ฝุ่นละอองที่ลอยในอากาศ ทั้งที่มองเห็นหรือมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ก่อนเกิดปัญหากับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ชวนค้นเรื่องน่ารู้ ชวนรู้จักฝุ่นละอองล้อมรอบตัว โดย ดร.ธัญภัสสร์ ทองเย็น ผู้ช่วยคณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความรู้ พารู้จักฝุ่นที่สร้างความสกปรกให้กับบ้านฝุ่นละอองที่สร้างมลพิษว่าฝุ่นละอองมีที่มาจากหลายสาเหตุ หลายแหล่งกำเนิด นับแต่กิจวัตรประจำวัน การใช้รถใช้ถนน ใช้เชื้อเพลิงซึ่งมีการปลดปล่อยไอเสียออกมา ฯลฯ ในสิ่งเหล่านี้จะมีฝุ่นละอองอยู่

นอกจากนี้มีกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นการประกอบอาหารใช้ถ่านเป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่อย่างไรแล้ว ในส่วนนี้จะทำให้เกิดฝุ่นละอองค่อนข้างน้อยมากซึ่งไม่ใช่ปัจจัยหลัก อีกทั้งกิจกรรมด้านการเกษตร การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ก็ทำให้เกิดฝุ่น โดยลมจะพัดพาลอยไปค่อนข้างไกล อีกทั้ง ฝุ่นยังเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ อย่างกรณีเกิดไฟป่าตามธรรมชาติ หรือฝุ่นจากละอองเกลือทะเล ละอองไอที่พัดเข้ามาก็ก่อให้เกิดฝุ่นละออง

ปัจจุบันจะได้ยินเรื่อง PM2.5 กันค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ฝุ่นดังกล่าวดังที่ทราบคือฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนลงไปและอาจเล็กกว่านั้น หรืออยู่ที่ 0.1 ไมครอน ก็ถือเป็น PM2.5 ส่วนที่เน้นยํ้ากันในเรื่องนี้ ก็ด้วยเวลาที่หายใจฝุ่นจิ๋วเหล่านี้เข้าไปลึก ไม่สามารถไอ จามขับออกมาได้ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก จึงเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญ

ผู้ช่วยคณบดี ดร.ธัญภัสสร์ อธิบายเพิ่มอีกว่า ในเรื่อง PM2.5 มีการศึกษากันมานานในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีความตระหนักรับรู้เพิ่มขึ้น เข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้น โดยมีสื่อออนไลน์ส่งต่อข้อมูลทำให้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว ดังเช่นถ้าเช้าไหนที่ท้องฟ้ามัวมีหมอกควันจะติดตามว่า นี่คือฝุ่น PM2.5 หรือเป็นหมอก โดยถ้าเป็นหมอกคือไอนํ้าฝุ่นจะน้อย แต่ถ้าเป็นฝุ่นจะสังเกตได้โดยมีสีเทาจาง ๆ มีฝุ่นมากกว่าหมอก เป็นต้น

“ฝุ่นแม้จะอยู่ล้อมรอบตัวเรา แต่ฝุ่นก็ไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป ทั้งนี้ ดร.ธัญภัสสร์ อธิบายเพิ่มว่า ถ้านึกถึงฝุ่นจะนึกถึงการหายใจ หรืออาการโรคทางเดินหายใจซึ่งจะเป็นลักษณะของฝุ่นที่มีปริมาณมาก ๆ แต่ถ้าเป็นฝุ่นตามธรรมชาติ ฝุ่นที่อยู่ในบรรยากาศจะมีคุณสมบัติที่ช่วยดูดซับเป็นแกนกลาง ทำให้มีการกลั่นตัวของฝน ซึ่งก็คือทำให้ฝนตก ฝุ่นเหล่านี้จะเป็นฝุ่นตามธรรมชาติ ไม่ใช่ฝุ่นที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์หรือการจราจร การใช้รถใช้ถนน ฯลฯ ดังนั้นฝุ่นจึงไม่ใช่ผู้ร้ายเสมอไป

ส่วนฝุ่นที่ต้องระมัดระวัง มีความอันตรายคงต้องพิจารณาที่ ขนาด โดยขนาดเป็นลักษณะทางกายภาพลำดับแรกในการช่วยคัดกรอง ยิ่งมีขนาดเล็กยิ่งอันตราย และถ้ามีขนาดใหญ่ร่างกายจะมีกลไก ไม่ว่าจะเป็นการไอ จาม มีขนจมูกช่วยกรองฝุ่น และจากที่กล่าวฝุ่นที่เล็กกว่า 2.5 ไมครอน เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะลงไปได้ลึก ซึ่งมีผลต่อระบบเลือด และถ้ามีสารเคมีร่วมด้วยจะยิ่งมีความอันตราย

