หนึ่งเวทีที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้คือการอภิปรายหัวข้อ “เลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย หยุดให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ” จัดโดย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และสภาที่ 3 ซึ่งมีผู้ร่วมอภิปรายสะท้อนมุมมองน่าสนใจหลายคน ประกอบด้วย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
ขณะนี้ในแวดวงวิชาการโดยเฉพาะคณาจารย์นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ หรือกระทั่งคณะอื่นได้อภิปรายอย่างตรงไปตรงมาว่า การที่ให้ ส.ว. สามารถเลือกนายกฯ ได้นั้นมันใช่หรือไม่ อย่าลืมว่าการรัฐประหาร ในปี 2557 ต่างประเทศมองเป็นการรัฐประหารที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งทฤษฎีนี้ได้ถูกล้มล้างไปเนื่องจากประเทศไทยอยู่ในระบอบรัฐประหารมากว่า 9 ปี
ด้าน ผศ.ดร.ปริญญา ชี้หากย้อนกลับไปที่ประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการเลือกนายกฯ คำถามนี้คิดว่ามีความไม่ตรงไปตรงมา เพราะเป็นการเอื้ออำนวยต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเรื่องที่ ส.ว.เลือกนายกฯ นั้นก็ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย เจตนาเรื่องนี้คือการเอื้อผลประโยชน์ต่อฝั่งรัฐบาล โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เคยเสนอเรื่องที่ให้ ส.ว. สามารถเลือกนายกฯ ได้ตั้งแต่ปี 2534 แต่ไม่สำเร็จ มาสำเร็จในปี 2560 โดยครั้งนี้ทำสำเร็จจากการแอบซ่อนคำถามพ่วงในการทำประชามติ ซึ่งเป็นการอำพรางหลอกลวงประชาชน
โดย ผศ.ดร.วันวิชิต มองว่า ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ไปจนถึงการเรียกร้องทางการเมืองต่าง ๆ ประชาชนต้องการวิธีการต่อสู้อย่างตรงไปตรงมานั่นคือการเลือกตั้ง แต่ผู้มีอำนาจต่างออกแบบการเลือกตั้งเพื่อนำไปสู่ “ความได้เปรียบ” ของตนเอง ยกตัวอย่าง กรณี ส.ว. มักไม่แยแสสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง
ทั้งนี้ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่ในฐานะนายกฯ แต่ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร หลังสัญญาว่าขอเวลาไม่นานเพื่อปฏิรูป แต่ขนาดนี้แล้วขอถามว่าการปฏิรูปนั้นไปถึงไหน การที่ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกฯ นี่เองเป็นข้อผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น ควรประกาศถอนตัวจะลงชิงตำแหน่งนายกฯ โดยไม่อาศัยเสียง ส.ว. ไม่เช่นนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะมีโอกาสดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ด้วยปาฏิหาริย์ทางกฎหมาย ด้วยองคาพยพของ คสช.
ขณะที่ รศ.ดร.พิชาย เผยว่า เพิ่งทราบว่า ส.ว. มีคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงประหลาดใจว่า ส.ว. มีกรรมาธิการชุดนี้และมีข้อเสนอให้รัฐจ่ายประชาชนคนละ 500 บาท เพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่ขายเสียงและรู้คุณแผ่นดิน ซึ่งแสดงถึงวิธีคิดของ ส.ว. ที่คิดว่านักการเมืองเป็นต้นตอของปัญหา ขณะที่ประชาชนคิดว่ารัฐประหารและ ส.ว. เป็นต้นตอของปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบัน
ส่วน นายเมธา ชี้ 5 เรื่องที่ประชาชนต้องจับตา สิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลจะได้ประโยชน์และเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.กฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมืองยังติดลมอำนาจนิยม และยังไม่ได้รับการแก้ไข สืบเนื่องไปถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดยังเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายรัฐบาล
2.อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่เป็นหัวใจหลักของรัฐบาล คสช. เพื่อสืบทอดอำนาจต่อ ซึ่งภาคประชาชนต้องเคลื่อนไหวคัดค้านต่อไป 3.พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ แต่มาเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้งที่เป็นแคนดิเดตจากพรรคพลังประชารัฐ ตลอดจนมีการแต่งตั้งสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติเข้ามาดำรงตำแหน่งในสำนักนายกรัฐมนตรี
4.ขอให้ร่วมจับตางบประมาณของรัฐบาลที่จะเทลงสนามการเลือกตั้ง และ 5.การลงแคนดิเดตนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นละครตบตาประชาชนหรือไม่ เพราะมีความพยายามทำให้ทางเลือกของการเมืองไทยมีแค่ 2 ป. เท่านั้น แต่ทั้ง 2 ป. ไม่ใช่ทางเลือกของประชาชน เพราะ ส.ว. จะเลือกใครก็ได้ทั้ง 2 คน จึงได้ประโยชน์เท่ากัน ระบอบ 3 ป. ก็สืบทอดอำนาจต่อไป โดยประชาชนต้องมีทางเลือกที่ 3 เพื่อไม่ให้ทั้ง 3 ป.ได้ไปต่อ และประชาธิปไตยเดินหน้า
“สุดท้ายนี้อยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม กกต.ควรดำเนินไปอย่างโปร่งใส เปิดให้ภาคประชาชนและนานาชาติร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งด้วย” นายเมธา กล่าวทิ้งท้าย.