การนำดอกไม้มาใช้ประโยชน์ นำดอกไม้มาเป็นวัตถุดิบสร้างสรรค์อาหารคาวของหวาน ของว่าง สร้างสรรค์ได้มากมายหลายเมนู โดยเฉพาะอาหารไทย…

ดอกไม้กินได้สีสันสวย กลิ่นหอมทั้งให้รสเป็นเอกลักษณ์ เมื่อนำมาจัดแต่งจานยังเสริมแต่งความพิเศษให้กับอาหาร เพิ่มมูลค่าสร้างความประทับใจ ทั้งนี้ชวนค้นเรื่องน่ารู้จาก “ดอกไม้กินได้” ชวนมองประโยชน์รอบด้าน มองไอเดียปรุงอาหารจากดอกไม้กินได้ใกล้ตัวรอบรั้วบ้าน โดย ผศ.กฤติน ชุมแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้ว่าในเรื่องของดอกไม้ที่นำมาปรุงประกอบอาหาร ใช้ประโยชน์ดอกไม้ในด้านอาหารมีมายาวนาน โดยเฉพาะอาหารไทย ซึ่งสร้างสรรค์ไว้มากมายและมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเภทอาหารคาว ของหวาน หรือนำดอกไม้มารับประทานเป็นเครื่องเคียง หรือเครื่องดื่ม

ดอกอัญชัน เป็นหนึ่งในดอกไม้ที่ให้สีสันสวย เช่นเดียวกับ กระเจี๊ยบ อีกหนึ่งดอกไม้ที่สามารถดึงประโยชน์ในเรื่องสี นำมาใช้ได้โดดเด่น ทั้งนำมาสร้างสรรค์เมนูเครื่องดื่ม ของหวานได้อย่างน่าสนใจ ดอกไม้กินได้ยังมีอีกมากมายหลายชนิด อย่าง ดอกขี้เหล็ก ใช้ทั้งส่วนดอกและใบนำมาปรุงประกอบอาหารไทยแกงขี้เหล็ก ดอกดาหลา นำมาปรุงเมนูยำ หรือทางภาคใต้นำมาเป็นส่วนประกอบในข้าวยำ หรือ ดอกงิ้ว ดอกไม้ทางภาคเหนือ นำมาปรุงในขนมจีนนํ้าเงี้ยว หรือดอกไม้กินได้ที่มีรูปทรง สีสันสวยทางภาคกลาง ดอกขจร นำมาปรุงอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะนำไปผัด ต้มจืด ทอดหรือลวกจิ้มกับนํ้าพริก”

เช่นเดียวกับ ดอกโสน อีกหนึ่งดอกไม้สีสันสวย นำมาทำอาหารได้มาก ไม่ว่าจะเป็นผัดไข่ใส่ดอกโสน นำดอกโสนไปต้มสุกแล้วลวกจิ้มกินกับนํ้าพริก รวมถึง ดอกแค นำมาใส่ในแกงส้ม หรือจะนำมาลวกจิ้มกับนํ้าพริก

อีกทั้งยังมี ดอกพวงชมพู ดอกลีลาวดี นำมาชุบแป้งทอด หรือนำมาเป็นเครื่องเคียงกินกับขนมจีนนํ้าพริก มี ดอกสะเดา ที่เข้าคู่กับนํ้าปลาหวาน นํ้าพริกต่าง ๆ หรือแม้แต่ หัวปลี ส่วนที่เป็นดอกของต้นกล้วย นำมาสร้างสรรค์อาหารได้หลากหลายเมนูเช่นกัน จะกินสดเป็นผักเครื่องเคียงกับนํ้าพริก ผัดไทยหรือนำไปปรุงเมนูต้มข่าไก่ใส่หัวปลี หรือยำหัวปลี ก็ได้เช่นกัน

จะเห็นได้ว่าดอกไม้หลายชนิดกินได้ เป็นวัตถุดิบนำมาปรุงสร้างสรรค์อาหารได้มากมายโดยที่อาจลืมกันไป อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ ผศ.กฤตินขยายความ ยกตัวอย่างดอกไม้กินได้เพิ่มอีกว่า ดอกบัว ก็เช่นกัน มีประโยชน์ไม่น้อย โดยบัวปลูกขึ้นง่ายหลายพื้นที่ เป็นพืชสารพัดประโยชน์ โดยแทบทุกส่วนจากบัวกินได้ ไม่ว่าจะเป็น รากบัว เม็ดบัว กลีบดอกบัว ฯลฯ โดยเฉพาะกลีบบัวหลวงมีความนิยมนำมาทำเมี่ยงคำแทนใบชะพลู ฯลฯ

ดอกไม้กินได้ยังมีอีกมากและนอกจากสีสันสวย บางชนิดให้ กลิ่น รสชาติ เป็นเอกลักษณ์ อย่างเช่น กุหลาบมอญ ดอกมะลิ ดอกกระดังงา ฯลฯ นิยมนำมาทำนํ้าลอยดอกไม้ ให้กลิ่นหอม นำไปทำขนมไทย ข้าวแช่ ฯลฯ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่บอกเล่าสตอรี่ดอกไม้กินได้ บอกเล่าวัฒนธรรมอาหารไทย ใช้ดอกไม้นำมาประกอบอาหาร รวมถึงประโยชน์ต่อสุขภาพ