ต่อมาพิจารณา ในฝุ่นมีอะไรปนเปื้อน กรณีที่ฝุ่นมาจากกิจกรรม มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงซึ่งบางชนิดมีสารเคมีเป็นส่วนผสมหรือมีโลหะหนัก ในลักษณะนี้ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นจะค่อนข้างอันตราย จากที่ศึกษาพบสารบางอย่าง เป็นสารก่อมะเร็งหรือฝุ่นที่มีสารโลหะหนักซึ่งมีผลกระทบมากกว่าฝุ่นทั่วไป อีกทั้งจากงานวิจัยของเรามีการจำแนกฝุ่นหลายรูปแบบ จำแนกนับแต่ฝุ่นที่มีลักษณะทั่ว ๆ ไป รูปร่างเป็นอย่างไร มีการนำฝุ่นไปส่องกล้อง ลักษณะกลม ยาวหรือเป็นแผ่น ฯลฯ โดยที่ผ่านมาทางคณะสิ่งแวดล้อม เราศึกษาติดตามอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในเรื่ององค์ประกอบว่ามีสิ่งใดปนเปื้อนอยู่บ้าง เป็นต้น

ส่วนความต่างของฝุ่นละอองในบ้านกับฝุ่นละอองนอกบ้าน ผู้ช่วยคณบดีภาควิชาเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม ดร.ธัญภัสสร์ อธิบายอีกว่า ฝุ่นในบ้านหรือฝุ่นนอกบ้านขึ้นอยู่กับกิจกรรมและการระบายอากาศภายในบ้าน แน่นอนว่าถ้าเป็นฝุ่นนอกบ้าน เราจะสัมผัสได้มากจากบรรยากาศข้างนอก หรือถ้าอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดใด บ้านไหนอยู่ใกล้ถนนสายหลักก็จะได้รับฝุ่นจากไอเสียจากการจราจรมากสักหน่อย หรือถ้าบ้านไหนอยู่ในพื้นที่ปริมณฑล ต่างจังหวัดที่มีการเผาไร่ เผานาข้าว ลักษณะนี้ก็จะได้รับฝุ่นจากการเผา ซึ่งเป็นฝุ่นค่อนข้างเล็ก

“แต่ถ้าเป็นฝุ่นในบ้านจะมีลักษณะที่แตกต่าง โดยอย่างแรก ฝุ่นในบ้านจะมีปริมาณน้อยกว่านอกบ้าน ทั้งนี้มีกำแพง มีประตูหน้าต่างช่วยป้องกัน ยิ่งถ้าบ้านที่ไม่มีการประกอบกิจกรรมใด ๆ ฝุ่นที่เกิดขึ้นจะมีค่อนข้างน้อย ดังนั้นฝุ่นในบ้านโดยทั่วไปจะเป็นไปในลักษณะของกิจกรรม ถ้ามีกิจกรรมภายในบ้านหรืออีกส่วนหนึ่งก็เป็นไปได้ในเรื่องของวัสดุ อย่าง พรม ผ้าม่าน ก็เป็นวัสดุที่ทำให้เกิดการสะสมฝุ่นได้ง่าย ส่วนนี้ต้องหมั่นดูแลทำความสะอาด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งรวมฝุ่น”

ดร.ธัญภัสสร์ อธิบายเพิ่มอีกว่า ฝุ่นที่เกิดขึ้นก็มาจากฝุ่นนอกบ้าน ขณะที่เราเปิดประตู หน้าต่าง ลมก็พัดพาฝุ่นเข้ามา ฝุ่นเหล่านี้จึงไปเกาะติดตามพื้น ขอบหน้าต่างหรือผ้าม่าน เป็นต้น ส่วนฝุ่นที่อยู่ในบ้านสร้างปัญหาหรือส่งผลกระทบคุณภาพชีวิตหรือไม่อย่างนั้น คงต้องพิจารณาสภาพแวดล้อมโดยรอบบ้านด้วย ถ้าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ชุมชนซึ่งบางที่อาจมีการเผาขยะอยู่ ฝุ่นควันที่เข้ามาก็ทำให้เราต้องสัมผัสด้วย ดังนั้นกรณีนี้หรือในวันที่ มีฝุ่นมากควรปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด โดยถ้าบ้านใดที่มีการใช้เครื่องฟอกอากาศอยู่แล้ว หรือใช้เครื่องปรับอากาศก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดฝุ่นลง

