นับจากการเลือกตั้งปี 2562 จนถึงปี 2566 ที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ ไม่เพียงจะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น แต่ยังเป็นช่วงเวลาที่ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าน่าตื่นเต้นและมีพลวัตมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยนอกจากจะมีสิ่งที่ทำให้เซอร์ไพร้ส์หลายเรื่อง ดังที่ได้สะท้อนไว้ในตอนที่แล้ว กับ “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” แล้ว นับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ในช่วงเวลา 4 ปีจนถึงวันนี้ ก็ยังมีทิศทางน่าสนใจในการเลือกตั้งครั้งใหม่ในปี 2566 ที่น่าติดตาม-ที่น่าจับตาเป็นพิเศษ ส่วนจะเป็นเช่นไรนั้น ต้องลองมาดูบทวิเคราะห์กัน

ผศ.ดร.กนกรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และผู้เขียนหนังสือสงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์สีขาว ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มของสิ่งที่จะเกิดขึ้น หรือปรากฏการณ์ที่อาจจะได้เห็นในการเลือกตั้ง ปี 2566 นี้ ว่า แม้เซอร์ไพร้ส์ที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2562 จะเรียกว่าพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินก็ตาม แต่การเลือกตั้งปี 2566 ก็อาจจะไม่มีเซอร์ไพร้ส์แบบนั้น แต่การเมืองไทยในช่วงนี้ก็ยังเป็นระยะที่น่าจับตาในหลายเรื่อง ได้แก่ “การปรับตัวของฝั่งอนุรักษนิยม” ที่น่าติดตามดูว่าจะปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน หลังจากตระหนักแล้วว่าพลังที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย หรือฝ่ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงนั้น มีพลวัต มีรูปแบบ มีวิธีการเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ซึ่งวิธีเก่า ๆ รูปแบบเก่า ๆ ใช้ไม่ได้แล้ว และจำเป็นจะต้องมีวิธีใหม่เข้ามาใช้จัดการ ซึ่งส่วนตัวก็ยังคงมองว่า แม้ฝั่งอนุรักษนิยมจะตระหนักว่า นิวโหวตเตอร์มีพลังมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยรอบนี้เพิ่มขึ้นเป็น 10 กว่าล้านคน ถ้าเทียบในรอบที่แล้วที่มีเกือบ 7 ล้านคน ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นเยอะมากก็ตาม แต่ฝั่งอนุรักษนิยมก็คงไม่ได้สนใจ และไม่พยายามทำความเข้าใจมากนัก จึงไม่ได้ให้ความสำคัญที่จะต้องปรับตัวเองใหม่อะไรมากมายนักแต่คิดว่าคงจะปรับตัวในแบบของเขา หรือพยายามทำแคมเปญเดิมของตนให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น พยายามทำให้คนรุ่นใหม่รู้ว่าอะไรคือถูกหรือผิดในสายตาของคนรุ่นเก่า หรือพยายามทำให้ฝั่งประชาธิปไตย หรือฝ่ายตรงข้ามเป็นปิศาจมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวมองว่าแคมเปญแบบนี้จะไม่สำเร็จ แถมจะยิ่งผลักให้คนรุ่นใหม่ออกไปจากฝั่งการเมืองเก่ามากเพิ่มขึ้น และอีกประการหนึ่งที่มองว่าฝั่งอนุรักษนิยมคงจะไม่ได้ปรับตัวใหม่อะไรมากมาย เนื่องจากเขายังไม่รู้ว่าจะทำยังไงที่จะดึงฐานมวลชนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาอยู่ฝั่งเขาได้มากขึ้น