การนำดอกไม้มาปรุงประกอบอาหารเป็นภูมิปัญญาไทยน่าศึกษาและสืบรักษา แต่ละเมนูมีความลงตัว วัตถุดิบผสานเข้ากัน กลิ่น รส เนื้อสัมผัสทุกอย่างรวมเป็นความกลมกล่อมซึ่งเป็นเอกลักษณ์เป็นมนต์เสน่ห์ของอาหารไทย อย่างเช่น แกงขี้เหล็ก ใบ ดอกขี้เหล็กมีรสขม คนโบราณจะมีวิธีลดความขม เครื่องแกง กะทิ เนื้อสัตว์ ใส่ส่วนผสมต่าง ๆ เข้ากัน ชูรสชาติอาหาร กลิ่น สีของวัตถุดิบได้อย่างสมบูรณ์ ถ่ายทอดภูมิปัญญาอาหารไทย ความพิถีพิถัน เป็นหนึ่งในอาหารไทยที่บอกเล่าเรื่องดอกไม้กินได้อย่างชัดเจน”  

ดอกไม้กินได้ยังมีเรื่องน่ารู้ ในด้านสุขภาพ โดยดอกไม้ที่นำมาปรุงอาหาร มีสารอาหารสำคัญ ๆ ดีต่อสุขภาพ มีวิตามิน ไฟเบอร์ บางชนิดมีความขมซึ่งเชื่อว่าหวานเป็นลมขมเป็นยา เมื่อนำมาประกอบอาหาร นำมารับประทานโดยเฉพาะกับ นํ้าพริก โดยนํ้าพริกของแต่ละภูมิภาคของไทย มีความโดดเด่น มีหลายรูปแบบเป็นอีกส่วนหนึ่งร่วมส่งเสริมสุขภาพ 

ในความสวยงามของดอกไม้ ในปัจจุบันจะเห็นถึง การนำมาตกแต่งอาหาร นำมาจัดจาน ขณะที่การนำดอกไม้มาประกอบอาหารก็ยังคงอยู่ยังคงเป็นความคลาสสิก โดยผศ.กฤติน อธิบายเพิ่มว่า การนำดอกไม้มาเป็นองค์ประกอบจัดตกแต่งจานอาหารเป็นอีกส่วนหนึ่งที่น่าศึกษา แต่เดิมการตกแต่งอาหารไทยจะใช้ใบไม้ อย่างเช่น ใบสะระแหน่ ผักชี จะนำมาวางบนอาหาร หรือ โหระพา นำมาวางเป็นช่อ ๆ ด้านข้าง แต่ปัจจุบันนำดอกไม้กินได้มาจัดตกแต่ง เติมความโดดเด่น ความสวยงามดึงดูดสายตา 

แต่อย่างไรแล้วดอกไม้ที่นำมาตกแต่งก็ใช่ว่าจะต้องมีทุกจานอาหาร โดยมากเป็นอาหารสไตล์โมเดิร์น ฟิวชันฟู้ด สไตล์เวสเทิร์น และแม้ดอกไม้จะให้ความสวยงาม เติมสีสันมนต์เสน่ห์ให้กับอาหาร แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ ต้องมีความปลอดภัย

 “การนำดอกไม้มาใช้ร่วมกับอาหารสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงคือความปลอดภัย โดยดอกไม้ที่กินได้มีส่วนส่งเสริมให้คุณค่าทางโภชนาการ เนื่องจากดอกไม้เป็นพืช ส่วนประกอบหลักของเซลล์พืชจะเป็นพวกใยอาหารเส้นใยอาหาร การรับประทานจะส่งผลดีต่อระบบการย่อยและการขับถ่าย อีกทั้งกลิ่นหอมของดอกไม้บางชนิดยังให้ความผ่อนคลาย โดยมีดอกไม้หลายชนิดที่มีความโดดเด่นดังกล่าว นำมารับประทาน ทั้งในรูปแบบรับประทานสดและแปรรูปเป็นชาดอกไม้”

ช่วงแรกของการนำดอกไม้นำมาตกแต่ง จะเห็นดอกจากต่างประเทศ อย่างเช่น ดอกคาโมมายล์ แพนซี่ โรสแมรี่ ฯลฯ จากนั้นต่อมามีการนำพืชผัก ดอกไม้ของไทยนำมาจัดวาง ตกแต่ง ใช้ ดอกพริก ดอกอัญชัน ซึ่งมีสีสันสวย สีขาวและสีนํ้าเงิน พวงชมพู สีขาว และสีชมพู มี ดอกแตงกวา กวางตุ้ง ดอกหอม ฯลฯ ก็เป็นที่นิยมเช่นกัน    