อีกส่วนหนึ่งฝุ่นที่มองเห็นตามพื้นผิวต่าง ๆ ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นหลังตู้หนังสือ ชั้นวางของหรือมุมห้อง ฯลฯ ฝุ่นที่เกาะอยู่เหล่านี้จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ การทำความสะอาดบ่อย ๆ จะช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นการเช็ด หรือดูดฝุ่น ฯลฯ แต่อย่างไรแล้ว อาจต้องเพิ่มความระวัง ด้วยที่เวลาทำความสะอาดฝุ่นจะฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ ถ้าเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างไวต่อการรับสัมผัส ต้องระวังตนเอง ใส่หน้ากากอนามัยระหว่างทำความสะอาดก็ช่วยให้ลดการสัมผัสได้

“บางบ้านอาจมีการกั้นห้องค่อนข้างมาก ในส่วนนี้จะทำให้เกิดจุดอับ เมื่ออากาศไม่หมุนเวียน ฝุ่นก็จะตกลงในบริเวณที่เป็นจุดอับอย่างเช่นห้องที่เป็นมุมห้อง เป็นมุมอับฝุ่นจะเกาะอยู่ค่อนข้างมากการทำความสะอาดคงต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่บริเวณนี้เพิ่มขึ้น อีกทั้งบางบ้านที่ติดเครื่องปรับอากาศไว้มาก โดยไม่มีการระบายอากาศออก อากาศไม่หมุนเวียนจึงควรต้องมีการเปิดประตูหน้าต่างทุกวัน เพื่อช่วยการระบายอากาศเช่นกัน”

อีกประเด็นที่อาจมองข้ามกันไปคือ การทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ เป็นอีกสิ่งสำคัญ โดยฝุ่นขนาดเล็กที่ผ่านเข้าไปในเครื่องปรับอากาศจะไปติดอยู่ ถ้าใช้งานไปนาน ๆ ก็มีโอกาสที่ฝุ่นเหล่านี้จะฟุ้งกระจายอยู่ในห้อง การทำความสะอาดถือเป็นอีกส่วนสำคัญโดยทั่วไปอย่างน้อยควรทำความสะอาด 6 เดือนครั้ง หรือปีละครั้ง หรือกรณีที่พื้นที่นั้นมีฝุ่นเยอะ มี PM2.5 มาก ๆ อาจต้องทำความสะอาดให้บ่อยครั้งขึ้น โดยส่วนนี้จะช่วยลดการรับการสัมผัสฝุ่น

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของฝุ่นอยู่รายล้อมรอบตัวเรา และมีอยู่เช่นนี้มายาวนาน โดยที่นำมาทำความรู้จักไม่เพียงเฉพาะแต่ฝุ่นจิ๋ว ส่วนที่โฟกัสฝุ่นจิ๋วก็ด้วยที่มีความอันตราย จากที่กล่าวฝุ่นจิ๋วมีคุณสมบัติที่ลอยในอากาศได้นานด้วยที่เบาและมีขนาดเล็ก ถ้าเป็นฝุ่นขนาดใหญ่จะลอยไปไม่ไกล จะตกลงที่พื้น ดังนั้นจะพบว่าฝุ่นที่พัดเข้ามาจากระยะไกล ๆ จากจังหวัดอื่น ภูมิภาคอื่นส่วนใหญ่จะเล็กมาก จะอยู่ในกลุ่ม PM2.5

ดร.ธัญภัสสร์ ให้ความรู้ทิ้งท้ายอีกว่า ปัจจุบันปัญหาฝุ่นมีความตระหนักเพิ่มขึ้น มีความเข้าใจถึงการป้องกันตนเอง อีกทั้งมีความร่วมมือร่วมกันในหลาย ๆ ด้าน จากหลายภาคส่วนที่จะช่วยกันลดฝุ่น โดยที่ผ่านมาและจากการศึกษาวิจัยต่อเนื่องทางคณะฯ เรามีกลุ่มวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศที่ศึกษาและรวมไปถึงดูแหล่งกำเนิดของฝุ่น ให้ข้อมูลมอบให้กับหน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้เพื่อร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม ร่วมกันแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลทางเว็บไซต์คณะสิ่งแวดล้อมโดยเข้าถึงข้อมูลติดตามข้อมูลเรื่องฝุ่น PM2.5 เป็นประโยชน์กับตัวเราและเพื่อวางแผนป้องกันก่อนต้องเผชิญกับฝุ่น

ป้องกันอันตรายจากฝุ่นที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