ซึ่ง รศ.ดร.อาภาวรรณ หนูคง ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ บอกว่า เด็กกลุ่มเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้อาจมีอาการเพิ่มขึ้น หรือมีอาการกำเริบเมื่อฝนตกและอากาศเย็น ในช่วงที่สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบนี้ เด็กเล็กควรได้รับการดูแลและเอาใจใส่อย่างถูกวิธี
ทั้งนี้ โรคหอบ หรือหอบหืด (asthma) เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุหลอดลม ร่วมกับภาวะผิดปกติของหลอดลมที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ มากกว่าปกติ เมื่อเด็กสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น กล้ามเนื้อบริเวณหลอดลมจะเกิดการหดเกร็ง ผนังหลอดลมบวมหนาขึ้นและสร้างสารคัดหลั่งหรือเสมหะมากขึ้น ทำให้หลอดลมตีบแคบลง ผู้ป่วยจึง หายใจลำบาก มีอาการเหนื่อยหอบ สมรรถภาพของปอดลดลง ในรายที่อาการรุนแรงมาก อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
โรคหอบหืด รักษาไม่หายขาดแต่สามารถควบคุมไม่ให้อาการกำเริบได้ การควบคุมแบ่งตามอาการของโรค 3 ระดับ ดังนี้ 1. กลุ่มที่ควบคุมโรคได้ 2. กลุ่มที่ควบคุมโรคได้บางส่วน ต้องใช้ยาขยายหลอดลมน้อยกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ และ 3. กลุ่มที่ควบคุมโรคไม่ได้ ต้องใช้ยาขยายหลอดลมมากกว่า 2 ครั้ง/สัปดาห์ ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
ซึ่งสาเหตุของโรคหอบหืดเกิดจากพันธุกรรมของโรคภูมิแพ้ ร่วมกับมีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการหอบ ได้แก่ ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม เช่น ไรฝุ่น มลพิษในอากาศ PM 2.5 ควันบุหรี่ ขนสัตว์ ละอองเกสรจากดอกไม้หรือพืชบางชนิด ตลอดจนการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น เป็นไข้หวัด ไซนัสอักเสบ
รศ.ดร.อาภาวรรณ ได้แนะนำวิธีดูแล ป้องกันอาการในเด็ก ที่สามารถทำได้จริง ได้แก่ 1. การสร้างเสริมสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย การบริหารปอด 2. หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น สวมหน้ากากเมื่อต้องออกนอกบ้าน ถ้าเป็นไปได้เมื่อเข้าไปในบริเวณที่มี PM 2.5 สูงควรใช้หน้ากาก N95
3 .หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้านในช่วงที่มี PM 2.5 สูง แต่หากเลี่ยงไม่ได้ เมื่อกลับเข้าบ้าน ควรอาบนํ้า สระผมทันที ในเด็กโรคภูมิแพ้ควรล้างจมูกร่วมด้วย 4. เด็กที่แพทย์ให้ใช้ยาสูดพ่นประเภทควบคุม ควรใช้ยาควบคุมอาการอย่างสมํ่าเสมอ 5. ในกรณีที่เด็กมีอาการจับหืด และแพทย์ให้ยาบรรเทาอาการหรือยาฉุกเฉินไว้ ควรเพิ่มการพ่นยาเมื่อมีอาการเพียงเล็กน้อย หากอาการไม่ดีขึ้นสามารถ
พ่นยาซํ้าและรีบไปโรงพยาบาล
“วิธีสังเกตว่าเริ่มมีอาการคือ อาการหายใจเร็วกว่าปกติ ในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี หายใจเร็วกว่า 50 ครั้ง/นาที เด็กอายุ 1-2 ปี หายใจเร็วกว่า 40 ครั้ง/นาที และเด็กอายุ 3-5 ปีหายใจเร็วกว่า 30 ครั้งต่อนาที หรือเด็กหายใจปีกจมูกบาน ไอถี่ ๆ หน้าอกบุ๋ม ได้ยินเสียงหวีดในเสียงหายใจเข้าหรือออก เด็กบอกว่าเหนื่อย หายใจลำบาก”.
อภิวรรณ เสาเวียง