หากเอ่ยถึงนักวิชาการที่เฝ้าติดตามให้ความสนใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งปี 2562 แบบใกล้ชิดแล้ว ชื่อของ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะต้องผุดพรายขึ้นในลิสต์อย่างมิต้องสงสัย หลังจากตัว อาจารย์กนกรัตน์ ให้ความสนใจเรื่องนี้มาก ทั้งยังลงไปคลุกวงในภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลจากคนเจนเนอเรชั่นต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ จนเกิดหนังสือ “สงครามเย็น (ใน) ระหว่างโบว์ขาว” ที่ได้ชวนสังคมไทยให้ร่วมทำความเข้าใจในโลกทัศน์ที่แตกต่างกันของคนต่างรุ่น ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นและโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งในโอกาสที่ปี 2566 เป็นช่วงครบ 4 ปีนับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 และปีนี้กำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนั้น “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” จึงชวนนักวิชาการท่านนี้ ให้มาช่วยวิเคราะห์และฉายภาพถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนจะมีรายละเอียดอย่างไรนั้น…ลองมาดูกัน

การเลือกตั้งปี 2562 ส่วนตัวเองมองว่าเป็นช่วงเวลาที่มีเรื่องเซอร์ไพร้ส์เกิดขึ้นเยอะมาก ทั้งจากการกระทำของนักการเมือง พรรคการเมือง หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ ผศ.ดร.กนกรัตน์ จั่วหัวการสนทนาในครั้งนี้ ด้วยการระบุถึง เรื่องเซอร์ไพร้ส์ ที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งปี 2562 โดยยอมรับว่า การเลือกตั้ง 4 ปีที่แล้ว ในทรรศนะของตัวอาจารย์เองนั้นมองว่าน่าตื่นเต้นที่สุด และมีพลวัตมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การเลือกตั้งประเทศไทย โดย เซอร์ไพร้ส์ที่ 1 คือ ชัยชนะการจัดตั้งรัฐบาลของพลังประชารัฐ ที่เวลานั้นถึงแม้ พปชร. จะได้คะแนนเสียงเยอะ แต่ก็ยังเป็นพรรคอันดับ 2 ที่สำคัญเวลานั้น ไม่มีใครนึกออกว่ารูปแบบการใช้ประโยชน์จากกลไกของ 250 ส.ว. นั้น มันจะออกมาเป็นรูปแบบไหน ซึ่งปรากฏว่ากลไกนี้กลับไม่ได้ทำงานโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่กลับมาจากฝั่งพรรคการเมืองมากกว่า โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองที่มองเห็นบทบาทและอิทธิพลของ ส.ว. จนทำให้ พปชร. จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ทั้งที่มีคะแนนอันดับ 2 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งมาก่อน

เซอร์ไพร้ส์ที่ 2 คือ ความพ่ายแพ้ของประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่า ปชป. ที่มีฐานมวลชนหนาแน่นในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคใต้มหาศาลเช่นนี้ กลับต้องมาสูญเสียพื้นที่และคะแนนให้กับฝั่งการเมืองสุดขั้วทั้ง 2 ปีกคือ ฝั่งอนุรักษนิยมเก่า และเสรีนิยมก้าวหน้า อย่าง พปชร. ที่แสดงจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ อำนาจราชการ อำนาจทหารมากกว่า และเสียคะแนนกับพื้นที่ไปให้กับอนาคตใหม่ ที่ตอนนี้เป็นพรรคก้าวไกล ที่มีจุดยืนตรงกันข้ามกับทาง พปชร. จึงเป็นเรื่องที่เซอร์ไพร้ส์มากกับการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งที่ในอดีต ปชป. มีภาพของการเป็นพรรคการเมืองของคนที่มีแนวคิดเสรีนิยมแบบก้าวหน้ามายาวนาน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดเรื่องนี้ ส่วนตัวมองว่าเพราะช่วงที่ผ่านมา ปชป. ไม่ได้ขยับภาพนี้ให้ชัดเจน และไม่ได้พยายามปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น จนสูญเสียมวลชนที่เคยมีอยู่ไปให้กับฝั่งการเมืองสุดขั้วทั้ง 2 ปีก จนท้ายที่สุด หลังเลือกตั้งปี 2562 เป็นต้นมา ปชป.ก็แทบจะไม่ได้เข้ามาอยู่ในสมการการเมืองในช่วงเวลาต่อมาอีกเลย

