ซึ่ง “พญ.วีณา ครุฑสวัสดิ์” สูตินรีแพทย์ ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ Excellent IVF Center รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง ระบุว่า นิยามของภาวะผู้มีบุตรยาก คือ คู่สมรสที่มีเพศสัมพันธ์กันปกติสมํ่าเสมอ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ จนนานถึง 1 ปี แล้วไม่ตั้งครรภ์ หรือเมื่อคู่สมรสลองมีบุตรด้วยวิธีธรรมชาติ ประมาณ 6 เดือน และไม่ประสบความสำเร็จ ก็ควรที่จะไปปรึกษาแพทย์ เพราะการมีบุตรยากมีหลายสาเหตุ การรักษาในแต่ละรายจึงแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีธรรมชาติคือ การนับวันไข่ตก ถ้าไม่สำเร็จก็จะเป็น การใช้ยา เพื่อชักนำให้มีไข่โตและมีการตกไข่ และถ้าไม่สำเร็จอีกก็จะเป็นการฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI)
หรืออีกวิธีหนึ่งคือการใช้ เทคโนโลยีทำเด็กหลอดแก้ว (In vitro fertilization : IVF ) คือการปฏิสนธินอกร่างกาย เข้ามาช่วย ซึ่งถ้าตัวอ่อนได้รับการตรวจโครโมโซมแล้วคุณภาพดี อัตราความสำเร็จจะมีอยู่ถึง 70-80% โดยการปฏิสนธินอกร่างกาย มี 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ 1.การทำ IVF เป็นการเก็บไข่ที่สุกเต็มที่แล้วออกมานอกร่างกายฝ่ายหญิง และคัดอสุจิที่แข็งแรงของฝ่ายชายจำนวนหนึ่งให้เกิดการปฏิสนธิกับไข่ของฝ่ายหญิงในหลอดทดลอง
2.การทำ ICSI (อิ๊กซี่) เป็นการคัดเอาตัวอสุจิที่มีความแข็งแรงที่สุด ผ่านด้วยวิธีการส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์และฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้มีเทคโนโลยี Piezo-ICSI ที่ช่วยลดความเสียหายของเซลล์ไข่ระหว่างการฉีดอสุจิเข้าไป โดยใช้แรงสั่นสะเทือนที่เหมาะสมในการเจาะไข่ แทนการใช้เข็มปลายแหลมแบบอิ๊กซี่ทั่วไป วิธีนี้เหมาะสำหรับคนไข้ที่มีเปลือกไข่เปราะบาง ช่วยเพิ่มอัตราการปฏิสนธิ เมื่อไข่และอสุจิปฏิสนธิเรียบร้อยแล้ว จึงพัฒนาเป็นตัวอ่อน และเลี้ยงในตู้เลี้ยงตัวอ่อน Embryoscope Time-lapse System ที่มีระบบการถ่ายภาพไว้ภายใต้สภาวะที่เหมาะสม และใช้ในการคัดเลือกตัวอ่อนที่จะใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้มีการตั้งครรภ์ต่อไป
พญ.วีณา บอกว่า คนที่เตรียมทำเด็กหลอดแก้วต้องมีการตรวจสุขภาพให้พร้อม โดยต้องงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย ปรับสภาพจิตใจให้สบาย และอาจจะต้องรับประทานวิตามิน ยาบำรุงตามคำแนะนำของแพทย์
จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนในการทำเด็กหลอดแก้วซึ่งมีอยู่ 2 ส่วน ขั้นตอนแรกคือการกระตุ้นไข่ของฝ่ายหญิงจะใช้เวลา 9-12 วัน หลังจากนั้นจะทำการเก็บไข่ นำไปปฏิสนธิกับอสุจิที่ภายนอก ด้วยวิธี Piezo-ICSI และเลี้ยงตัวอ่อนประมาณ 5-6 วัน แล้วจึงนำตัวอ่อนไปแช่แข็งไว้ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง คือขั้นตอนการย้ายตัวอ่อนเข้าสู่โพรงมดลูก โดยจะมีการเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูก ใช้เวลาประมาณ 19-20 วัน แล้วจึงทำการย้ายตัวอ่อนเข้าไปใส่ในโพรงมดลูกเพื่อให้มีการตั้งครรภ์ต่อไป หลังจากย้ายตัวอ่อนแล้ว 10 วัน จึงจะสามารถตรวจผลการตั้งครรภ์ได้ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน
นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปหรือครอบครัวที่มีโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม ควรตรวจโครโมโซมหรือตรวจพันธุกรรมตัวอ่อนก่อนฝังตัวเข้าไปยังโพรงมดลูก จะทำให้ทราบถึงความผิดปกติของตัวอ่อนก่อนการฝังตัว เพื่อลดความเสี่ยงการตั้งครรภ์ทารกที่เป็นดาวน์ซินโดรม เสี่ยงต่อภาวะแท้ง และโรคทางพันธุกรรม ทำให้มีโอกาสในการตั้งครรภ์สูงขึ้น 70-80% และความสำเร็จจะมีอยู่ถึง 70-80% อย่างไรก็ตามแพทย์ได้ให้คำแนะนำสำหรับคู่สมรสที่ต้องการจะมีบุตรหรือคู่สมรสที่เผชิญกับภาวะผู้มีบุตรยาก เมื่อทราบปัญหาควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์โดยทันทีเพื่อให้ผลการรักษาประสบความสำเร็จสูงขึ้น.
อภิวรรณ เสาเวียง