ซึ่ง “พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต” ยอมรับว่า ทิศทางของการบูลลี่ในระยะหลังมีความก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น โดยในเด็กมีทั้งเป็นคนบูลลี่ และเป็นผู้ถูกบูลลี่
คนที่กระทำนั้นส่วนหนึ่งมีบาดแผลทางใจจากครอบครัว คนที่มีต้นทุนในครอบครัวที่เป็นจุดอ่อนอยู่แล้ว จึงเลือกแสดงออกด้วยการไปบูลลี่ผู้อื่นต่อไม่ว่าจะเป็นเรื่องสีผิว หน้าตา รูปร่าง การประสบความสำเร็จด้านต่าง ๆ ซึ่ง 2 ฝ่ายต่างน่าเห็นใจและต้องได้รับการช่วยเหลือ
คนสำคัญคือ ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน และเพื่อน โดยสร้างบรรยากาศ ค่านิยม ที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ทิศทางที่สร้างสรรค์ของตัวเอง เพิ่มความภาคภูมิใจของตัวเองอย่างถูกต้อง ทั้งนี้อย่าละเลยสัญญาณเตือนที่อาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายเพราะเห็นว่าเด็กร่าเริง เนื่องจากเด็กมีการแสดงออกทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ง่ายและรวดเร็ว ซึ่งจับสัญญาณเตือนเช่น การเรียนตก ปรับตัวกับเพื่อนไม่ได้ ตัดพ้อถึงความสัมพันธ์กับเพื่อน พฤติกรรมก้าวร้าว การแยกตัวไม่สุงสิงกับใคร การระเบิดอารมณ์เป็นระยะ ๆ ในครอบครัว เป็นต้น
“ถ้าปล่อยให้เด็กไหลไปธรรมชาติของการเป็นผู้บูลลี่ ก็จะเรียนรู้ที่จะแสวงหาความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น เห็นความเจ็บปวดของเพื่อนเป็นความภาคภูมิใจของตนเอง เพราะไม่สามารถหาความภูมิใจจากเรื่องอื่นได้ ส่วนเด็กที่ถูกบูลลี่ ก็เจ็บปวด มองไม่เห็นที่พึ่ง ก็จมลงไปเรื่อย ๆ”
ยุคนี้มีการเลียนแบบ ซึมซับการบูลลี่ง่ายมากและหลากหลายจากเดิมแค่ทางทีวีก็มีออนไลน์เข้ามาด้วย กว่าจะรู้ตัวก็บูลลี่คนอื่นไปแล้ว ซึ่งพบมากขึ้น รุนแรงกว่าสมัยก่อน เกิดขึ้นซํ้าแล้วซํ้าอีกบนโลกออนไลน์ ทำให้สภาพสังคมขณะนี้มีการบูลลี่หนักมาก ส่วนเส้นแบ่งการหยอกล้อกับการบูลลี่นั้น อยู่ที่ความพร้อมของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งจะรับรู้กันได้ว่ารัก หรือมีคุณค่า แต่หากฝ่ายหนึ่งไม่พร้อม หรือมีจุดอ่อน พฤติกรรมเดียวกัน แต่ต้นทุนจิตใจไม่เหมือนกันก็ออกมาเป็นการบูลลี่ ทั้งนี้ การบูลลี่นำมาซึ่งความรุนแรง ทั้งทำร้ายผู้อื่น และทำร้ายตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากลัวที่สุด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบางครั้งสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อวัยเด็ก ซึ่งเป็นวัยที่ไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น เด็กบางคนทำไปโดยไม่รู้ความ แต่ในยุคโซเชียลมีเดียมีการขุดคุ้ยมาทำลายกัน ถือเป็นการไล่ล่า บูลลี่อีกแบบหนึ่งที่อันตราย ดังนั้นทาง พญ.อัมพร แนะนำว่า เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองก่อน เพราะระบบออนไลน์สามารถขุดคุ้ยเรื่องราวในอดีตได้หมด ต้องเรียนรู้ เข้าใจตัวเองและเข้าใจคนอื่นให้เร็ว ๆ ถ้ารอจนเป็นแผลก็ยากจะจัดการ
“หัวใจสำคัญคือ เราต้องแข็งแรง ถ้าทำสิ่งไม่ดีในอดีต การขอโทษถึงความไม่รู้ และได้รับการยอมรับจากอีกฝ่าย ถ้าเขาจบ เราก็ต้องจบ หยุดตำหนิตัวเอง เพราะความไม่รู้ จะโทษว่าเป็นความผิดทั้งหมดไม่ได้ และต้องชื่นชมตัวเองว่าเราเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ดีขึ้นยิ่งทำดี ก็จะยิ่งทำให้เห็นว่า ตัวตนเล็ก ๆ ที่ยังไม่เข้าใจโลก เป็นตัวตนชั่วคราว ปัจจุบันนี้เป็นคนใหม่ที่แข็งแรง มีคุณค่า ใคร ๆ ก็ผ่านช่วงเวลาแย่ ๆ มาได้ แต่เราต้องภูมิใจที่เราเป็นคนที่ดีขึ้น”
ขณะเดียวกันสังคมโซเชียลก็ต้องมีคุณภาพ ไม่บูลลี่คนอื่นด้วยการใช้โซเชียล ซึ่งเป็นเหมือนการอยู่กลางตลาด ทำอะไรนึกถึงคุณค่าตนเองและคุณค่าทุกคน จะปลอดภัยกับตนเองและคนอื่น.