคชั่นปากท้องเราได้ ทำให้คนที่อยูในท้องถิ่นอาจต้องคิดจริง ๆ จัง ๆ กันแล้วว่าเราจะ Breakthrough ความกลัวของตัวเองไปสู่การเมืองแบบใหม่ได้ไหม เพราะการเป็น Active citizen นั้น มันก็มีราคาที่ต้องจ่าย หรือมันจะยังคงต้องเป็นแบบนี้ต่อไปก่อน ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่าการเมืองระยะนี้ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ดังนั้นทุกคนจึงต้องทำงานมากขึ้น ต้องขยันมากขึ้นเพื่อให้การเมืองในแบบที่ตนเองอยากจะได้จริง ๆ ซึ่งในรอบนี้ 1 เสียงมีค่ามากจริง ๆ เพราะทุกคะแนนนั้นส่งผลกับชีวิตมาก ดังนั้น ถ้าเลือกผิด 4 ปีมันเป็นเวลาที่ยาวนานเกินไป สำหรับโลกที่ปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และสังคมที่ต้องการฟื้นฟูแบบนี้ ดังนั้นครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งโหวตเตอร์จะต้องทำการบ้านหนักมาก เพื่อจะทำให้จุดยืนหรือพลังที่ตัวเองเชื่อนั้นมีที่ยืนจริง ๆ”

ทั้งหมดนี้ เป็นการสะท้อนจากทาง ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่วิเคราะห์ กับฉายภาพทิศทางและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ผ่านทาง “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” ที่ช่วงท้ายเน้นย้ำว่า…กับการเลือกตั้งปี 2566 ครั้งนี้นั้น

เพียง 1 คะแนนก็กำหนดอนาคตได้.