เซอร์ไพร้ส์ที่ 3 คือ ชัยชนะของอนาคตใหม่ ที่เวลานี้กลายมาเป็นก้าวไกล ซึ่งเวลานั้นเป็นม้ามืดที่ไม่มีใครคาดคิด และหลายคนบอกว่าได้ 10 ที่นั่งก็ดีมากแล้ว แต่กลับได้มามากกว่า 80 ที่นั่ง จนหลายคนแทบไม่เชื่อ ซึ่งสะท้อนว่าเราประเมินผิดพลาดกับพลังของนิวโหวตเวอร์  แต่ก็อาจเป็นเพราะในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถ้าไม่นับเอา 14 ตุลา 6 ตุลาแล้ว กลุ่มยังโหวตเตอร์หรือนิวโหวตเตอร์นั้นไม่เคยเป็นปัจจัยที่สามารถไปกำหนดชัยชนะของพรรคการเมืองเองได้เลย เพราะคนรุ่นใหม่จากยุค 14 ตุลา 6 ตุลา เป็นคนที่ไม่ได้สนใจไม่ตื่นตัวทางการเมืองมาก จนพรรคการเมืองไม่ได้คิดว่าจะมีผลกับการกำหนดชัยชนะในการเลือกตั้งได้มาก่อน อีกทั้งนโยบายที่อนาคตใหม่ชูนั้นยากเกินกว่าที่พรคไหนจะกล้าชู เช่น นโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ซึ่งเป็นนโยบายที่รู้ ๆ กันอยู่ว่าไม่มีใครที่กล้าหรอก แม้แต่เพื่อไทยเองก็ไม่กล้า เพราะมันคือการแสดงจุดยืนที่จะสร้างปัญหาต่อการทำงานของรัฐบาลที่ตัวเองจะอยู่ร่วมด้วยในอนาคต เพราะมันเป็นการชนกับสถาบันทหารที่เป็นระบบราชการหนึ่งที่สำคัญมากที่สุดอีกระบบหนึ่ง ที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็จะต้องทำงานด้วย อันนี้ไม่ต้องไปพูดถึงนโยบายเรื่อง 112 แต่กลับเป็นนโยบายที่ไปทัชกับกลุ่มยังโหวตเตอร์ กลุ่มนิวโหวตเตอร์ จนคะแนนไหลมาทางนี้ จนทำให้เซอร์ไพร้ส์นี้เกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2562

เซอร์ไพร้ส์ที่ 4 ชัยชนะของภูมิใจไทย ที่เป็นชัยชนะที่เติบโตต่อเนื่องขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นชัยชนะที่เติบโตบนจุดยืนกึ่งบ้านใหญ่กึ่งนโยบายด้วย เพราะทุกคนมองภูมิใจไทยเป็นเรื่องของฐานบ้านใหญ่ แต่ปรากฏตัวนโยบายเรื่องกัญชาเสรี กลับเป็น Breakthrough Policy ในหลายมิติมาก อย่างมิติทางศีลธรรม เป็นต้น เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีพรรคไหนหรอกที่จะกล้าชูนโยบายสุราเสรี หรือการพนันเสรี แต่พอ ภท. ชูเรื่องกัญชาเสรีเป็นนโยบายออกมา จึงทำให้หลายคนรู้สึกตกใจมาก ที่สำคัญหลังนโยบายนี้ออกมา กลับไม่มีพลังคัดค้านมากพอจากสังคมได้เลย แถมนโยบายนี้มันยัง Cross แทบทุกอย่าง แถมเป็นนโยบายที่ครอบคลุมไปถึง ตั้งแต่เอ็นจีโอเพื่อสุขภาพ คนในเมือง คนในชนบท หรือแม้แต่เด็กแว้น ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจกับการผลักดันนโยบายแบบนี้ของ ภท. มาก เพราะการผลักนโยบายที่ชวนให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์แบบนี้ อาจจะกลายเป็นโรลโมเดลในการผลักดันนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองในอนาคต ที่อาจจะต้องมีนโยบายที่มีลักษณะ Breakthrough แบบนี้ เพราะช่วยทำให้ภาพของพรรคที่ดูเชยดูล้าสมัยกลายเป็นพรรคการเมืองที่คนยอมเลือก แม้จะรู้ว่าเป็นพรรคของบ้านใหญ่ก็ตาม

เซอร์ไพร้ส์ที่เกิดขึ้นหลังเลือกตั้งปี 2562 ทั้งหมดนี้ ส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่คิดมาก่อนว่าจะได้เห็น แถมส่งผลกับสมการการเมืองในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุด และมีพลวัตมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งในมุมมองส่วนตัว เพราะทุก อย่าง คาดเดาไม่ได้เลยว่าวันพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น เป็นมุมมองที่ทาง ผศ.ดร.กนกรัตน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ระบุไว้ ซึ่งการเลือกตั้งปี 2562 นั้น ไม่เพียงแค่ สร้างเซอร์ไพร้ส์ เท่านั้น แต่ตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ยัง เกิดปรากฏการณ์ที่น่าศึกษาและทำความเข้าใจอย่างยิ่ง ส่วนจะมีปรากฏการณ์ใดที่น่าสนใจในมุมมองของนักวิชาการท่านนี้นั้น

ต้องติดตามกันต่อพรุ่งนี้.