ขณะที่สิ่งที่น่าจับตาต่อมาคือ “การล้มยักษ์จะเกิดยากขึ้น” ในการเลือกตั้งปี 2566 โดยครั้งนี้อาจไม่มีเซอร์ไพร้ส์แบบปี 2562 เกิดขึ้นมากนัก โดยเฉพาะเซอร์ไพร้ส์แบบการชนะบ้านใหญ่ ที่จะเกิดได้ยากมาก เนื่องจากบ้านใหญ่ต่าง ๆ รวมถึงฝั่งอนุรักษนิยมนั้นรู้แล้ว ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะระมัดระวังตัวมากขึ้น และไม่ประมาทฝั่งตรงข้าม ที่สำคัญยังอาจได้เห็นการปรับตัวในพื้นที่สตรองโฮลด์ต่าง ๆ ของแต่ละพรรคมากขึ้น อาทิ เขตเมือง เขตชนบท เขตมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนจะปักธงกันไว้แล้วในพื้นที่ที่เป็นฐานมวลชนของแต่ละฝั่ง เพราะเลือกตั้งครั้งนี้ ชนะแบบปริ่มน้ำไม่พอ แต่ต้องชนะให้ได้แบบน้ำล้นถ้วย

และประเด็นสุดท้ายคือ “ฐานมวลชนจะเคลื่อนย้ายขยายตัวชัดเจนมากขึ้น” เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ ที่ทางอาจารย์กนกรัตน์มองว่า อาจจะได้เห็นและเกิดขึ้นในการเลือกตั้งใหม่ในครั้งนี้ และจะเป็นในแบบที่ชัดเจนขึ้นว่ากลุ่มสวิงโหวตเหล่านี้ น่าจะไหลไปอยู่กับฝั่งไหนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่เคยเป็นสวิงโหวต เนื่องจากการเลือกตั้งรอบนี้ พรรคการเมืองแบบแปลก ๆ ที่เคยมีในการเลือกตั้งปี 2562 จะน้อยลง หรือหลายคนที่ไม่ชอบ ปชป. ไม่เอาลุงตู่ ไม่เลือกพลังประชารัฐ ก็จะเคลื่อนตัวมาสู่พรรคฝ่ายค้านมากขึ้น เช่น ไม่เอาก้าวไกล ก็จะไหลไปเพื่อไทย เป็นต้น นอกจากนี้ ที่น่าจับตาก็คือ ฐานมวลชนของภูมิใจไทยจะขยายตัวมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะใน 4 ปีที่ผ่านมา ระหว่างที่ พปชร. ทะเลาะกัน แตกกันนั้น พปชร. ไม่ได้เตรียมฐานในบ้านใหญ่เลย แต่ภูมิใจไทยกลับประสบความสำเร็จในการกวาดบ้านใหญ่เก่า และเก็บคะแนนจากบ้านใหญ่ใหม่ได้เพิ่มด้วย ซึ่งถึงแม้บ้านใหญ่ใหม่อาจจะยังไม่เคยชนะเลือกตั้ง แต่หลาย ๆ หลังก็มีแนวโน้มในการเลือกตั้งครั้งนี้

“ส่วนตัวมองว่าปรากฏการณ์เหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นกับการเลือกตั้งปี 2566 นี้ และถ้าเกิดขึ้นแล้วก็จะส่งผลทำให้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของแลนด์สเคปทางการเมืองอย่างมาก” เป็นการวิเคราะห์ถึง “ปรากฏการณ์สำคัญ” ที่น่าจับตาในสมรภูมิการเลือกตั้ง ปี 2566 ในมุมมองของ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่ได้สะท้อนไว้ ทั้งนี้ เมื่อผลการเลือกตั้งปี 2566 รู้ผลออกมาแล้ว “ทุกคะแนน-ทุกที่นั่ง” ที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนส่งผลทำให้ภูมิทัศน์ของการเมืองไทยเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และ “หนึ่งในปัจจัยชี้ขาด” ที่มิอาจมองข้ามได้ก็คือ “นิวโหวตเตอร์” ซึ่งในฐานะนักวิชาการที่เฝ้าติดตามทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “การเมืองของคนหนุ่มสาว” มาอย่างต่อเนื่อง นี่ก็ยิ่งน่ารับฟังมุมมองของนักวิชาการท่านนี้

ส่วนจะยังไงนั้น..มาดูต่อพรุ่งนี้.