“ดอกไม้ที่นำมาตกแต่ง นอกจากให้ความสวยงามกับอาหาร เติมแต่งอาหาร อีกส่วนหนึ่งยังเพิ่มมูลค่าให้กับอาหาร เปลี่ยนจานธรรมดาเป็นจานพิเศษ จะเห็นว่าดอกอัญชัน สามารถนำมาตกแต่งอาหารได้ทั้งเมนูไทยและในสไตล์ฟิวชั่น ตกแต่งข้าวเหนียวมูน ใช้กลีบดอกสีสวยของอัญชันบอกเล่าสตอรี่อาหาร เล่าความเกี่ยวเนื่องสอดคล้องกับเมนู

นอกจากนี้ยังสามารถสกัดสี เป็นสีจากธรรมชาตินำไปให้ทำขนมต่าง ๆ อย่างเช่น ขนมต้ม บัวลอย ถั่วแปบ ฯลฯ อีกทั้งบางชนิดมีกลิ่นหอม มีรสชาติเสริมความโดดเด่นให้กับอาหาร อย่างเช่น แนสเตอร์เตียม ให้รสเผ็ดอ่อน ๆ จะนิยมใส่ในอาหารคาว สลัด เป็นต้น แต่อย่างไรแล้วหากให้แนะนำ การที่จะนำดอกไม้กินได้มาตกแต่ง โดยเฉพาะดอกไม้ต่างประเทศอยากให้ชิมรสชาติก่อน จะช่วยให้เลือกใช้ดอกไม้ได้อย่างเหมาะสม ให้มีความเข้ากันกับอาหารนั้น ๆ อย่างลงตัวยิ่งขึ้น” 

อีกส่วนหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงสำหรับการนำดอกไม้นำมาตกแต่งคือ สี โดยถ้าอาหารสีอ่อน โทนสว่าง ใช้ดอกไม้สีเข้มนำมาแต่งเติมความน่าสนใจ ในทางกลับกันถ้าอาหารมีสีเข้ม เลือกใช้ดอกไม้โทนอ่อน สีสว่าง ๆ นำมาตกแต่งเพื่อให้มีความตัดกัน ดึงดูดสายตา และอีกข้อระวังสำหรับ ดอกไม้ที่มีกลีบซ้อนกันเยอะ ๆ ควรใช้เฉพาะกลีบดอก ไม่ใช้ทั้งดอก

“การใช้เฉพาะกลีบดอกจะช่วยหลีกเลี่ยงสิ่งไม่พึงประสงค์ในดอกไม้เช่น มด แมลง ฯลฯ ที่เข้าไปอยู่ด้านใน หรือกรณีแพ้เกสรดอกไม้ หรือดอกไม้บางชนิดเกสรมีรสขม ฯลฯ ก็จะช่วยได้ ส่วนดอกไม้ขนาดเล็กที่มีกลีบดอกเล็ก ๆ นำมาจัดตกแต่งได้ทั้งดอกได้ แต่ทั้งนี้ก่อนนำมาใช้ต้องทำความสะอาด ล้างนํ้าเบา ๆ เพื่อไม่ให้กลีบช้ำ อีกทั้งความสด สวยงามของดอกไม้ก็ต้องไม่มองข้าม”

ดอกไม้บางชนิดกลีบมีความบอบบางช้ำง่าย บางชนิดกลีบแข็งแรง ก่อนเลือกนำมาใช้ต้องพิจารณา แต่อย่างไรแล้วก็ใช่ว่าดอกไม้ทุกชนิดจะสามารถเก็บมาใช้ได้ บางชนิดเป็นดอกไม้มีพิษไม่เหมาะกับการนำมากิน ส่วนนี้จึงต้องศึกษาและระมัดระวัง ยิ่งเป็นดอกไม้ที่ไม่มีประวัติการนำมารับประทาน ควรต้องเพิ่มความระวังให้มาก โดยเบื้องต้นถ้าต้องการทำความรู้จักกับดอกไม้อาจเสิร์ชหาข้อมูลเบื้องต้นก่อนนำมาใช้

อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ ผศ.กฤติน ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า ดอกไม้ไทยหลายชนิดมีความน่าสนใจเป็นดอกไม้กินได้ นำมาสร้างสรรค์อาหาร นำมาตกแต่งได้อย่างโดดเด่น การจัดทำข้อมูลดอกไม้กินได้เผยแพร่ สร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคทำฐานข้อมูล รวมถึงการเพาะปลูก โดยปลูกแบบออร์แกนิก สิ่งเหล่านี้จะร่วมส่งเสริมอุตสาหกรรมดอกไม้และอุตสาหกรรมอาหารบูรณาการผนวกเข้าด้วยกัน เกิดการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ โดยส่วนหนึ่งนี้บอกเล่าเรื่องราวจากดอกไม้กินได้

ดอกไม้ที่มีสตอรี่ซ่อนเรื่องลับ ๆ น่ารู้หลายมิติ มีความโดดเด่นมากกว่าสีสันสวยงามและการใช้ประโยชน์ตกแต่ง เป็นดอกไม้ที่สร้างงาน สร้างรายได้ทำเงินทั้งต่อยอดสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ต่อเนื่องต่อไป โดยค้นได้จากดอกไม้กินได้. 

พงษ์พรรณ บุญเลิศ